ก่อนหน้าที่เกมรอบรองชนะเลิศยูโร 2020 ระหว่างอังกฤษและเดนมาร์กจะเริ่มต้นขึ้นในคืนนี้ มีผู้สื่อข่าวชาวเมืองผู้ดียกมือถาม แคสเปอร์ ชไมเคิล ที่มาเป็นตัวแทนแถลงข่าวของทีมด้วยคำถามที่น่าสนใจ
“คุณจะมีวิธีหยุดยั้งไม่ให้ It’s coming home อย่างไร” นักข่าวยิงคำถาม
นายทวารผู้สืบทอดตำนานของ ปีเตอร์ ชไมเคิล ยักษ์เดนส์ผู้เป็นพ่อ ยิ้มรับและยิงคำถามกลับไปบ้าง
“คุณจะบอกว่ามันเป็น Coming home ได้อย่างไร พวกคุณเคยได้แชมป์รายการนี้เหรอ”
นักข่าวผู้ดีโดนยิงกลับก็มีอาการตกใจ ก่อนจะพยายามอธิบายว่า “เอ่อ Home ที่ผมหมายถึงก็คือการที่อังกฤษเข้าชิงชนะเลิศฟุตบอลรายการใหญ่อีกครั้งไง เหมือนในปี 1966”
“แต่นั่นมันฟุตบอลโลก ก็ไม่ใช่ยูโรนี่” แคสเปอร์หยอกกลับแบบยียวนชวนขำ
ทั้งนี้ แม้จะเป็นการเหน็บกันเบาๆ สร้างสีสันกันก่อนเกม แต่สิ่งที่ชไมเคิลน้อยพูดก็ไม่ได้ผิดไปจากความเป็นจริงนัก เพราะอังกฤษนั้นไม่เคยได้แชมป์รายการนี้เลยสักครั้ง (แม้จะพยายามบอกใครต่อใครว่าพวกเขาคือต้นกำเนิดของฟุตบอล และอังกฤษก็คือบ้านของฟุตบอล ความหมายของวลีว่า Football is coming home จึงหมายถึงการที่อังกฤษได้แชมป์เท่ากับการที่ฟุตบอลได้กลับบ้าน) ในขณะที่เดนมาร์ก ชาติเล็กๆ ทางสแกนดิเนเวียนนั้นเคยได้แชมป์มาแล้วครั้งหนึ่งในปี 1992
แชมป์ที่ถูกขนานนามว่าเป็น ‘เทพนิยาย’ เพราะมันเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ไม่น่าเชื่อเลยสักอย่าง
และเกมแรกของเดนมาร์กในยูโรที่ประเทศสวีเดนในครั้งนั้น คู่แข่งทีมแรกของพวกเขาก็คือทีม ‘สิงโตคำราม’ อังกฤษนี่แหละ
วันนี้เลยอยากจะชวนมาเจาะเวลาหาอดีตกันสักนิด ไปไม่ไกลแค่ 29 ปีเท่านั้น!
🇩🇰🆚🏴 EURO ’92 edition ended goalless!
What will be the score when they meet today? 🤔#EURO2020 pic.twitter.com/e0O2oi9dmD
— UEFA EURO 2020 (@EURO2020) July 7, 2021
ทีมอันดับ 4 ของโลก vs. ทีมที่ไม่ควรได้มาแข่ง
ฟุตบอลยูโร 1992 จัดขึ้นที่ประเทศสวีเดนในช่วงระหว่างวันที่ 10-26 มิถุนายน ซึ่งที่ใช้เวลาสั้นขนาดนี้ก็เพราะการแข่งขันในสมัยนั้นมีทีมที่เข้าร่วมทั้งหมดเพียงแค่ 8 ทีมเท่านั้น (และจริงๆ จะผ่านการคัดเลือกแค่ 7 ทีม เพราะชาติเจ้าภาพอย่างสวีเดนได้สิทธิ์แล้ว 1)
8 ทีมที่เข้าแข่งในครั้งนั้นล้วนเป็นทีมที่แข็งแกร่งทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแชมป์โลกอย่างเยอรมนี (พวกเขากลับมาแข่งขันในชื่อเยอรมนีครั้งแรกหลังการรวมประเทศ) ที่นำมาโดย เจอร์เกน คลินส์มันน์ และ โลธาร์ มัทเธอุส, แชมป์เก่าอย่างเนเธอร์แลนด์ ที่มีสามทหารเสือชาวดัตช์, ฝรั่งเศส ซึ่งมี ‘ชีเปเป’ ฌอง ปิแอร์ ปาแปง กองหน้าเจ้าของรางวัลบัลลงดอร์ กับ เอริค คันโตนา ดาวยิงจอมศิลปิน
รวมถึงอังกฤษ ทีมอันดับ 4 จากฟุตบอลโลก 1990 ซึ่งมียอดนักเตะอย่าง แกรี ลินิเกอร์, พอล เมอร์สัน, และเดวิด แพลตต์
เกมแรกของอังกฤษ ซึ่งคุมทีมมาโดย เกรแฮม เทย์เลอร์ ผู้จัดการทีมที่รับช่วงต่อจากสุภาพบุรุษลูกหนัง เซอร์ บ็อบบี ร็อบสัน ถูกมองว่าไม่ใช่งานยากเพราะได้เจอกับเดนมาร์ก ทีมที่ไม่สมควรจะได้ผ่านเข้ามาแข่งขันในรายการนี้
ที่บอกว่าไม่สมควร ก็เพราะพวกเขาไม่ได้ผ่านรอบคัดเลือกมาเหมือนทีมอื่น หากแต่ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันอย่างไม่คาดฝัน เมื่อยูโกสลาเวีย เจ้าของสมญา ‘บราซิลแห่งยุโรป’ ที่อุดมไปด้วยสุดยอดนักเตะระดับอุโฆษมากมาย ถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันจากปัญหาสงครามกลางเมืองในประเทศ
เดนมาร์กภายใต้การนำของ ริชาร์ด โมลเลอร์ นีลเซน โค้ชที่แทบหาคนรักไม่ได้ในบ้านเกิด จึงได้สิทธิ์เข้าร่วมแข่งขันแทนก่อนหน้าที่การแข่งขันจะเริ่มต้นแค่เพียง 10 วัน และเขาต้องจัดการเตรียมทีมให้พร้อมภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แค่นั้น
ปัญหานั้นไม่ได้มีแค่ระยะเวลาที่สั้น เพราะในเวลานั้นนักเตะเริ่มทยอยพักร้อนหลังจบฤดูกาล (และบางส่วนยังติดแข่งภายในประเทศอยู่ด้วยซ้ำ) แต่ยังมีการแตกหักระหว่างเขากับนักเตะที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติอย่างพี่น้องตระกูลเลาดรูปด้วย
โดยเฉพาะ ไมเคิล เลาดรูป ที่ไม่สามารถทนร่วมงานกับนีลเซนได้อีก ถึงขั้นตัดญาติประกาศอำลาทีมชาติในวัยแค่ 26 ปี ขณะที่ แ ผู้น้องเปลี่ยนใจกลับมารับใช้ทีมชาติใหม่อีกครั้งหลังจากได้เคลียร์ใจกับนีลเซน
แต่ทีมที่แทบไม่ได้เตรียมตัวเลยอย่างเดนมาร์กก็สามารถต่อกรสู้กับอังกฤษได้อย่างสนุก โดยมี ปีเตอร์ ชไมเคิล ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นผู้ปกปักษ์รักษาทีมได้ทุกลูกที่อังกฤษท้าทายมา
แถมเดนมาร์กยังเกือบจะคว้าชัยชนะได้ด้วย หากลูกยิงของ จอห์น เจนเซน ไม่ไปชนเสาแล้วกระเด้งกลับมาหามือของ คริส วูดส์ ผู้รักษาประตูทีมชาติอังกฤษ ที่ทำได้เพียงป้องกันด้วยสายตาไปแล้วในตอนแรก
เกมนี้จบลงแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น เสมอกันไป 0-0
และนำไปสู่เส้นทางที่แตกต่างกันระหว่างสองทีม
เทพนิยายเดนส์และเรื่องรันทดของสิงโตสามตัว
หลังจากที่ทั้งสองทีมเสมอกันไปในเกมดังกล่าว อังกฤษพบกับช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อพวกเขาต้องตกรอบอย่างน่าเศร้า
โดยอังกฤษทำได้เพียงแค่เสมอกับฝรั่งเศส 0-0 ในเกมที่ 2 ทำให้มี 2 แต้ม ขณะที่สวีเดนนั้นคว้าชัยชนะเหนือเดนมาร์กได้ 1-0 ทำให้เจ้าภาพมี 4 คะแนน (หลังจากที่เสมอกับฝรั่งเศสในเกมแรก 1-1) มีโอกาสสูงที่จะเข้ารอบรองชนะเลิศ
ถึงตอนนั้นเดนมาร์กแทบจะถอดใจไปแล้ว เพราะพวกเขามีแต้มเดียวจาก 2 นัด นอกจากนักเตะในทีมจะเริ่มคิดถึงการกลับบ้านพักผ่อนเสียทีเพราะพวกเขาก็มากันแบบไม่ได้ตั้งใจ แต่หนึ่งในกำลังหลักของทีมอย่าง คิม วิลฟอร์ต ต้องรีบออกจากแคมป์เพื่อกลับบ้านเป็นการเร่งด่วน
ที่ต้องกลับไปนั้นเพราะหัวใจของเขาไม่ได้อยู่ที่สวีเดนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เนื่องจากเวลานั้น ‘ลิเน’ ลูกสาวของเขาป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งดาวเตะวัย 29 ปี ต้องการที่จะอยู่ดูแลลูก แต่ถูกรบเร้าให้เดินทางมาช่วยทีมก่อน หลังจากที่ผลการตรวจพบว่าอาการของลิเนเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น
แต่เมื่อจบเกมที่ 2 ภรรยาของเขาได้โทรมาแจ้งข่าวร้ายว่าอาการของลิเนเริ่มทรุด ทำให้วิลฟอร์ตขออนุญาตเดินทางกลับทันที โดยที่ โมลเลอร์ นีลเซน เองไม่ต้องการขัดขวางแต่อย่างใด และตัวของเขาเองก็ไม่คิดที่จะกลับมาอีกแล้ว
สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดเกิดขึ้นในเกมที่ 3 ของรอบแรก เมื่ออังกฤษไปเสียท่าสวีเดนที่แซงเอาชนะได้ 2-1 หลัง เดวิด แพลตต์ ทำประตูออกนำไปตั้งแต่ต้นเกม แต่ แจน อีริกส์สัน ตีเสมอได้ในนาทีที่ 51 ก่อนที่ โทมัส โบรลิน จะส่งทีมสิงโตคำรามตกรอบแรกด้วยประตูชัยในนาทีที่ 82
ผู้จัดการทีมอย่าง เกรแฮม เทย์เลอร์ ต้องรับผิดชอบผลงานดังกล่าวด้วยอาชีพการงานของเขา ถูกประณามในฐานะผู้จัดการทีมชาติที่แย่ที่สุด (และการตัดสินใจที่เลวร้ายที่สุดคือการถอด แกรี ลินิเกอร์ กัปตันทีมที่เป็นความหวังสูงสุดออกจากสนาม ให้ อลัน สมิธ ลงเล่นแทนในนาทีที่ 62 ซึ่งเป็นเกมสุดท้ายของ ‘มิสเตอร์ไนซ์กาย’ ผู้ไม่อาจทำลายสถิติตลอดกาลของ บ็อบบี ชาร์ลตัน ได้)
ขณะที่เดนมาร์กที่ไม่มีใครคิดว่าจะเข้ารอบ กลับเอาชนะฝรั่งเศสได้อย่างเหลือเชื่อ เมื่อ เฮนริค ลาร์เซน ยิงประตูนำตั้งแต่ต้นเกม และแม้ ฌอง ปิแอร์ ปาแปง จะยิงประตูตีเสมอได้ แถม โมลเลอร์ นีลเซน ยังตัดสินใจถอด ไบรอัน เลาดรูป นักเตะที่เก่งที่สุดออกจากสนาม เพื่อให้ ลาร์ส เอลส์ทรุป ลงไปเล่นแทน (เลาดรูปเผยในเวลาต่อมาว่าเป็นเพราะเขาหมดแรงและบอบช้ำ เนื่องจากเพิ่งฟื้นจากอาการบาดเจ็บหนัก)
