รัฐบาลอังกฤษออกมาตรการคว่ำบาตรต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย 386 คน ที่ลงมติรับรองเอกราชแก่แคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ของยูเครนเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ปูทางให้รัสเซียเข้าบุกยูเครน ซึ่ง ส.ส. ทั้งหมดจะถูกอายัดทรัพย์สิน ห้ามเดินทางเข้าอังกฤษ และห้ามทำธุรกิจในอังกฤษด้วย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางของสหภาพยุโรปที่ประกาศคว่ำบาตร ส.ส. รัสเซียหลายร้อยคนเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้อังกฤษได้ออกมาส่งสัญญาณว่าจะออกมาตรการคว่ำบาตรตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อผ่านร่างกฎหมายฉบับใหม่ ก่อนที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้
สำหรับการประกาศล่าสุดนี้จะส่งผลให้สมาชิกสภาดูมา 386 คนจากทั้งหมด 450 คน ตกอยู่ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของอังกฤษ และถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่ได้มีการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อสมาชิกวุฒิสภาซึ่งเห็นชอบต่อมติรับรองเอกราชให้แคว้นกบฏยูเครน แต่คาดว่าจะมีการดำเนินการเพิ่มเติมตามที่กระทรวงการต่างประเทศเคยออกมาส่งสัญญาณไว้
ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษระบุว่า จะมีการประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการแบนการส่งออกสินค้าหรูไปยังรัสเซียในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยเป็นการขยายมาตรการคว่ำบาตรทางการค้าเพิ่มเติมของกลุ่มประเทศสมาชิก G7 ที่ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 มีนาคม)
ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เผยว่า อังกฤษตั้งเป้าคว่ำบาตรผู้ที่มีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการบุกยูเครนอย่างไม่ชอบธรรมของ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และบรรดาผู้ที่สนับสนุนสงครามป่าเถื่อนครั้งนี้ โดยอังกฤษจะไม่ลดละความพยายาม อีกทั้งจะยกระดับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังจากที่นานาชาติร่วมกันแบนธนาคาร บริษัท และกลุ่มชนชั้นนำของรัสเซีย เพื่อตอบโต้รัสเซียที่เข้าบุกยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (10 มีนาคม) อังกฤษได้ประกาศคว่ำบาตรมหาเศรษฐี 7 คนของรัสเซีย ซึ่งรวมถึง โรมัน อบราโมวิช เจ้าของสโมสรฟุตบอลเชลซี และหากนับรวมกับจำนวนการคว่ำบาตรชนชั้นนำรัสเซียก่อนหน้านี้ ก็จะเท่ากับว่ามีมหาเศรษฐีและผู้มีอำนาจ 18 คนที่ถูกอังกฤษสั่งคว่ำบาตร โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันสูงถึง 3 หมื่นล้านปอนด์
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ถูกกดดันจากพรรคฝ่ายค้านให้เร่งออกมาตรการคว่ำบาตรให้เร็วขึ้น รวมถึงขยายขอบเขตการคว่ำบาตรให้ครอบคลุมมากกว่าเดิมตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อีกทั้งยังเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการรับมือต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยได้ไม่ดีนัก เนื่องจากกระบวนการขอวีซ่านั้นล่าช้าและยุ่งยาก
ทั้งนี้ องค์กรสหประชาชาติเปิดเผยว่า มีประชาชน 2.5 ล้านคนแล้วที่ต้องลี้ภัยสงครามจากยูเครน แต่ข้อมูล ณ วันพฤหัสบดี ระบุว่า อังกฤษเพิ่งออกวีซ่าให้ผู้ลี้ภัยได้เพียง 1,305 คนเท่านั้น
ภาพ: Henry Browne / Getty Images
อ้างอิง: