นายกฯ สมาคม บลจ. ระบุ ถึงเวลาทบทวนรายงานข้อมูล ESG แบบ Self Report หลังพบ Pain Point คือผู้ลงทุนสถาบันยังต้องการบุคคลที่สาม (Third Party) มาช่วย Verified ข้อมูล
ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมตลาดทุนโดยเรื่อง ESG ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่สิ่งแวดล้อม สังคม หรือการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี แต่มันเกี่ยวข้องกับทุกบริษัทของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ต้องมีคุณภาพด้วย โดยเฉพาะการทบทวนการใช้เครื่องมือในการรายงานข้อมูลความยั่งยืนที่ปัจจุบันเป็นสิ่งที่ บจ. เป็นคนนำเสนอข้อมูลรายงานเอง (Self Report) ใน One Report พร้อมกับช่วยกลั่นกรองหาเครื่องมือในการรายงานเรื่อง ESG ให้มีประสิทธิภาพที่ชัดเจนมากขึ้น
“ข้อมูลใน One Report ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด เพราะ บจ. เป็นผู้นำเสนอข้อมูลของตัวเอง (Self Report) แต่สิ่งที่เขารายงานแล้ว เราในฐานะผู้จัดการกองทุนต้องเชื่อหรือแน่ใจในข้อมูลนั้นจริงๆ ใช่หรือไม่ หรือต้องหาสิ่งที่ขาดหายไป คือการหาอีกคนมาเพื่อไม่เชื่อในสิ่งที่เขารายงานมาก่อน เช่น ต้องมีบุคคลที่สาม (Third Party) มาช่วยดูข้อมูลเหล่านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ก.ล.ต. ยืนยัน การลงทุนของกองทุนรวม Thai ESG ยังเป็นไปตามเกณฑ์
- ตลาดหลักทรัพย์ฯ ถอด บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ออกจาก SET ESG Ratings
จากนี้ไปคนในอุตสาหกรรมต้องทำงานมากขึ้น เพราะการทำงานยังมีข้อสงสัยในกรณีที่ต้องมาดูสิ่งที่ บจ. เขา Verified ดูถึงเงาของเขาด้วยหรือเปล่า เพราะวันนี้เรากำลังทำงานบนข้อมูลของคนที่ Verified ให้แล้ว จากนี้ต้องมาดูกันอย่างจริงจังว่าสิ่งที่ผ่านการตรวจสอบมาแล้วมีจุดอ่อนตรงไหน หรืออะไรคือจุดอ่อน แต่นั่นกลายเป็นว่าเราต้องมาเป็นคนมาตรวจดู (Audit) ที่มีการ Verified ของแต่ละบริษัทด้วยอีกหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่ต้องมาคุยกันในอุตสาหกรรมตลาดทุน และเข้าใจว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องทำหน้าที่รับบทหนักขึ้นในการดูแลสิ่งเหล่านี้”
ชวินดากล่าวเพิ่มเติมว่า จากนี้ไปคงต้องนำเสนอประเด็นนี้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ ว่าจะเห็นด้วยกับเราหรือไม่ เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้เรื่อง Governance เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ แบบละเลยไม่ได้ และจะต้องมีการดำเนินอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้คนในอุตสาหกรรมหรือนักลงทุนมั่นใจได้ว่าสิ่งที่เป็นการขอความร่วมมือจาก บจ. นั้นไม่ได้มีการบิดเบือนข้อมูล