ตัวสำรองอย่างเอลส์ทรุปกลายเป็นคนทำประตูชัยให้เดนมาร์กผ่านเข้ารอบต่อไปได้อย่างเหลือเชื่อ
เกมนี้เองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้นักเตะเดนส์ทุกคนเริ่ม ‘เชื่อ’ ว่าพวกเขามีโอกาสที่จะทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดได้ และนำไปสู่ตำนานลูกหนังที่งดงามที่สุดตลอดกาลที่มีชื่อว่า ‘เทพนิยายเดนส์’ ในเวลาต่อมา
โดยระหว่างทัวร์นาเมนต์ โมลเลอร์ นีลเซน ได้เรียนรู้เรื่องสำคัญในชีวิตอย่างคำว่า ‘ผ่อนคลาย’ ทลายกำแพงในใจระหว่างเขากับลูกทีมด้วยการสั่งให้งดซ้อม 1 มื้อ (เซสชัน) เพื่อไปเล่นเกมมินิกอล์ฟผ่อนคลาย หรือการจอดรถแวะทานแมคโดนัลด์ อาหารจังก์ฟู้ดที่ปกติเขาต่อต้านอย่างมาก แต่ก็ยอมทำตามคำเรียกร้องของลูกทีมเพื่ออยากจะซื้อใจกัน
รวมถึงการเคลียร์ใจกับเลาดรูปที่ไม่เคยเล่นได้ดีเลยตั้งแต่เขาเข้ามาคุมทีมชาติ และมีความต่อต้านและความไม่เข้าใจกันมาโดยตลอด แต่สุดท้ายทั้งสองก็ปรับความเข้าใจระหว่างกันและกัน ซึ่งเลาดรูปก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในเกมรอบรองชนะเลิศที่เอาชนะเนเธอร์แลนด์ และรอบชิงชนะเลิศที่ชนะเยอรมนี
ไม่นับการกลับมาของวิลฟอร์ต ซึ่งได้รับการรบเร้าจากลิเนให้กลับมาช่วยทีมชาติอีกครั้งเพราะอยากเห็นพ่อในสนาม ซึ่งสุดท้ายแล้วเขาก็มีส่วนในการพาทีมคว้าแชมป์ที่ยิ่งใหญ่ครั้งแรกของชาติได้จริงๆ
นี่คือเรื่องราวเทพนิยายลูกหนังที่เกิดขึ้นเมื่อ 29 ปีก่อน
โดยที่วันนี้สองทีมที่เคยพบกันในจุดเริ่มต้นของเรื่องเล่าที่งดงามนั้นจะได้กลับมาพบกันอีกครั้ง…ที่เวมบลีย์
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- http://www.englandfootballonline.com/Seas1990-00/1991-92/M0686Den1992.html
- https://www.uefa.com/uefaeuro-2020/match/5108–denmark-vs-england/postmatch/report/
- https://www.uefa.com/uefaeuro-2020/news/025a-0eb91faf9bf0-942d69c5a0a8-1000–euro-1992-all-you-need-to-know/
- https://www.bbc.com/sport/football/17757335
- https://www.irishexaminer.com/sport/soccer/arid-40311863.html
- หลังเดนมาร์กคว้าแชมป์ 6 สัปดาห์ ลิเน วิลฟอร์ต ได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ
- ความยากในการทำงานของ ริชาร์ด โมลเลอร์ นีลเซน คือการที่เขาต้องรับช่วงต่อจากยอดโค้ชต่างชาติอย่าง เซปป์ ปิออนเท็ก (Sepp Piontek) ยอดกุนซือชาวเยอรมันที่สร้างตำนาน The Danish Dynamite ทำให้เดนมาร์กกลายเป็นทีมที่เล่นฟุตบอลเกมรุกสุดสะเด่า ซึ่งแม้จะไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เพราะเปราะบางเกินไปในเกมรับ แต่ก็เป็นทีมขวัญใจมหาชน โดยเฉพาะสำหรับชาวเดนมาร์กที่ไม่ได้ยึดติดกับผลการแข่งขันอย่างเดียว