×

ไม่ใช่แค่ทะเลาะกับหัวหน้า! การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ใครสักคนลาออก

23.06.2023
  • LOADING...
การเปรียบเทียบตัวเอง

ไม่ว่าจะในองค์กรไหน การสูญเสียพนักงานที่มีความสามารถเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และในตอนนี้เป็นช่วงที่องค์กรเริ่มสูญเสียพวกเขาบ่อยขึ้นด้วยเหตุผลของตลาดแรงงานที่ตึงเครียด และธรรมชาติของพนักงานความสามารถสูงที่มองหาโอกาสเติบโตอยู่เสมอ เมื่อองค์กรไม่สามารถให้ได้ตามที่หวัง

 

แต่องค์กรเหล่านั้นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาการสูญเสียทรัพยากร พวกเขาเริ่มลงแรงหาเครื่องมือที่จะช่วยพยากรณ์ความเสี่ยงในการสูญเสียได้ โดยเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยบอกว่าพนักงานคนไหนที่มีความเสี่ยงสูงในการลาออก ซึ่งเทคนิคที่พวกเขาเลือกใช้มีตั้งแต่เทคนิคธรรมดาอย่างสอดแนมผ่านกล้องวงจรปิด ไปจนถึงการรุกล้ำโซเชียลมีเดียของพนักงานเลยทีเดียว

 

วิธีที่ง่ายที่สุดคือการติดตามการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ของพนักงานว่าพวกเขาใช้มันไปกับการทำอะไร พวกเขาเปิดเว็บหางานหรือเปล่า หรือเปิดอีเมลเสนอตำแหน่งงานอ่านไหม ซึ่งมีงานสำรวจยืนยันว่าองค์กรหลายแห่งเริ่มให้ความสนใจกับการติดตามเรื่องนี้จริง และองค์กรใหญ่ก็เริ่มติดตามการตอกบัตรเข้างานแล้วว่าพนักงานเข้าออกอาคารในรูปแบบไหน หากมีวันไหนที่การตอกบัตรเข้างานผิดเพี้ยนไปก็อาจจะเป็นการที่พวกเขาแอบหนีไปสัมภาษณ์งานใหม่ได้

 

อาจฟังดูแย่ แต่ก็มีองค์กรที่เลือกการสอดแนมโซเชียลมีเดียของพนักงานอยู่จริง พวกเขาใช้บริการจากองค์กรที่พัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นเพื่อติดตามโซเชียลมีเดียของพนักงาน รวบรวมข้อมูลเพื่อไปวิเคราะห์ว่าพนักงานมีแนวโน้มที่จะหางานใหม่หรือไม่ พวกเขากำลังติดต่ออยู่กับใครบ้าง มีใครที่จะมีโอกาสหยิบยื่นหรือแนะนำตำแหน่งงานใหม่ที่ใกล้เคียงกับตำแหน่งงานเดิมของพวกเขาให้หรือเปล่า

 

ซึ่งผลการวิเคราะห์พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยสร้างข้อมูลใหม่ว่าเหตุใดพนักงานถึงอยากลาออก โดยปกติพนักงานมักจะลาออกเพราะมีปัญหากับหัวหน้า ไม่เห็นโอกาสในการเติบโต หรือได้รับการเสนอตำแหน่งที่ดีกว่าปัจจุบัน สามเหตุผลนี้ยืนหยัดมาอย่างยาวนานหากจะถามใครสักคนว่า “ทำไมถึงลาออก” 

 

แต่งานวิจัยใหม่จาก CEB องค์กรที่เชี่ยวชาญเรื่องข้อมูลเชิงลึกได้ค้นพบเหตุผลใหม่ว่าทำไมพนักงานถึงลาออก นั่นก็คือ ‘การเปรียบเทียบ’ เมื่อพนักงานเริ่มเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในทีม เปรียบเทียบตัวเองกับพนักงานระดับเดียวกัน พวกเขามีความสุขมากไปกว่ากันไหม พวกเขาอยู่จุดไหนของชีวิตแล้ว

 

ข้อมูลที่ส่งเสริมเหตุผลนี้คือพวกเขาพบว่า ‘วันครบรอบการทำงาน’ มักจะเป็นวันที่พนักงานคิดถึงชีวิตที่ผ่านมาในหน้าที่การงานของตัวเอง ส่งผลให้วันครบรอบการทำงานมักเกิดการหางานใหม่เพิ่มขึ้น จากการสำรวจพบว่าอัตราการหางานใหม่พุ่งขึ้นจาก 6% ไป 9% อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจคือ ‘วันเกิด’ ของพนักงานที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ช่วงอายุหลัก 40 หรือหลัก 50 พวกเขาจะคิดมากขึ้นว่าควรทำอย่างไรกับหน้าที่การงานดี ซึ่งอัตราการหางานใหม่ในช่วงวันเกิดนั้นสูงถึง 12% เลยทีเดียว

 

การเข้ากลุ่มสังคมขนาดใหญ่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้พนักงานคิดอยากหางานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงรุ่น หรือการสังสรรค์ที่ต้องพบปะคนที่ไม่เจอกันนานแล้ว บทสนทนาที่เกิดขึ้นในงานเลี้ยงเหล่านี้มักทำให้พวกเขากลับไปสะท้อนตัวเองว่าตอนนี้ทำอะไรอยู่ เปรียบเทียบกับคนอื่นว่ามันดีหรือแย่ไปกว่ากันอย่างไร ซึ่งอัตราการหางานใหม่หลังจากงานเลี้ยงรุ่นนั้นพุ่งขึ้นสูงที่สุดถึง 16%

 

จากงานวิจัยนี้จึงทำให้เราได้รู้ว่าเหตุผลของการที่คนคนหนึ่งจะลาออกอาจจะไม่ได้มีแค่เรื่องราวที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน แต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในใจของคนได้เช่นกัน ชีวิตของพวกเขากำลังเกิดอะไรขึ้น พวกเขากำลังรู้สึกอะไร ก็เป็นสิ่งที่ต้องเปิดใจ เรียนรู้ เพื่อที่จะป้องกันปัญหาการสูญเสียพนักงานความสามารถสูงไปอีกหนึ่งคน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X