370,000 บริษัท และหลายผับในอังกฤษอาจปิดตัว คนงานหลายชีวิตอาจต้องตกงาน จากวิกฤตราคาพลังงานสูงที่ยังตามหลอกหลอนชาวอังกฤษอย่างต่อเนื่อง และอาจโหดร้ายมากขึ้นเมื่อรัฐบาลจะลดเงินสนับสนุนภาคธุรกิจ ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 เมษายนนี้
อังกฤษต้องเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพสูงจากปัญหาราคาพลังงานที่ยังคงสูงต่อเนื่องจากช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงไปถึง 9.9% และวิกฤตนี้ยังคงเป็นฝันร้ายที่ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ ประชาชนออกมาประท้วง เกิดแคมเปญไม่จ่าย (Don’t Pay) หรือแคมเปญพอกันที (Enough is Enough) เรียกร้องให้รัฐไม่ควรอุดหนุนภาคเอกชนรายใหญ่ ล่าสุดต้องหนาวๆ ร้อนๆ อีกครั้ง เมื่อธุรกิจขนาดเล็กกำลังยืนอยู่บนความเสี่ยงปิดกิจการ หากรัฐบาลยุติมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานภาคธุรกิจรายย่อยในสัปดาห์หน้า
ข้อมูลจาก The Business Times และ Bloomberg ระบุว่า กลุ่มธุรกิจรายเล็กประมาณ 370,000 รายในอังกฤษ กำลังเสี่ยงต่อการเลิกจ้างหรือปิดกิจการหากรัฐบาลยุติมาตรการช่วยเหลือค่าไฟภาคธุรกิจรายเล็กในปลายสัปดาห์หน้า
ขณะที่ เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษ ได้ออกมาประกาศว่า สหราชอาณาจักรจะขยายมาตรการสนับสนุนด้านพลังงานแก่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคต่อไป แต่จะยุติการช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยจะมีผลวันที่ 1 เมษายนนี้ แต่อาจมีข้อยกเว้นให้กับผู้ผลิตที่ใช้พลังงานปริมาณมาก เพราะแม้ราคาพลังงานในยุโรปจะลดลงจากระดับสูงสุดในช่วงก่อนเกิดวิกฤตพลังงานปีที่แล้ว แต่ราคาขายส่งพลังงานยังคงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
อย่างไรก็ตาม ราคาพลังงานยังคงท้าทายและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เช่นเดียวกับภาคธุรกิจต่างๆ ที่จำเป็นต้องปรับขึ้นราคาเพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ทั้งนี้ สหพันธ์ธุรกิจขนาดเล็กของสหราชอาณาจักร (FSB) ระบุว่า ธุรกิจผับที่ลงชื่อในสัญญาพลังงานฉบับใหม่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว จะได้รับเงิน 60,000 ปอนด์ต่อปี จากค่าพลังงานโดยประมาณ 85,000 ปอนด์ต่อปี แต่แผนใหม่นี้จะให้การสนับสนุนเพียง 2,000 ปอนด์ต่อปีเท่านั้น
ดังนั้นแม้จะได้รับการสนับสนุนต่อ แต่หลายๆ บริษัทในสหราชอาณาจักรก็เสี่ยงปิดตัวลงหากแบกรับค่าไฟไม่ไหว โดยกลุ่ม Make UK กล่าวเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า ประมาณ 13% ของบริษัทในสหราชอาณาจักรอาจจะต้องปิดตัวลงหากรัฐบาลไม่มีนโยบายสนับสนุนพลังงานต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ‘ไบเดน’ ปัดเศรษฐกิจโลกตกต่ำไม่ได้มาจากดอลลาร์แข็ง แต่มาจากนโยบายที่ผิดพลาดของประเทศอื่น
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
อ้างอิง: