×

#สมรสเท่าเทียม กระแสบนโลกออนไลน์ ที่มาสู่ความหวังในการแก้กฎหมายให้สิทธิคู่ LGBTQ สมรสกันได้อย่างเท่าเทียม

07.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ระบุว่า รัฐจะต้องรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน จึงเป็นที่มาของการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง แก้ไข พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ (ปพพ.) โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
  • การรับฟังความคิดเห็น ร่าง แก้ไข ปพพ. ครั้งนี้ จะถูกรวบรวมโดยสำนักงานเลขาฯ และส่งต่อไปในกระบวนการพิจารณากฎหมาย และเข้าสู่การพิจารณา วาระที่ 1 รับหลักการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั่นหมายถึง ส.ส. จะต้องกดปุ่ม เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วย ถึงตอนนั้นเสียงของประชาชนในการรับฟังความคิดเห็นจะมีผลต่อการพิจารณาของ ส.ส. หรือไม่ เพียงใด
  • ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เป็นร่างกฎหมายอีกฉบับ ที่ร่างโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งร่างแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 แก้ไขปรับปรุงมาแล้วหลายร่าง ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีการเผยแพร่ร่างฉบับใหม่ จากร่างสุดท้ายแต่อย่างใด
  • การขยายการสมรส ตาม ปพพ. ไปยังคู่ LGBTQ ช่วยแก้ไขปัญหาการไม่ได้รับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้คู่รัก LGBTQ ได้รับสิทธิหน้าที่ที่คู่สมรสชายหญิงทั่วไปได้รับ นอกจากนั้นเด็กที่เลี้ยงดูโดยคู่ LGBTQ จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากคู่ LGBTQ ทั้งสองในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย เฉกเช่นคู่รักชายหญิงทั่วไป ไม่เกิดความแตกต่างแปลกแยก

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เทรนด์ทวิตเตอร์ #สมรสเท่าเทียม ติดอันดับต้นๆ จนทำให้หลายคนมีคำถามมากมายว่าสมรสเท่าเทียมคืออะไร ใครเท่ากับใคร ฯลฯ

 

เบื้องต้นขอเล่าให้ฟังถึงกระบวนการร่างกฎหมายของไทย ส่วนใหญ่จะมีที่มาจาก 

(1) ส.ส. จำนวน 20 คน เสนอกฎหมาย 

(2) กรม กระทรวง เสนอกฎหมายผ่านคณะรัฐมนตรี หรือ 

(3) ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (iLaw, 2562) 

 

ส่วน #สมรสเท่าเทียม เกิดจากการเสนอร่างกฎหมายโดย ส.ส. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ และคณะฯ จากพรรคก้าวไกล ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ (ขอย่อว่า ปพพ. หรือ ร่าง แก้ไข ปพพ.) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเดือนมิถุนายน 2563 โดยร่างหลักการมีหลักการที่จะแก้ไข ปพพ. มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้องใน ปพพ. ที่มีเงื่อนไขเดิม อนุญาตการหมั้นและการสมรสเฉพาะชายและหญิง เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ ‘บุคคลทั้งสอง’ นั่นทำให้คู่รักหลากเพศ หรือ LGBTQ สามารถหมั้น และจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับสิทธิ หน้าที่ ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงทั่วไป 

 

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 77 ระบุว่า รัฐจะต้องรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน จึงเป็นที่มาของการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2563) 

 

เทรนด์ #สมรสเท่าเทียม ชี้ให้เห็นถึงความต้องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รอคอยการแก้ไขกฎหมายมานาน และต้องการเห็นความเท่าเทียมและเสมอภาคให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม การติดแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม แต่มิได้ไปแสดงความคิดเห็นใดๆ ในเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาฯ ก็ไม่ส่งผลอะไรนอกจากเป็นกระแสสังคมอย่างหนึ่ง แต่หากมีการแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก และผลการแสดงความคิดเห็นเป็นไปในทางสนับสนุนให้แก้ไข ปพพ. ก็จะเป็นแรงผลักดันสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ให้สามารถดำเนินการไปถึงในชั้นพิจารณากฎหมายของรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาได้

 

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาแล้วถึง 23 ครั้ง (สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, 2563) ซึ่งในการแก้ไขนั้น ต้องยกร่าง พ.ร.บ. คือร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และต้องนำเข้าสู่กระบวนการผ่านร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมฯ ในรัฐสภา จึงจะสามารถแก้ไข ปพพ. และประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

 

ส่วนร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (ขอย่อว่า ‘ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต’) เป็นร่างกฎหมายอีกฉบับ ที่ร่างโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งร่างแรกเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 มีการแก้ไขปรับปรุงมาแล้วหลายร่าง จนถึงมาร่างล่าสุด ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในเดือนสิงหาคม 2562 ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีการเผยแพร่ร่างฉบับใหม่จากร่างสุดท้ายแต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดบทความ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ร่างที่ผ่านมาจากหมายเหตุท้ายบทความ และตารางประกอบด้านล่าง)

 

 

 

9 เหตุผล ทำไมต้องแก้ ปพพ. เพื่อสมรสเท่าเทียม

ท่ามกลางกระแส #สมรสเท่าเทียม ที่ผู้คนในโลกออนไลน์กำลังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย มี 9 เรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจในการเรียกร้องในก้าวต่อไปดังนี้

 

1. เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย (ปพพ.) มาตรา 1448 บัญญัติให้สิทธิการสมรสเฉพาะเพศชายกับเพศหญิง ทำให้คู่รักหลากเพศ เช่น หญิงรักหญิง ชายรักชาย บุคคลรักได้ทั้งสองเพศ บุคคลข้ามเพศ บุคคลเพศกำกวม ฯลฯ (LGBTQ) ถูกจำกัดสิทธิ ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ขาดสิทธิ หน้าที่ และศักดิ์ศรีที่พึงมีต่อกัน และพึงได้รับจากการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน

 

2. การรับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่ตามร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ในฐานะ ‘คู่ชีวิต (Civil Partnerships)’ ไม่ปรากฏในประมวลกฎหมาย พระราชบัญญัติ หรือระเบียบของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนใดๆ มาก่อน ดังนั้นจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายอื่นทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง หากต้องการสิทธิใดๆ ในฐานะ ‘คู่ชีวิต’ ตามกฎหมายอื่น เช่น ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประมวลรัษฎากร พ.ร.บ. ประกันสังคม ฯลฯ

 

3. การออก พ.ร.บ. คู่ชีวิตแยกออกจาก ปพพ. ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการตีตรา การเลือกปฏิบัติ และการใช้ดุลยพินิจในการจำกัดสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระบวนการ หรือสถานที่สำหรับจดทะเบียนคู่ชีวิตมีการปฏิบัติที่แตกต่างจากการจดทะเบียนสมรสตาม ปพพ. อาจถือเป็นเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ (Sexual Orientation and Gender Identity)

 

4. การจัดทำร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต แทนที่จะไปปรับแก้ ปพพ. เพื่อขยายสิทธิการสมรสให้เท่าเทียม ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อศักดิ์ศรีของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวของคู่ LGBTQ ว่าด้อยกว่าศักดิ์ศรีของคู่รักต่างเพศอย่างไร

 

5. ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่ผ่านมามีความซับซ้อนในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น การตรวจสอบว่าคู่ชีวิตหรือคู่สมรสเคยจดทะเบียนแบบใดมาก่อน เคยจดทะเบียนซ้อนหรือไม่ หรือสิทธิหน้าที่ใดตาม ปพพ. จะสามารถนำมาอนุโลมบังคับใช้ให้กับคู่ชีวิตมากน้อยหรือไม่เพียงใด

 

6. การเป็น ‘คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย (Lawful Spouses)’ เป็นคำที่เป็นสากลและสามารถกล่าวอ้างได้ทั่วโลก ในขณะที่การเป็นคู่ชีวิตไม่ได้รับการยอมรับในต่างประเทศทุกประเทศ

 

7. หากประเทศไทยมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมในรูปแบบของ ปพพ. คู่สมรส LGBTI ที่เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย เช่น นักการทูต เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ ฯลฯ ก็จะได้รับการคุ้มครองและมีศักดิ์ศรีตามที่เคยได้รับในประเทศต้นทางที่มีกฎหมายให้ความเสมอภาคในการสมรสเช่นเดียวกัน

 

8. การขยายการสมรสตาม ปพพ. ไปยังคู่ LGBTQ ช่วยแก้ไขปัญหาการไม่ได้รับรองสิทธิการใช้ชีวิตคู่อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้คู่รัก LGBTQ ได้รับสิทธิหน้าที่ที่คู่สมรสชายหญิงทั่วไปได้รับ เช่น สิทธิในการปกครองบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการดำเนินการตั้งครรภ์แทนโดยอาศัยเทคโนโลยี สิทธิในสวัสดิการภาครัฐและเอกชน ในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ฯลฯ นอกจากนั้น เด็กที่เลี้ยงดูโดยคู่ LGBTQ จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายจากคู่ LGBTQ ทั้งสองในฐานะคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย เฉกเช่นคู่รักชายหญิงทั่วไป ไม่เกิดความแตกต่างแปลกแยก

 

9. ประเทศไทยให้คำปฏิญญาโดยสมัครใจกับกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) ในตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ว่าจะมีการทบทวนเงื่อนไขการสมรสตาม ปพพ. ที่จำกัดสิทธิการสมรสสำหรับบุคคลบางประเภท ซึ่งตาม ปพพ. ปัจจุบัน LGBTQ ถูกจำกัดสิทธิการสมรส ดังนั้นหากสามารถแก้ไข ปพพ. สำเร็จ ประเทศไทยย่อมจะได้รับการยอมรับโดยนานาอารยประเทศ และถือเป็นการปฏิบัติตามคำสัญญา และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยลงนามรับรองไว้ด้วย

 

แสดงความเห็นไปแล้วอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ประชาชนชาวไทยทุกคน ทั้งที่เป็น LGBTQ หรือไม่ก็ตาม จะโสดหรือมีคู่รักแล้วก็ตาม จะนิยามตนเองแบบใดก็ตาม หากเรามองว่าคู่รัก LGBTQ ทุกคนเป็นคนเท่ากัน สามารถก่อตั้งครอบครัวเหมือนคู่รักชายหญิงทั่วไป และสมควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ทุกคนสามารถแสดงความเห็นต่อร่าง แก้ไข ปพพ. ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

 

  1. ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น ‘เพศเดียวกัน’ และ ‘ต่างเพศ’ สามารถทำการหมั้นกันได้หรือไม่
  2. ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น ‘เพศเดียวกัน’ หรือ ‘ต่างเพศ’ สามารถสมรสกันได้ ตามกฎหมายหรือไม่
  3. ควรแก้ไขอายุบุคคลที่จะทำการสมรสกันได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปหรือไม่
  4. ควรแก้ไขให้คู่สมรสทั้งที่เป็นเพศเดียวกันและต่างเพศมีสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกันเหมือนสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาหรือไม่

 

การรับฟังความคิดเห็นร่าง แก้ไข ปพพ. คาดว่าจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือน กรกฎาคม 2563 ผลการรับฟังความคิดเห็นจะถูกรวบรวมโดยสำนักงานเลขาฯ ส่งต่อไปในกระบวนการพิจารณากฎหมาย และประกอบการพิจารณาในวาระที่ 1 รับหลักการโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

ร่าง แก้ไข ปพพ. จะได้รับคะแนนเสียงการจาก ส.ส. ในวาระแรกหรือไม่คงมีหลายปัจจัย แต่ผู้เขียนเชื่อว่าปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง คือการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทยในการสนับสนุน #สมรสเท่าเทียม และการแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวในวันนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างแก้ไข ปพพ. ได้ที่นี่ www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=94

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. 2563. การรับฟังความคิดเห็นต่อ ร่าง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะเป็นผู้เสนอ.www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=94
  • iLaw. 2562. ขั้นตอนการออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2560. https://www.ilaw.or.th/node/5343
  • สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 2563. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์. https://www.krisdika.go.th/web/guest/law
  • ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร และ ภาณุมาศ ขัดเงางาม ในวารสารสมาคมนักวิจัย. 2560. สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย. http://www.ar.or.th/ImageData/Magazine/10046/DL_10332.pdf?t=636422760773190331
FYI

บทความที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต

ปี 2556-2561 https://thestandard.co/civil-partnership-bill-draft-3/

ปี 2562 https://thestandard.co/civil-partnership-bill-latest-draft/

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X