เพราะระบบทุนนิยม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนการพยายามเข้าถึงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มากที่สุด โลกธุรกิจจึงแข่งขันกันอย่างดุเดือด และพร้อมใช้ช่องว่างทางกฎระเบียบต่างๆ สร้างความได้เปรียบให้กับองค์กรตนให้มากที่สุด ทำให้เรื่องการกำกับหรือการเป็นบรรษัทภิบาล (Governance) ในการดำเนินธุรกิจต้องเข้มข้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้หลายฝ่ายพยายามตั้งรับก่อนเกิดปัญหาความโปร่งใสอย่างมากแล้ว ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่า บริษัทนั้นมีมาตรฐานการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดีเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดเรื่องค่อนข้างอื้อฉาวในตลาดทุนไทย ที่จุดประเด็นสงสัยในเรื่องความน่าเชื่อถือ ด้านการกำกับดูแลด้านบรรษัทภิบาล
กรอบดำเนินงานมีแล้ว แต่การปฏิบัติควรเข้มข้นขึ้น
หลายปีที่ผ่านมาหน่วยงานในตลาดทุนพยายามส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหุ้นกำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการ (CG Policy: Corporate Governance Policy) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กร ดังนั้น CG Policy จึงเปรียบเสมือนธรรมนูญของบริษัท ที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ต้องประกาศให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องทราบ และตั้งแต่ปี 2544 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เริ่มสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (CGR) เพื่อติดตามและวัดผลการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจจุบัน
อีกทั้งปี 2560 ก.ล.ต. ได้ออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับ บจ. (CG Code) เพื่อเป็นหลักให้คณะกรรมการบริษัทนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลกิจการอย่างยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่หลายบริษัทปฏิบัติเพื่อเป็นบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ด้วยการปฏิบัติเพื่อเป็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ที่ในช่วงหลังอาจกลายเป็นเครื่องมือออกไปทางประชาสัมพันธ์เรื่องปลูกป่าหรือบริจาคของ แต่ทุกอย่างก็เริ่มพัฒนามากขึ้น เมื่อเทรนด์และมุมมองภาพใหญ่เรื่องความยั่งยืนเข้ามา (Sustainability) จนมาถึงการที่ทุกบริษัทต่างเริ่มทยอยให้ความสำคัญครอบคลุมทั้งเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม และบรรษัทภิบาล (ESG)
ขณะที่บรรษัทภิบาลที่ ตลท. ระบุพื้นฐานการกำกับดูแลกิจการที่บริษัทพึงมีอยู่ 5 ข้อคือ
- ความซื่อสัตย์ (Integrity) ที่ต้องบริหารจัดการด้วยความซื่อสัตย์สุจริตน่าเชื่อถือ และยึดมั่นในความถูกต้อง
- ความยุติธรรม (Fairness) ที่ต้องมีการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียขององค์กรอย่างเป็นธรรม
- ความโปร่งใส (Transparency) ที่ต้องดำเนินการโดยเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสามารถตรวจสอบได้
- ความรับผิดชอบ (Responsibility) โดยต้องปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบด้วยสติปัญญาและความสามารถอย่างเต็มกำลัง มุ่งมั่นให้งานสำเร็จและพัฒนางานให้ดีขึ้น
- ภาระรับผิดชอบ (Accountability) ที่ต้องมีความรับผิดและรับชอบในผลของการกระทำที่เกิดขึ้น การสั่งการ การมอบหมาย และการตัดสินใจ ตามบทบาทหน้าที่ และต้องสามารถชี้แจงและอธิบายการตัดสินใจนั้นได้
ทุกอย่างมีช่องว่าง แต่ก็ถึงเวลาต้องเรียกความเชื่อมั่น
หลายกรณีที่เกิดขึ้น เรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีของ บจ. ในช่วง 1-2 ปีนี้ล้วนทำให้เกิดคำถามและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อ บจ. ของผู้บริหารและหน่วยงานที่กำกับดูแลว่า ถึงเวลาที่ต้องทบทวนเครื่องมือและเกณฑ์ในการคัดเลือกบริษัทที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีความครบเครื่องเรื่อง ESG และได้รับการคัดเลือกว่าเป็นบริษัทที่คำนึง ESG อย่างครอบคลุม หรือเป็นหุ้นที่มีความโดดเด่นทางด้านนี้ และผู้จัดการกองทุนนำไปจัดลำดับทำการบ้านเพื่อเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่จะมาเป็นหนึ่งในตะกร้าคัดเลือกการลงทุน
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ บจ. เรื่องการมีบรรษัทภิบาล ชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) มองว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นได้ในทุกมุมโลกของการลงทุน แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นมากกว่า แม้ทุกฝ่ายพยายามช่วยกันกลั่นกรองแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ บจ. ขนาดใหญ่ และได้รับรองว่าเป็นบริษัทที่มี ESG ครอบคลุม ตอนนี้ทำให้อุตสาหกรรมตลาดทุนต้องกลับมาทบทวนวิธีการและการใช้เครื่องมือต่างๆ มากขึ้น ในการบ่งบอกว่าบริษัทนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่บริษัทให้ข้อมูลออกมาเพียงฝ่ายเดียวหรือไม่อย่างไร เนื่องจากปัจจุบัน บจ. เป็นผู้นำเสนอข้อมูลของตัวเอง (Self-report) แต่สิ่งที่รายงานในฐานะผู้จัดการกองทุนต้องเชื่อหรือแน่ใจในข้อมูลนั้นจริงๆ ใช่หรือไม่ หรือต้องหาสิ่งที่ขาดหายไป คือการหาอีกคนมาเพื่อไม่เชื่อในสิ่งที่เขารายงานมาก่อน เช่น ต้องมีบุคคลที่สาม (Third Party) มาช่วยดูข้อมูลเหล่านี้
“แม้จะมีบาง บจ. ที่ใช้ช่องว่างดังกล่าว แต่ท้ายสุดการดำเนินที่ต้องพยายามให้ทุก บจ. หรือทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันให้ บจ. หรืออุตสาหกรรมมีการคำนึงเรื่อง Governance อย่างจริงจัง ก็เป็นสิ่งที่ดีกว่าไม่มีหรือไม่พยายามทำให้มันเกิดขึ้น เพียงแต่ถึงเวลาแล้วที่ต้องมาช่วยกันกลั่นกรองเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ทั้งนี้ ยังมองว่ากองทุนก็ยังเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ลงทุนเสมอ เพราะสิ่งที่ผู้จัดการกองทุนหรือกองทุนต่างๆ ต้องทำคือ บริหารจัดการกระจายการลงทุนโดยไม่ได้ให้น้ำหนักกับการลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งจนเกินไป และ ก.ล.ต. ก็รายงานว่ากรณีหุ้นที่เกิดขึ้นแบบนี้มีจำนวนน้อย ตอนนี้ก็ยังเชื่อว่าการลงทุนในกองทุน ESG ยังสามารถตอบโจทย์สำหรับนักลงทุนที่ไม่มีเวลา หรือนักลงทุนที่ไม่ต้องการให้เกิดความเสี่ยงมาก การลงทุนไม่แย่ถึงขนาดที่มลายหายไป
นักลงทุนเริ่มถอนการลงทุนจากกองทุน ESG ที่ต่างประเทศ
จากรายงานของ Barclays มีเงินทุนไหลออกจากกองทุนรวมตราสารทุน ESG (ESG Equity Funds) กว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้วในปีนี้ ทำให้ปี 2567 เป็นปีแรกที่กระแสเงินลงทุนด้านการเติบโตอย่างยั่งยืนติดลบ โดยประเมินว่าเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก
- หุ้น ESG ได้ผลตอบแทนไม่ค่อยดีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันพุ่งขึ้นสูงกว่าพลังงานสะอาด และธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้มีกำไรของบริษัทเทคโนโลยีได้รับผลกระทบหนัก เพราะเป็นบริษัทที่กองทุนตราสารทุน ESG มักจะไปลงทุนกัน โดยในปีที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนของกองทุนตราสารทุน ESG ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 11% ซึ่งน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนของกองทุนตราสารทุนทั่วไปที่ 21% ตามรายงานของ JPMorgan
- มีข่าวเสียหายเพิ่มมากขึ้นในอุตสาหกรรมสีเขียว ปีที่ผ่านมามีบริษัทหลายแห่งที่ถูกจับได้ว่าให้ข้อมูลเท็จ ว่าธุรกิจคำนึงถึงความยั่งยืนมากกว่าที่เป็นจริง เช่น Volkswagen, Toyota, Goldman Sachs, H&M, Decathlon และ DWS
- ความยั่งยืนถูกมองเป็นเครื่องมือทางการเมืองในหลายประเทศ เช่น พรรครีพับลิกัน สหรัฐฯ มอง ESG เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรงเพื่อสนับสนุนนโยบายเสรีนิยม ขณะที่การเลือกตั้งสภาในยุโรปมีคนสนับสนุนพรรคประชานิยมและพรรคชาตินิยมมากขึ้น ทำให้เป้าหมายการสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลัวการลงทุนในอุตสาหกรรมยั่งยืนอย่างเปิดเผย เนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจถูกมองว่าเป็นความเอนเอียงทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสีเขียวยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปได้ เพราะยังมีนักลงทุนที่ยังคงเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมความยั่งยืนผ่านทางช่องทางอื่นๆ เพราะจากรายงานของ Barclays ใน 12 เดือนจนถึงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กองทุนตราสารหนี้ ESG (ESG Bond Funds) มีเงินทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การเติบโตอย่างยั่งยืนยังคงเป็นเป้าหมายที่จำเป็นในสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น หลายประเทศทั่วโลกจะยังต้องลงทุนในอุตสาหกรรมด้านนี้ ไม่ว่าจะเรียกมันว่า ESG ต่อไปหรือไม่ก็ตาม
ลงทุนตราสารทุนด้าน ESG ต้องใช้เวลาระยะยาว
จากข้อมูลของ Morningstar ประเทศไทย ระบุว่า กองทุนรวมยั่งยืนในประเทศไทย ในไตรมาส 1/67 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 1 ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นกองทุนที่ลงทุนในไทยทั้งสิ้น 54 กอง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 9,000 ล้านบาท และลงทุนในต่างประเทศอีก 94 กอง มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4.8 หมื่นล้านบาท
โดยกองทุนกลุ่ม Global Equity ยังคงเป็นกลุ่มกองทุนยั่งยืนขนาดใหญ่ที่สุด ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 5.4% ด้วยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนแบบ ESG ทั่วไป โดยมีกองทุน United Equity Sustainable Global ให้ผลตอบแทนสูงสุดไตรมาส 1 ที่ 11% อันดับ 2 คือ Bualuang Sustainable Investing Port RMF ที่ 9.6% แต่ถ้าเป็นกลุ่ม Alternative Energy Equity มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 7,700 .ล้านบาท ซึ่งเป็นธีมการลงทุนด้าน ESG ที่เน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -7.8%
สำหรับกองทุนยั่งยืนที่สร้างผลตอบแทนอย่างโดดเด่นในไตรมาส 1 ได้แก่ กองทุนหุ้นญี่ปุ่น abrdn Japanese Sustainable Equity ที่ให้ผลตอบแทน 17.24 % และกองทุนหุ้นยุโรป abrdn European Sustainable Equity ให้ผลตอบแทน 14.37%
ขณะที่กองทุน TESG ซึ่งเป็นกองทุนประหยัดภาษีรูปแบบใหม่ที่เน้นการลงทุนในหุ้นยั่งยืน โดยมีการออกกองทุน TESG แล้วทั้งสิ้น 30 กอง ณ ไตรมาส 1 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 6,600 ล้านบาท มีผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ -2.43% ซึ่งมีเพียง 3 กองทุนเท่านั้นที่สามารถเอาชนะ SET TR index ได้ คือ Bualuang Top-Ten Thailand ESG ที่ให้ผลตอบแทน 1.54% ซึ่งเป็นกองทุนหุ้นไทยกองเดียวที่ยังสามารถให้ผลตอบแทนในแดนบวกอยู่ ตามด้วย Krungthai ESG A Grade 70/30-ThaiESG ผลตอบแทน -1.30% และ Asset Plus Equity Thailand ESG ผลตอบแทน -1.48%
ชวินดามองว่า เป็นเรื่องธรรมชาติที่นักลงทุนต้องลดความเสี่ยงไถ่ถอนหุ้นหรือกองทุนเพื่อปรับพอร์ตลดสัดส่วนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ปีนี้หุ้นในแต่ละภูมิภาคต่างฟื้นตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ย่อมมีนักลงทุนลดสัดส่วนสินทรัพย์หนึ่งเพื่อไปยังผลผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่นเดียวกันเมื่อเห็นโอกาสสินทรัพย์มีโอกาสได้รับผลตอบรับที่ดีก็จะกลับเข้ามาใหม่ ซึ่งสำหรับการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนที่เกี่ยวกับ ESG เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และเหมาะสำหรับเป็นการลงทุนในระยะยาวเป็นหลัก ขณะที่ผลการดำเนินงานของกองทุนหุ้นยั่งยืนของกรุงไทยก็ออกมาติดลบนิดหน่อย แต่ถือว่าเป็นไปตามอุตสาหกรรม
‘ถ้วยรางวัล’ ไม่ได้เป็นตัวการันตีเสมอไป
จากบทความของ ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ขจรพงศ์ ประศาสตรานุวัตร นักวิจัยทีมการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แนะนำว่า ผู้รับรู้และผู้ใช้ข้อมูลเรตติ้ง ESG หรือรางวัลด้าน ESG ต่างๆ ขององค์กร ต้องดูรายละเอียดของเกณฑ์การประเมินความน่าเชื่อถือของสถาบันที่ประเมินมากขึ้น กว่าการมองเพียงแค่ผลการประเมินที่ออกมาเป็นตัวเลขหรือตัวอักษร หรือรางวัลหนึ่งๆ เท่านั้น รวมไปถึงการหาข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่ามีการพิจารณาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อช่วยกันผลักดันให้การประเมินและการให้เรตติ้ง รางวัล มีความน่าเชื่อถือ มิเช่นนั้นแล้วการประเมินและให้เรตติ้ง รางวัล ESG จะกลับกลายเป็นการประเมินเพียงผิวเผินไม่ยั่งยืนเสียเอง
จากกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนของ บจ. ในดัชนี SET100 ตั้งแต่ปี 2558-2564 พบว่า มีแนวโน้มการเปิดเผยข้อมูล ESG มากขึ้น เพราะเรื่องความยั่งยืนจะถูกรวมในเกณฑ์การตัดสินใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรอย่างนักลงทุน และเป็นเงื่อนไขในการให้สินเชื่อ ไปจนถึงการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรและสังคม อีกทั้งยังถูกใช้ในการประเมินให้เรตติ้งและรางวัลจากสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ จนสิ่งนี้ได้กลายเป็นสิ่งบ่งชี้ความสำเร็จผ่านการประชาสัมพันธ์ภายนอก และเป็นเครื่องมือใช้สื่อสารภายในองค์กรเพื่อให้เกิดเป้าหมายร่วมด้านความยั่งยืนมากขึ้น
ทั้งนี้ จากเรตติ้งและรางวัลด้านความยั่งยืนที่ได้รับถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่า ผลการประเมินที่ดี มีความสอดคล้องมากน้อยเพียงใดกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรอย่างแท้จริง ไปจนถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณภาพและแหล่งที่มาของข้อมูล หากผลการประเมินสอดคล้องกับการดำเนินการ ก็ย่อมจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับทั้งองค์กรและเกณฑ์การประเมินนั้นด้วย
อย่างรางวัลบริษัทที่มีจริยธรรมมากที่สุดในโลกโดย Ethisphere ซึ่งปีนี้มีองค์กร 136 แห่งจาก 20 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับรางวัล ก็ยังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการประเมินผลในหลายประเด็น เช่น กรณีที่ Elbit Systems of America ได้รับรางวัลข้างต้นถึง 6 ครั้ง ทั้งที่อยู่ในเครือของ Elbit Systems จากประเทศอิสราเอล ที่ส่งมอบอาวุธเพื่อใช้ทำสงคราม อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 3,500-4,500 ดอลลาร์สหรัฐให้ Ethisphere เพื่อเข้าร่วมประเมินรับรางวัล ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของสถาบันที่ประเมิน
อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปการประเมินและรางวัลความยั่งยืนขององค์กรจากสถาบันต่างๆ อาจมีความแตกต่างในแง่วัตถุประสงค์ เช่น การประเมินเพื่อคัดเลือกบริษัทเข้าในดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) การประเมิน THSI สำหรับหุ้นไทยเพื่อให้ได้ ESG Ratings หรือการประเมินโดย EcoVadis เกี่ยวกับความยั่งยืนในห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร หรือรางวัล SET Sustainability Awards ที่คัดเลือกบริษัทที่ได้ ESG Ratings ตามเกณฑ์มาพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตัดสินให้รางวัล รวมทั้งรางวัล SEAL Business Sustainability Awards ที่มีการให้รางวัลในด้านนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือด้านผลิตภัณฑ์ และบริการที่ยั่งยืน เป็นต้น
ที่สำคัญแต่ละสถาบันต่างมีวิธีการประเมินที่แตกต่างกัน โดยบางระบบอาจใช้ข้อมูลที่องค์กรเป็นผู้เปิดเผย (Self-report) ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลที่เป็นผลกระทบเชิงลบไม่ถูกผนวกไปกับการประเมิน หรือรางวัลบางระบบยังขาดการแจกแจงวิธีการประเมินอย่างชัดเจน หรือสาธารณชนไม่สามารถเข้าถึงเกณฑ์การประเมินอย่างละเอียด ทำให้การตีความผลการประเมินที่ออกมาเป็นตัวเลข หรือค่าการประเมินหนึ่งค่าไม่ได้ถูกมองในรายละเอียดว่า ESG ประเด็นด้านใดที่องค์กรดำเนินการได้ดี และประเด็นใดที่ยังต้องปรับปรุง
เมื่อเรื่องนามธรรมที่จะทำให้เป็นที่เข้าใจ และเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นในยุคที่โลกแข่งขันกันรุนแรง อาจเป็นเรื่องที่เข้าถึงยาก แต่ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ควรให้เกิดขึ้นมากกว่าไม่มี หรือต้องไม่ยอมถอยกับผู้ที่พร้อมจะเอาเปรียบผู้อื่นเพื่อตัวเอง อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าโลกนี้ยังมีอะไรที่น่าลงทุนแบบคำนึงถึงทุกฝ่าย หรือไม่ก็ทำให้รู้ว่าโลกนี้ยังพอน่าอยู่อยู่บ้าง
อ้างอิง:
- https://setsustainability.com/page/corporate-governance
- https://www.sec.or.th/cgthailand/TH/pages/cgcode/cgcodeintroduction.aspx
- https://tdri.or.th/2024/04/evaluate-quality-measure-sustainability/?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR31qBBzjW3xOJRBDZE9tatnQFxe4ZFFClVT3CPPl3_Ea9cznwk_AK-8yec_aem_aZPlpeXS84gHo-soRCP2eQ
- https://thai-iod.com/cover-page/cover.asp
- https://www.thaiiod.com/esg-resources-detail/460?type=sub_detail_page
- https://www.morningstarthailand.com/th/news/247976/กองทุนรวมยั่งยืนของไทยไตรมาส-1.aspx
- https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=505732115120445&id=100070509833688&mibextid=oFDknk&rdid=gXtpbksa5g5RD72T