×
SCB Omnibus Fund 2024

วิกฤตพลังงาน ในยุโรป กับฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

19.08.2022
  • LOADING...
วิกฤตพลังงาน

ฤดูหนาวกำลังจะมาถึง แต่ วิกฤตด้านพลังงาน ในยุโรปกลับดูรุนแรงขึ้น ล่าสุดบริษัท Gazprom ของรัฐบาลรัสเซีย ได้ลดปริมาณการส่งก๊าซผ่านท่อ Nord Stream 1 (NS1) ลงเหลือเพียง 20% ของปริมาณการส่งก๊าซทั้งหมดที่สามารถส่งผ่านท่อ NS1 ได้ ซึ่งส่งผลให้ราคาก๊าซในยุโรปกลับมาพุ่งขึ้นแรงอีกครั้ง จนเป็นที่น่ากังวล 

 

ในบทความนี้จะมาฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์ของวิกฤตพลังงานในยุโรป โดยเน้นไปในส่วนของก๊าซธรรมชาติและมุมมองด้านการลงทุนจากสถานการณ์ดังกล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นถึงโครงสร้างด้านพลังงานในยุโรป เพื่อให้เราสามารถวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ในปัจจุบันได้ดีขึ้น โดยก่อนที่จะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนนั้น ยุโรปเป็นกลุ่มประเทศที่พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียเป็นอย่างมาก มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหิน จากรัสเซียสูงถึง 40, 23 และ 45% ตามลำดับ ดังนั้นการที่กลุ่มประเทศยุโรปออกมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้งด้านราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นและด้านเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้ว่ายุโรปจะเริ่มแผนการลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ไม่ว่าจะเป็นการเร่งลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก หรือการเร่งสร้างท่าขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มเติม เพื่อนำเข้าจากประเทศอื่น แต่การดำเนินการดังกล่าวก็ไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น

 

หากพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานของก๊าซธรรมชาติในยุโรป ท่อส่งก๊าซที่สำคัญที่สุดคือท่อ NS1 ของบริษัท Gazprom ซึ่งเป็นท่อหลักในการส่งก๊าซมายังยุโรป โดยมีความยาวที่สุดในโลกถึง 1,222 กิโลเมตร และลอดผ่านใต้ทะเลบอลติกจากรัสเซียมายังเยอรมนี โดยตั้งแต่ที่ทางยุโรปได้คว่ำบาตรรัสเซีย ทางรัสเซียได้โต้ตอบโดยการลดปริมาณการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ NS1 มาอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2565) ทางบริษัท Gazprom ได้ลดปริมาณการส่งก๊าซผ่านท่อ NS1 ลงเหลือเพียง 20% หรือราว 30 ล้านคิวบิกเมตรต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าปริมาณการส่งก๊าซก่อนที่ทาง NS1 จะปิดท่อเพื่อซ่อมบำรุงช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปกลับมาปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ทะลุระดับ 200 ยูโรต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้จุดสูงสุดในช่วงที่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

 

วิกฤตด้านพลังงานที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ส่งผลให้รัฐบาลในกลุ่มประเทศยุโรปเริ่มกังวลว่า ปริมาณก๊าซสำรองในคลังจะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในช่วงฤดูหนาวที่จะมาถึง โดยปริมาณก๊าซในคลังสำรองต้องมีไม่ต่ำกว่าระดับ 80% ถึงจะเพียงพอสำหรับการใช้ในช่วงฤดูหนาว แต่ปัจจุบันปริมาณก๊าซในคลังสำรองของกลุ่มสหภาพยุโรปอยู่ที่ระดับเพียง 60% เท่านั้น ดังนั้นหลังจากที่ทาง Gazprom ลดปริมาณการส่งก๊าซเพียง 1 วัน ทางสหภาพยุโรปตัดสินใจประกาศแผนการลดใช้ก๊าซธรรมชาติลง 15% ระหว่างเดือนสิงหาคมปีนี้-มีนาคมปีหน้า เพื่อช่วยสำรองปริมาณก๊าซธรรมชาติในคลังให้เพิ่มขึ้นเพียงพอสำหรับช่วงฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง

 

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ผลกระทบต่อกลุ่มประเทศยุโรปอาจเกิดขึ้นใน 3 กรณี ดังนี้ 

 

  1. กรณีฐาน: ปริมาณการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ NS1 กลับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับก่อนปิดท่อ เพื่อซ่อมบำรุงที่ระดับ 40% ซึ่งเป็นระดับที่จะช่วยให้ปริมาณก๊าซในคลังสำรองเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 80% ก่อนถึงช่วงฤดูหนาว โดยไม่ต้องลดความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติลง
  2. กรณีปัจจุบัน: ทาง Gazprom คงปริมาณการส่งก๊าซผ่านท่อ NS1 ที่ระดับ 20% ประกอบกับมาตรการประหยัดพลังงาน 15% ของทางสหภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าปริมาณก๊าซในคลังสำรองจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาได้ที่ระดับ 80% แต่แลกมาด้วยการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจยุโรป
  3. กรณีเลวร้าย: Gazprom ปิดท่อ NS1 ร้อยเปอร์เซ็นต์ (แต่อาจเกิดขึ้นได้ยาก) ซึ่งจะทำให้ราคาพลังงาน ไม่เพียงแต่ราคาก๊าซธรรมชาติ พุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง โดยสหภาพยุโรปจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนก๊าซในฤดูหนาวและเศรษฐกิจยุโรปจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)

 

ถึงแม้ว่าในกรณีฐานที่คาดว่าท่อ NS1 จะกลับมาส่งก๊าซเพิ่มขึ้นที่ระดับ 40% และยุโรปจะมีปริมาณก๊าซสำรองในคลังที่เพียงพอสำหรับฤดูหนาวที่จะมาถึง แต่คาดว่ารัฐบาลของกลุ่มประเทศยุโรปคงต้องมีการจำกัดการใช้พลังงานบางส่วนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมในภาคการผลิต และกดดันให้เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มชะลอตัวลง และด้วยความไม่แน่นอนจากทางฝั่งรัสเซีย ทำให้ไม่สามารถทิ้งความน่าจะเป็นที่ Gazprom จะปิดท่อ NS1 ไปได้ ดังนั้นในแง่ของการลุงทุนนั้น นักลงทุนควรระมัดระวังการลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศยุโรปในช่วงครึ่งปีหลังนี้ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และอาจพิจารณาป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวโดยการกระจายการลงทุนบางส่วนไปในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะได้รับประโยชน์หากสถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising