ในยุคที่ ‘สิ่งแวดล้อม’ กลายมาเป็นหนึ่งในเรื่องใหญ่ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้น ด้วยตระหนักดีว่า หาก ‘สิ่งแวดล้อม’ อยู่ได้ ผู้บริโภคอย่างเราๆ ทุกคนก็จะอยู่ได้ นั่นเองทำให้ทุก ‘ธุรกิจ’ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในฐานะผู้สร้างผลกระทบและผู้ที่ได้รับผลกระทบ ต้องหยิบเรื่องของสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเป็นหนึ่งในแนวทางกำหนดกลยุทธ์ที่ขาดไปไม่ได้
‘เอปสัน’ เป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องของสิ่งแวดล้อม และกำหนดอยู่ในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง ด้วยเอปสันตระหนักดีว่า สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนคือประเด็นสำคัญที่ทุกองค์กรธุรกิจต้องร่วมกันใส่ใจ ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้พลังงาน เพื่อช่วยบรรเทาภาวะโลกร้อน การรีไซเคิลกระดาษเพื่อลดการตัดไม้ การลดการสร้างมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำ หรือลดขยะจากกระบวนการผลิต
ดังนั้น เทคโนโลยีของเอปสันจึงถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นบนหลักการที่ว่า จะต้องสามารถนำเสนอประสิทธิภาพการทำงานที่ดีเยี่ยมให้กับผู้ใช้ สามารถรองรับปริมาณงานจำนวนมากเป็นเวลานาน โดยที่คุณภาพงานไม่ตกลง และต้องไม่สร้างผลกระทบใดๆ ต่อสภาพแวดล้อมในที่ทำงานของผู้ใช้และสังคม ผลิตภัณฑ์ของเอปสันจึงต้องสามารถช่วยองค์กรธุรกิจ ลดการใช้พลังงานในสำนักงาน และสร้างระบบนิเวศที่เป็นมิตรกับธรรมชาติให้เห็นได้เป็นรูปธรรม
Epson PaperLab
Epson PaperLab และเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทที่ไม่ใช้ความร้อน สองตัวอย่างนวัตกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม
หากจะถามว่า วันนี้ ‘เอปสัน’ มีเทคโนโลยีอะไรบ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว Epson PaperLab และเครื่องอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ที่ไม่ใช้ความร้อนในกระบวนการพิมพ์คือคำตอบของเอปสัน ซึ่งเป็นตัวอย่างเทคโนโลยีที่สร้างความตื่นตาให้กับวงการพิมพ์เป็นอย่างมาก
Epson PaperLab เป็นเครื่องรีไซเคิลกระดาษเครื่องแรกของโลก ช่วยให้ทุกออฟฟิศประหยัดค่ากระดาษและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพียงนำกระดาษที่ใช้แล้วใส่เข้าไปใน Epson PaperLab ก็จะได้กระดาษใหม่ออกมาในไม่กี่นาที ซึ่งทุกขั้นตอนจะทำได้อย่างรวดเร็ว ไม่ซับซ้อน และไม่ต้องใช้น้ำเป็นองค์ประกอบในกระบวนการผสานเยื่อกระดาษใหม่
อีกเทคโนโลยีหนึ่งก็คือ ‘เครื่องอิงค์เจ็ทพรินเตอร์รุ่นใหม่ที่ไม่ใช้ความร้อนในกระบวนการพิมพ์ (Heat-Free)’ และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเลเซอร์พรินเตอร์ถึง 85% รวมไปถึงชิ้นส่วนในตัวพรินเตอร์เอง อิงค์เจ็ทพรินเตอร์ของเอปสันก็ยังมีส่วนประกอบที่ต้องเปลี่ยนทดแทนน้อยกว่าเลเซอร์พรินเตอร์ถึง 59% เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งโทนเนอร์ ลูกดรัม ดีเวลลอปเปอร์โรเลอร์ ชุดฟิวเซอร์ และอื่นๆ ทำให้ช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงมาได้
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพรินเตอร์เชิงพาณิชย์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอของเอปสัน ยังถูกออกแบบให้สามารถช่วยลดการใช้น้ำในกระบวนการพิมพ์ลงถึง 60% ทำให้ไม่ก่อให้เกิดมลพิษจากสารเคมี และยังลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 55% อีกด้วย
คุณยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด
ดำเนินตามนโยบายบริษัทแม่
อย่างไรก็ตาม ด้วยทุกวันนี้ความคาดหวังของคนทั่วโลกต่อองค์กรธุรกิจให้ดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงการเติบโตควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน กำลังทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้น นโยบายเอปสัน ประเทศไทย จึงสอดคล้องไปกับนโยบายของบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น บริษัท ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งได้เคยประกาศวิสัยทัศน์ของกลุ่มบริษัทเอปสันในงาน Epson 25 Corporate Vision เมื่อปี 2559 ไว้ว่า เอปสันต้องการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน และต้องแสดงถึงความรับผิดชอบในการส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น และนำความสุขมาสู่สังคมด้วยวิธีการที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDG) ขององค์การสหประชาชาติ
ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายดังกล่าวเป็นที่มาของการกำหนดแนวทางของโปรแกรม CSR ซึ่งเอปสันได้ยึดตามกรอบปฏิบัติ SDG ขององค์การสหประชาชาติ โดยให้น้ำหนักในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทรัพยากรมนุษย์และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
Epson SureColor SC-F2130
‘From Plastic to Fabric’ ถุงพลาสติกแลกถุงผ้า
ล่าสุด เอปสัน (ประเทศไทย) ได้ร่วมกับ ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ และโครงการ Green Road ในการผลิตถุงผ้าจากวัสดุรีไซเคิล เพื่อนำไปแลกถุงพลาสติกจากเหล่าพนักงานบริษัทตามอาคารสำนักงานทั่วกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด ‘From Plastic to Fabric’ ทั้งยังเป็นการขานรับนโยบายงดใช้ถุงพลาสติกตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออกกฎบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา
ภายใต้กิจกรรมดังกล่าว เอปสันได้โรดโชว์ไปยังอาคารสำนักงาน 10 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ เอ็มไพร์ ทาวเวอร์, อิตัลไทย ทาวเวอร์, อาคารอินเตอร์เชนจ์ 21, เมืองไทยภัทร คอมเพล็กซ์, จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ทาวเวอร์, ยูไนเต็ด เซ็นเตอร์, ไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์, สาทร ซิตี้ ทาวเวอร์, อาคารมาลีนนท์ และเสริมมิตรทาวเวอร์
โดยนำถุงผ้ารักษ์โลก ซึ่งมีการพิมพ์ลายด้วย Epson SureColor SC-F2130 พรินเตอร์ระบบ Direct-to-Garment สำหรับงานสร้างสรรค์เครื่องแต่งกายและสินค้าแฟชั่น ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีหัวพิมพ์ PrecisionCore หนึ่งในผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพรินเตอร์เชิงพาณิชย์เพื่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษจากสารเคมีในขณะพิมพ์ กิจกรรมได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก และสามารถรวบรวมถุงพลาสติกได้มากถึงกว่า 30,000 ใบ
ผศ.ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ
จาก ‘ถุงพลาสติก’ สู่ ‘บล็อกปูพื้น’
สำหรับถุงพลาสติกที่รวบรวมมาได้นั้นไม่ได้สูญเปล่า โดยถูกส่งต่อให้โครงการ Green Road เป็นผู้คัดแยก และแปลงสภาพเป็นอิฐบล็อก เพื่อใช้ปูพื้นลานกิจกรรมและทางเดินภายในวัดต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์ของผู้คนในชุมชนต่อไป
โดยบล็อกปูพื้นที่ได้จากการรีไซเคิลถุงและขวดพลาสติกมีคุณสมบัติที่ไม่ธรรมดา เพราะมีความแข็งแรงได้มาตรฐาน รับแรงสั่นสะเทือนได้ดี มีน้ำหนักเบา สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ที่สำคัญนี่ถือเป็นหนึ่งในวิธีการกำจัดขยะพลาสติกในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ
“กิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้น เอปสันจึงมองว่า เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมไทยในขณะนี้ และสอดคล้องกับแนวทาง CSR ของเอปสัน และจากกิจกรรมครั้งนี้ยังเห็นได้ชัดว่า คนกรุงเทพฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการเติบโตอย่างยั่งยืนของสังคมไทยกันมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นการตอกย้ำถึงจุดยืนและแนวทางในการดำเนินธุรกิจของเอปสันได้เป็นอย่างดี”
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ ‘เอปสัน’ ลุกขึ้นมาจริงจังในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการย้ำให้เห็นว่า ในปัจจุบันไม่มีองค์กรธุรกิจใดสามารถเติบโตขึ้นโดยไม่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม การผสานจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ากับการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจที่เอปสันยึดมั่น จึงเป็นคำตอบการอยู่รอดและเจริญก้าวหน้าในโลกยุคดิจิทัลนี้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล