×

‘หนี-ซ่อน-สู้’ และเทคนิคเอาตัวรอด รับมือสถานการณ์ร้าย

12.02.2020
  • LOADING...

จากเหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวม 30 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 58 ราย ได้สร้างความสะเทือนขวัญให้กับคนไทยทั้งประเทศเป็นอย่างมาก 

 

โดยเมื่อวานนี้ (11 กุมภาพันธ์) ในงานเสวนาเรื่อง Escape and Survive in Mass Shooting จัดขึ้นโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการทำความเข้าใจปัญหาของเหตุกราดยิง โดยยกตัวอย่างเหตุที่เกิดในสหรัฐอเมริกา ไปจนถึงการเยียวยาจิตใจผู้ประสบเหตุผ่านเทคนิคการบำบัดตามขั้นตอนต่างๆ 

 

 

 

รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้หยิบยกอุบัติการณ์และสถิติการกราดยิงในสหรัฐอเมริกา มาอธิบายว่า “ตัวเลขที่เห็นอยู่เป็นตัวเลขเหตุกราดยิงของสหรัฐอเมริกาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ถ้าหากสังเกตตรงปี พ.ศ. จะพบว่า ตัวเลขที่เป็นตัวท็อปเกิดขึ้นภายใน 10 ปีนี้ทั้งนั้น เราเห็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแบบนี้ในทุกๆ ปี เรารู้แน่ๆ ว่าสักวันต้องมาถึงเมืองไทย เพียงแต่เราไม่ได้คิดว่าจะมาถึงเร็วขนาดนั้น อีกทั้งเรายังไม่ทันนึกมาก่อน เลยทำให้สังคมเวลานี้เกิดความตระหนกและตกใจเป็นอย่างมาก”

 

เตรียมพร้อมทุกสถานการณ์

รศ.นพ.รัฐพลี ย้ำว่า สิ่งที่เป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดคือ ความจำเป็นที่ต้องรู้จักเบอร์อย่าง ‘191 และ 1669’ และเบอร์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์นั้นๆ นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชันช่วยเตือนภัยอย่าง จส.100 ที่ช่วยแจ้งเตือนสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถานที่ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังต้องมีเบอร์โทรศัพท์คนใกล้ตัว ไลน์กรุ๊ป ที่คิดว่าจะติดต่อคนที่ไว้ใจได้ในทันทีที่ตัวเองเกิดประสบเหตุฉุกเฉิน

 

ประเด็นต่อมา คือสิ่งที่ดีมากและจำเป็นกับสถานการณ์คับขันมากๆ หากตัวเราพอจะทำได้คือ การรู้จักคอร์สการปฐมพยาบาล อย่างการห้ามเลือดเบื้องต้น เพราะถ้ามีผู้บาดเจ็บอยู่ใกล้ตัว จะทำให้เราสามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

 

นอกจากนี้ ก่อนออกจากบ้านควรชาร์จแบตฯ โทรศัพท์ให้เต็ม และพกแบตฯ สำรองอย่างพาวเวอร์แบงก์ติดตัวไว้ บอกที่ไปที่มาและเวลากลับให้คนที่บ้านหรือเพื่อนสนิทได้รับรู้ และหากไปเที่ยวเป็นครอบครัว กลุ่มใหญ่ มีผู้สูงอายุและเด็ก ควรนัดแนะจุดนัดพบให้ชัดเจน กันพลัดหลงกันเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ

 

 

‘ตื่นตัวเสมอ อย่ามัวแต่ก้มหน้าดูมือถือ’ คำแนะนำสำหรับบุตรหลาน

“ในยุคนี้สิ่งที่ผู้เป็นพ่อและแม่ควรฝึกฝนลูกหลานเพิ่มเติมคือ ฝึกสอนให้มีการตื่นตัวต่อเหตุการณ์ร้ายเสมอ พยายามอย่าให้พวกเขาเสียบหูฟังตลอด ทำให้พวกเขาฟังเสียงรอบข้างบ้าง เงยหน้าจากโทรศัพท์บ้าง เชื่อว่าสิ่งที่อยู่รอบตัวเราเต็มไปด้วยสิ่งสวยงาม และแฝงไปด้วยอันตรายที่เยอะอยู่เช่นเดียวกัน เพราะถ้ามัวแต่ก้มหน้า เหยื่อคนแรกอาจจะเป็นลูกหลานเราก็ได้

 

“สอนให้รู้จักสังเกตช่องทางหนีภัยตามพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า สอนให้รู้จักวิธีการแอบซ่อน และฝึกให้เงียบไม่ส่งเสียงดัง มีน้ำ-ขนม-นม ติดตัวไว้หน่อยจะดีมาก เพราะเราไม่รู้ว่าจะติดอยู่ในสถานการณ์ไหน มีสิ่งเหล่านี้ติดไว้ดีกว่าไม่มีอะไรเลย และที่สำคัญต้องให้ลูกฝึกท่องเบอร์มือถือพ่อแม่ หรือเขียนใส่กระเป๋าติดตัวสำหรับเด็กโต หรืออาจสอนวิธีตอบโต้ด้วยทักษะการต่อสู้เมื่อเข้าตาจน” 

 

นอกจากนี้ รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ ยังได้เสนอวิธีการรับมือสถานการณ์อันตรายต่างๆ แบ่งเป็น 3 หลักการคือ หนี-ซ่อน-สู้

 

 

สิ่งที่สำคัญคือ เมื่อเวลาตัวเราอยู่ที่ไหนก็ตาม ควรจะมีสิ่งที่เรียกว่า สัญชาตญาณระวังภัย ควรเช็กให้แน่ใจว่า มีเสียงผิดปกติไหม หรือเสียงหวีดร้องด้วยความตกใจของผู้คน และต้องจับทิศทางของเสียงระเบิด หรือเสียงปืน เพื่อหาทางหนีทีไล่ให้ถูกต้อง

 

“สิ่งที่ควรทำคือ หนี จากจุดเกิดเหตุเสียก่อน ถ้าหนีไม่ไหวให้ซ่อนตัว แต่ถ้าเกิดหนีหรือซ่อนแล้วไม่พ้น ก็ต้องสู้ รูปแบบนี้เหมือนการละเล่นโป้งแปะ แต่ต่างกันตรงที่คนถูกแปะหรือจับได้จะตายจริงๆ สุดท้ายเราไม่เลือกที่จะสู้เราก็ต้องตายอยู่ดี ดังนั้นเราไม่ควรจะยอมอยู่เฉยๆ อย่างน้อยก็ต้องมีเจ็บกันบ้าง เพื่อให้ตัวเองหรือคนรอบข้างมีโอกาสรอดให้ได้มากที่สุด นี่คือคอนเซปต์ของ ‘Run Hide Fight’ 

 

“สุดท้ายนี้ อยากจะบอกว่า พวกเราเป็นเพียงหมอ ไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องการต่อสู้ หรือภาวะหลบหนีการกราดยิงอะไรทั้งสิ้น ผมแค่รู้สึกว่า ถ้าเราไม่เริ่ม…ใครจะเริ่ม? ที่สำคัญคือเราจะรอให้ใครเริ่มจนถึงเมื่อไร เพราะถ้าเราไม่เริ่มเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่ตอนนี้ เราอาจต้องเสียใจกับเหตุการณ์ลักษณะนี้อีกก็เป็นได้” 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X