×

เศรษฐกิจอังกฤษกำลังเผชิญวงจรหายนะ เหตุลงทุนไม่พอต่อเนื่องนานนับทศวรรษ

21.06.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจอังกฤษ

สถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะแห่งสหราชอาณาจักร (U.K.’s Institute for Public Policy Research: IPPR) เปิดเผยผลการศึกษาที่พบว่า ทศวรรษของการลงทุนที่ต่ำต้อยโดยรัฐบาลและภาคธุรกิจทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรเติบโตแบบ ‘วงจรหายนะ’ หรือ ‘Doom Loop’ โดยการวิจัยใหม่จากคลังความคิดดังกล่าวประเมินว่า สหราชอาณาจักรใช้เงินเพียง 5 แสนล้านดอลลาร์สำหรับการลงทุนทางธุรกิจ ซึ่งถือได้ว่าน้อยกว่าประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจชั้นนำ 7 ประเทศ (G7)

 

รายงานระบุว่า การขาดงบประมาณกว่าครึ่งล้านล้านปอนด์ทำให้สหราชอาณาจักรรั้งท้ายกลุ่มประเทศ G7 อื่นๆ ทั้งหมด และรั้งอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 30 ประเทศในกลุ่ม OECD โดยมีเพียงโปแลนด์ ลักเซมเบิร์ก และกรีซที่ลงทุนน้อยกว่า

 

สถาบัน IPPR ระบุว่า สหราชอาณาจักรลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา ทักษะและการฝึกอบรมน้อยเกินไปในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา พร้อมประเมินว่า เพื่อให้คงอยู่ที่ค่าเฉลี่ย G7 การลงทุนของภาคเอกชนควรเพิ่มขึ้น 2.06 แสนล้านดอลลาร์

 

IPPR กล่าวว่า การลงทุนภาครัฐเพิ่มเติมสามารถหนุนความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และทำให้ภาคเอกชน ‘ควักเงินออกมา’ ใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยเปรียบเทียบกับนโยบายของสหรัฐฯ ที่เดินหน้าลดอัตราเงินเฟ้อ

 

George Dibb รองผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจของ IPPR กล่าวว่า หากเศรษฐกิจเป็นเครื่องยนต์ของประเทศ การลงทุนก็เป็นเชื้อเพลิง แต่ถังน้ำมันของสหราชอาณาจักรกำลังว่างเปล่า และมันเป็นอันตรายต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผลักดันความไม่เท่าเทียมกัน และชะลอความคืบหน้าสู่ค่าสุทธิเป็นศูนย์และความมั่นคงทางพลังงาน

 

วันเดียวกัน มีรายงานคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งที่มองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยนักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า BOE กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากที่จะต้องตัดสินใจนโยบายการเงินท่ามกลางฉากหลังของอัตราเงินเฟ้อที่และตลาดแรงงานที่ตึงตัว

 

ทั้งนี้ ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค มาตรวัดเงินเฟ้อของอังกฤษประจำเดือนพฤษภาคมจะมีการเปิดเผยในวันพุธ (21 มิถุนายน) หนึ่งวันก่อนหน้าที่ทางคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงินของ BOE จะมีการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันพฤหัสบดี โดยข้อมูลตั้งแต่การประชุมครั้งล่าสุดบ่งชี้ถึงภาวะตึงตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดแรงงานและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่แข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับโมเมนตัมการเติบโตแบบผสมผสานแต่ยืดหยุ่นอย่างน่าประหลาดใจ

 

กระนั้น หาก BOE ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามคาดก็จะเป็นการดำเนินนโยบายการเงินที่สวนทางกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศคงนโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นพิเศษ

 

ก่อนหน้านี้ BOE มีมติ 7-2 ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2551 ในการประชุมเดือนพฤษภาคม โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 12 ติดต่อกัน

 

นอกจากนี้ BOE ส่งสัญญาณเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยระบุว่าเงินเฟ้อได้ปรับตัวลงช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ อันเนื่องจากการพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาอาหาร

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising