×

พลิกปมมหากาพย์ฟ้องร้องหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่ ‘ณพ ณรงค์เดช’ แถลงโต้ ยันความบริสุทธิ์จากข้อกล่าวหา ‘โกงเจ้าหนี้’ และ ‘ปลอมลายเซ็น’

02.11.2023
  • LOADING...
ฟ้องร้องหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่

HIGHLIGHTS

  • มหากาพย์คดีฟ้องร้องเกี่ยวกับหุ้น ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่ (WEH)’ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2561 หลังจากหุ้น WEH เปลี่ยนมือจาก นพพร ศุภพิพัฒน์ มาสู่ ณพ ณรงค์เดช
  • ก่อนหน้านี้ศาลที่อังกฤษพิพากษาให้ ณพ ณรงค์เดช อดีตผู้ถือหุ้นโดยอ้อมของ WEH และพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมประมาณ 900 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3 หมื่นล้านบาท ให้แก่ นพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WEH
  • แต่เมื่อ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ศาลแขวงพระนครใต้ได้มีคำพิพากษาให้ ‘ยกฟ้อง’ จำเลยทุกคนในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ถือเป็นผลที่กลับด้านกับการตัดสินของศาลที่อังกฤษ
  • ณพเปิดเผยว่าจ่ายเงินซื้อหุ้น REC จากนพพรรวมประมาณ 6,000 ล้านบาท ส่วนที่ยังติดค้างกันอยู่ตามสัญญาและยังเป็นคดีความค้างอยู่คือเงินโบนัสที่ตกลงว่าจะจ่ายตามเงื่อนไข
  • เงินทุนที่นำมาซื้อหุ้น REC ต่อจากนพพรส่วนหนึ่งเป็นการกู้ยืมจากเงินที่อยู่ในบัญชีร่วมของทั้ง 3 คนพี่น้องตระกูลณรงค์เดช และกู้ยืมจาก KPN Land ซึ่งเงินเหล่านี้ได้ชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยแล้ว แต่ก็ยังมีเงินที่กู้ยืมจากครอบครัวอีกส่วนหนึ่งราว 500-600 ล้านบาทที่ยังค้างจ่ายคืนอยู่
  • ณพเปิดเผยว่าตลอด 6 ปีที่ผ่านมา คดีความทั้งหมด 5 คดีที่ถูกฟ้องร้องต่างเป็นคดีที่ถูกยกฟ้องหรือไม่ก็ถอนฟ้องทั้งหมด รวมทั้งคดีปลอมลายเซ็นล่าสุด ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง
  • คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารอความชัดเจนจากคำพิพากษาของศาลมาตลอด ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าไม่ได้โกงใคร และไม่ได้ปลอมลายเซ็นใคร เรามีหลักฐานการเงินทุกอย่างครบ

มหากาพย์คดีฟ้องร้องที่เกี่ยวข้องกับหุ้นของบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด หรือ WEH ยังไม่จบลงโดยง่าย แม้ก่อนหน้านี้จะมีคำตัดสินของศาลที่อังกฤษพิพากษาให้ ณพ ณรงค์เดช อดีตผู้ถือหุ้นโดยอ้อมของ WEH และพวกรวม 14 คน จ่ายค่าเสียหายรวมประมาณ 900 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท ให้แก่ นพพร ศุภพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ WEH

 

อย่างไรก็ตาม คำตัดสินของศาลที่อังกฤษยังไม่ใช่บทสรุปของเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะยังคงมีอีกหลายคดีและหลายข้อสงสัย เกี่ยวกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากหุ้น WEH ที่จำเป็นจะต้องได้รับการพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรมของไทย

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ย้อนรอยการเปลี่ยนมือของหุ้น ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่’

 

ก่อนอื่นคงต้องย้อนไปดูกันก่อนว่าที่มาที่ไปของปมการฟ้องร้องตั้งแต่ปี 2561 เกิดมาจากสาเหตุใด และปัจจุบันใครกันแน่ที่เป็นผู้ถือหุ้นของ WEH ในส่วนที่มีคดีความฟ้องร้องกันอยู่นี้

 

วีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ ที่ปรึกษากฎหมาย เล่ารายละเอียดในส่วนนี้ว่า แท้จริงแล้วทั้ง นพพร ศุภพิพัฒน์ และ ณพ ณรงค์เดช ต่างไม่ได้ถือหุ้น WEH โดยตรง แต่เป็นการถือผ่านบริษัทที่ชื่อ Renewable Energy Corporation หรือ REC ก่อนจะปรับโครงสร้างและกลายมาเป็น เคพีเอ็น เอนเนอยี (ประเทศไทย) หรือ KPNET ซึ่ง REC เป็นผู้ถือหุ้นของ WEH ในสัดส่วน 59.45%

 

ณพซื้อหุ้น REC ต่อจากนพพร และกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมใน WEH ส่วนสาเหตุที่นพพรจำเป็นต้องขายหุ้น REC เนื่องจากปัญหาเรื่องคดีความส่วนตัว จนทำให้สถาบันการเงินระงับการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการของ WEH

 

หลังจากการโอนหุ้น REC ให้กับณพเสร็จสิ้น สถาบันการเงินจึงพร้อมจะกลับมาปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการของ WEH อีกครั้ง แต่การให้สินเชื่อต้องสะดุดลง เมื่อนพพรกลับมาฟ้องร้องเพื่อเรียกหุ้นคืนจากณพด้วยประเด็น ‘โกงเจ้าหนี้’

 

เมื่อคดีความเกิดขึ้นจนทำให้บริษัทประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ทางแก้คือการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยการขายหุ้น WEH ที่ REC ถืออยู่ 59.45% ให้กับ คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา โดยคุณหญิงกอแก้วได้ทำสัญญาแต่งตั้งตัวแทนเป็น เกษม ณรงค์เดช เพื่อทำธุรกรรมในครั้งนี้ ก่อนที่หุ้น WEH จะถูกโอนไปให้กับบริษัท โกลเด้น มิวสิค จำกัด หรือ GML อีกทอดหนึ่ง

 

เส้นทางหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่

 

ปมขัดแย้งกับ ‘นพพร ศุภพิพัฒน์’

 

วีระวงค์เปิดเผยว่า คดีความที่นพพรฟ้องร้องณพ ประเด็นหลักคือการพิสูจน์ว่ามีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งเมื่อ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ศาลแขวงพระนครใต้ได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทุกคน ถือเป็นผลที่กลับด้านกับการตัดสินของศาลที่อังกฤษ

 

ในประเด็นนี้วีระวงค์ขยายความว่า การฟ้องร้องว่าโกงเจ้าหนี้โดยนพพรเกิดขึ้นเมื่อ 23 มกราคม 2561 เป็นคดีอาญา ซึ่งตามกระบวนการยุติธรรมของไทยโดยปกติแล้ว หากมีคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน คดีแพ่งที่ฟ้องร้องจะถูกพักไว้ก่อน และเมื่อมีคำตัดสินของคดีอาญาออกมาแล้วก็จะผูกพันกับคดีแพ่งด้วย

 

แต่กรณีนี้นพพรเลือกฟ้องร้องคดีแพ่งที่อังกฤษ ซึ่งศาลที่อังกฤษได้รับพิจารณาและตัดสินให้นพพรชนะคดี แต่คำตัดสินดังกล่าวไม่ได้มีผลผูกพันในประเทศไทย แต่จะมีผลกับทรัพย์สินในอังกฤษและประเทศที่ยอมรับกฎหมายของอังกฤษ เช่น ฮ่องกง

 

โดยสรุปแล้วด้วยคำพิพากษาจากศาลในไทย นพพรจึงไม่สามารถเรียกร้องเอาหุ้น REC คืนกลับไปได้

 

ด้านณพเปิดเผยว่าการจ่ายเงินซื้อหุ้น REC จากนพพรแบ่งออกเป็น 2 งวด งวดแรกจำนวน 90.5 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3,000 ล้านบาท และงวดที่สองอีก 85.75 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,000 ล้านบาท ส่วนที่ยังติดค้างกันอยู่ตามสัญญาและยังเป็นคดีความค้างอยู่คือเงินโบนัสที่ตกลงว่าจะจ่ายตามเงื่อนไข

 

ณพกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้นพพรพยายามขัดขวางไม่ให้เขาสามารถหาเงินมาชำระค่าหุ้น REC ให้ทันตามกำหนด เพื่อที่จะได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาการโอนหุ้นดังกล่าว

 

ปมขัดแย้งกับ ‘ครอบครัวณรงค์เดช’

 

คดีความฟ้องร้องกันระหว่างครอบครัวณรงค์เดชเกี่ยวกับหุ้น WEH เกิดขึ้นตามมาหลังคดีความกับนพพร ซึ่งณพบอกว่าที่ผ่านมามีความพยายามเจรจากับพี่น้องในตระกูลณรงค์เดชไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง “แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจากข้อเสนอไม่อยู่บนหลักการของความเป็นจริง”​

 

หนึ่งในข้อเรียกร้องจากพี่และน้องคือ กฤษณ์ ณรงค์เดช และ กรณ์ ณรงค์เดช คือการแบ่งหุ้นในสัดส่วน 49% ให้โดยไม่ต้องชำระเงิน โดยอ้างว่าทั้งสองคนได้ร่วมลงทุนด้วยก่อนหน้านี้

 

ณพกล่าวต่อว่า เงินทุนที่นำมาซื้อหุ้น REC ต่อจากนพพร ส่วนหนึ่งเป็นการกู้ยืมจากเงินที่อยู่ในบัญชีร่วมของทั้ง 3 คนพี่น้อง และกู้ยืมจาก KPN Land ซึ่งเงินเหล่านี้ได้ชำระคืนพร้อมดอกเบี้ยแล้ว แต่ก็ยังมีเงินที่กู้ยืมจากครอบครัวอีกส่วนหนึ่งราว 500-600 ล้านบาทที่ยังค้างจ่ายคืนอยู่

 

“ก่อนหน้านี้เคยชักชวนครอบครัวมาร่วมลงทุน แต่ได้รับคำตอบว่าเพ้อฝัน ก่อนที่จะมาขอให้คุณหญิงกอแก้วช่วย ซึ่งตอนนั้น WEH ยังมีแค่ 2 โครงการ”

 

หลังจากนั้นศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่าทั้งกฤษณ์และกรณ์ไม่ได้ร่วมลงทุนจ่ายเงินซื้อหุ้น WEH

 

นอกจากนี้ณพเปิดเผยว่า ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา คดีความทั้งหมด 5 คดีที่ถูกฟ้องร้อง ต่างเป็นคดีที่ถูกยกฟ้องหรือไม่ก็ถอนฟ้องทั้งหมด รวมทั้งคดีปลอมลายเซ็นล่าสุด ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้อง โดยศาลใช้ดุลพินิจรับฟังว่าเอกสารทั้ง 6 ฉบับปลอม แต่ทางนำสืบและพยานหลักฐาน รวมทั้งคำเบิกความของพยานฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้ร่วมกันปลอมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการปลอม รวมทั้งไม่สามารถยืนยันได้ว่าใช้เอกสารปลอมดังกล่าว

 

ฟ้องร้องหุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่

 

ด้าน คุณหญิงกอแก้ว บุณยะจินดา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารอความชัดเจนจากคำพิพากษาของศาลมาตลอด ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าไม่ได้โกงใคร และไม่ได้ปลอมลายเซ็นใคร เรามีหลักฐานการเงินทุกอย่างครบ

 

ไม่คิดเลยว่าเหตุการณ์วุ่นวายจะเกิดขึ้น หลังจาก WEH พ้นวิกฤตและทำรายได้ปีละหลายพันล้าน เมื่อนั้นคดีความต่างๆ และการกล่าวหาก็ตามมา เพื่อต้องการอยากได้หุ้น ซึ่งถ้าคุณลงทุนคุณก็ต้องได้หุ้น ถ้าคุณไม่ลงทุนคุณก็ไม่มีสิทธิ์ อันนี้เป็นข้อที่ชัดเจนอยู่แล้ว

 

อนาคตของ ‘วินด์ เอนเนอร์ยี่’

 

ปัจจุบันณพไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นทางตรงใน WEH และไม่ได้มีบทบาทในการบริหารงาน ณพเปิดเผยว่าลาออกจากตำแหน่งประธานบริหารเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งในเวลานั้นผู้บริหารของบริษัทมองว่าหากณพยังมีอำนาจในการบริหารงานจะกระทบต่อการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของบริษัท

 

ปัจจุบันผลของคดีความต่างๆ ไม่ได้กระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ WEH และโครงการต่างๆ ก็สามารถดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อไปหลังจากนี้คือคำพิพากษาของศาลในคดีต่างๆ จะมีผลต่อโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ WEH อย่างไรบ้าง และใครจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ WEH 

 

ส่วน GML ที่เคยถือหุ้น WEH ในสัดส่วน 59.45% ปัจจุบันลดสัดส่วนลงมาเหลือประมาณ 30-40% ขณะที่ตระกูลกิตติอิสรานนท์ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ WEH ผ่านบริษัท ธนา พาวเวอร์ วัน จำกัด (TONE)

 

ทั้งนี้ ความพยายามในการนำ WEH เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังคงดำเนินต่อไป โดยล่าสุด TONE อยู่ระหว่างการเจรจาขายหุ้นให้กับ บมจ.ณุศาศิริ (NUSA) โดย NUSA จะชำระค่าหุ้นโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับ TONE ซึ่งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้านี้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเข้าข่ายการเข้าจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และเข้าข่ายถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการหรือไม่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X