หนังจำพวกหนึ่งที่คนดูมักจะพบเห็นอยู่เนืองๆ ก็คือหนังที่แบ่งแยกความคิดเห็นของคนดูออกเป็นสองขั้วอย่างชนิดดำกับขาว ฟ้ากับเหว นรกกับสวรรค์ หรืออีกนัยหนึ่ง ถ้าไม่ตกหลุมรักหนังเรื่องนั้นก็เกลียดชัง ถ้าไม่เห็นว่าเป็นงานขยะ มันก็คือทรัพย์สมบัติล้ำค่า และลูกทัวร์ของแต่ละฝ่ายก็ช่วยกันปกป้องความคิดเห็นของตัวเองแบบสุดลิ่มทิ่มประตู จนแทบไม่เหลือพื้นที่ให้กับความคิดเห็นแบบที่ไม่เอียงกระเท่เร่ไปทางหนึ่งทางใด
ถ้าจะลองลำดับคร่าวๆ กรณีคลาสสิกที่คนดู ‘เสียงแตก’ มากๆ ในตอนที่หนังออกฉายใหม่ๆ ก็คือผลงานของ Stanley Kubrick เรื่อง 2001: A Space Odyssey (1968) ที่ฟากหนึ่งบอกว่าเป็นผลงานล้ำลึกในเชิงปรัชญา แต่อีกฟากเห็นว่ามันคือยานอนหลับที่ออกฤทธิ์ฉับไวและรุนแรง อีกเรื่องที่ฝ่ายหนึ่ง ‘มองเห็นโคลนตม’ อีกฝ่ายหนึ่งกลับเห็น ‘ดวงดาวพราวพราย’ ก็คือ Lost in Translation (2003) ของ Sofia Coppola และในกรณีของหนังเรื่อง Mother! (2017) ผลงานกำกับของ Darren Aronofsky ฝ่ายการตลาดของหนังเรื่องดังกล่าวถึงกับนำโปสเตอร์ที่ประกอบด้วยทัศนะตรงข้ามกัน (“เลอเลิศ ผลงานมาสเตอร์ที่สร้างความปั่นป่วนทางอารมณ์ชั้นเยี่ยม”, “หนังที่แหกโค้งตกรางอย่างน่าเวทนา”) มาเป็นจุดขายของภาพยนตร์
และก็ตามที่จั่วหัวเรื่องไว้เลย หมวดหมู่ของหนังประเภทที่ถ้าคนดูไม่ชอบก็ชัง ก็ได้ให้การต้อนรับสมาชิกรายล่าสุด นั่นคือ หนังสัญชาติฝรั่งเศสเรื่อง Emilia Pérez งานกำกับของ Jacques Audiard (A Prophet, Dheepan) ซึ่งในด้านหนึ่ง ตัวหนังได้รับการแซ่ซ้องสรรเสริญทำนองว่านี่คือผลงานที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง รวมทั้งหนังยังเก็บกวาดความสำเร็จจากหลายสถาบัน โดยเฉพาะ jury prize และนักแสดงหญิงยอดเยี่ยม (4 คน) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีกลาย ขณะที่บนเวทีออสการ์ Emilia Pérez ก็ยังถูกเสนอชื่อชิง (เกือบ) สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึงสิบสามรางวัล
แต่อีกด้านหนึ่ง Emilia Pérez ก็ถูกวิจารณ์อย่างหนัก หลายคนพูดว่านี่เป็นหนังตื้นเขิน ไร้จิตวิญญาณ บ้างก็บอกด้วยว่าความน่าเบื่อของหนังเป็นเรื่องร้ายแรงพอๆ กับการก่ออาชญากรรม ขณะที่การผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างหนังเพลงกับแนวแก๊งสเตอร์รวมถึงเมโลดราม่า ก็ถูกจำกัดความว่าเข้าขั้นหายนะ หรือฉากร้องรำทำเพลงที่ทั้งเนื้อร้อง ทำนอง และการออกแบบท่าเต้น ดูเคอะเขิน ประดักประเดิด เสแสร้งแกล้งทำ หน้าไม่อายและผิดที่ผิดทาง ใครได้ดูก็ล้วน ‘หงิกงอทางความรู้สึก’ ไปตามๆ กัน
ทั้งหลายทั้งปวง ยังไม่ต้องเอ่ยถึงดราม่าที่ปะทุหลังจากหนังออกฉาย ทั้งการให้สัมภาษณ์ของผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่ออกมายอมรับทำนองว่า เขาไม่ได้ศึกษาตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับประเทศเม็กซิโก อันส่งผลให้การนำเสนอภาพลักษณ์ของเม็กซิโกในฐานะดินแดนบ้านป่าเมืองเถื่อน ไร้ขื่อแป และเป็นแหล่งสิงสถิตของเจ้าพ่อค้ายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล ก็เหยียบย่ำความรู้สึกของผู้ชมเจ้าของประเทศอย่างรุนแรง (แถมหนังก็ยังไม่ได้ถ่ายทำในเม็กซิโกด้วยซ้ำ) ทำนองเดียวกัน ชุมชน LGBTQ มองว่าหนังของ Audiard ผลิตซ้ำภาพลักษณ์จำเจและสำเร็จรูปของผู้หญิงข้ามเพศและมันสะท้อนชัดแจ้งว่าผู้สร้างซึ่งเป็นผู้ชายทั้งแท่งไม่ได้เข้าใจความหลากหลายทางเพศเอาซะเลย หรือว่ากันตามจริง หนังเรื่อง Emilia Pérez ถือเป็นการก้าวถอยหลังอย่างขุ่นเคือง
แต่ว่าไปแล้ว ระเบิดลูกใหญ่ที่สร้างความเสียหายให้กับตัวหนังวงกว้างเกี่ยวข้องกับความปากแจ๋วของ Karla Sofía Gascón จากการที่มีคนไปขุดคุ้ยทวีตเก่าๆ ที่สะท้อนความคิดเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติของเจ้าตัว จนส่งผลให้ Netflix ซึ่งได้สิทธิ์จัดจำหน่ายหนังในทวีปอเมริกาเหนือ ตัดสินใจยกเลิกการสนับสนุน Gascón ในการเดินสายโปรโมทหนังของเธอช่วงเทศกาลชิงรางวัล
และผลลัพธ์บนเวทีรางวัลของหลายสถาบันหลังจากนั้นก็ชวนให้สรุปได้ว่า หนังได้รับผลกระทบจากกรณีวุ่นวายที่เกิดขึ้นค่อนข้างแน่ หนังชนะออสการ์เพียงสองรางวัล (สมทบหญิงยอดเยี่ยม และเพลงประกอบยอดเยี่ยม) และพลาดรางวัลสำคัญทั้งที่มีสถานะเป็นตัวเต็ง อันได้แก่หนังนานาชาติยอดเยี่ยม ขณะที่สถาบันอื่นๆ ที่ประกาศรางวัลภายหลังเหตุอื้อฉาวก็ตอบรับหนังเรื่องนี้ด้วยท่าทีเย็นชา
แต่ความสำเร็จหรือล้มเหลวของหนังบนเวทีรางวัลก็เรื่องหนึ่ง (เพราะเอาเข้าจริงๆแล้ว รูปการณ์ของมันไม่ได้แตกต่างจากการรณรงค์หาเสียงทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างชักจูงให้คนมาลงคะแนนให้หนังของตัวเอง) การประเมินคุณค่าในทางศิลปะของหนังก็เป็นอีกเรื่องโดยสิ้นเชิง
เผื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้น Emilia Pérez เล่าเรื่องของ Rita (Zoe Saldaña) ทนายความสาวผู้ซึ่งต้องกล้ำกลืนสำนึกผิดชอบชั่วดีของตัวเองจากการที่เธอใช้แท็กติกทางกฎหมายจนเหล่าอาชญากรลอยนวล ล่าสุด เธอได้รับการติดต่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าพ่อค้ายาเสพติดที่ชื่อ Manitas (Karla Sofía Gascón) ผู้ซึ่งฆ่าคนมานับไม่ถ้วน เจตจำนงของเขาคือการแปลงเพศ ทำนองว่านี่คือตัวตนแท้จริงและเป็นสิ่งที่โหยหามานาน โดยปริยาย ชื่อหนัง Emilia Pérez ก็คือชื่อใหม่ของเจ้าพ่อคนดังกล่าวนั่นเอง และพร้อมๆ กับการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งกายและใจของเจ้าพ่อ ประเด็นการแสวงหาหนทางชำระความผิดบาปของตัวละครทั้งสองก็เป็นเสมือนดีเอ็นเอ.ที่แทรกซึมอยู่ในทุกอณู
ว่าไปแล้ว ปมเรื่องพิลึกพิลั่นว่าด้วยแก๊งสเตอร์จอมเหี้ยมอยากแปลงเพศ ก็มีลักษณะปาหี่ หรือเล่นใหญ่เกินกว่าเหตุ แต่ใครที่เป็นแฟนผลงานของคนทำหนังชั้นครู Pedro Almodovar ที่หนังหลายเรื่องของเจ้าป้าพูดถึงตัวละครข้ามเพศและความลับที่คาดไม่ถึง (Law of Desire, All About My Mother, The Skin I Live In) ก็คงเห็นพ้องว่าพล็อตทำนองนี้ไม่จำเป็นต้องลงเอยด้วยการเรียกร้องความสนใจแต่เพียงอย่างเดียว ปัญหาของ Emilia Pérez อยู่ตรงที่สิ่งละอันพันละน้อยหลังจากนั้นไม่ได้สร้างความหนักแน่นชอบธรรมให้กับปมเรื่องที่ผูกไว้อย่างหวือหวา ทว่ากลายเป็นการโหมกระพือให้หนังยิ่งดูคร่ำครวญฟูมฟาย และลงเอยด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ท่วมท้นเจิ่งนอง
ขณะที่ในความเป็นหนังเพลง Emilia Pérez ฉีกตัวเองจากขนบของความเป็น ‘ฮอลลีวูดมิวสิคัล’ อย่างสุดกู่ทีเดียว ที่แน่ๆ ตัวละครไม่ต้องการข้ออ้างในการร้องเพลงเต้นรำ และสามารถจะบอกเล่าความรู้สึกนึกคิด ออกมาเป็นคำร้องประกอบทำนองได้อย่างปัจจุบันทันด่วน ลักษณะคล้ายๆ กับหนังเพลงของ Jacques Demy เรื่อง The Umbrellas of Cherbourg หรือจริงๆ มันก็อาจจะนับเป็นรูปแบบหนึ่งของโอเปร่าที่ตัวละครโต้ตอบกันด้วยการพูดแบบมีท่วงทำนอง ได้ด้วยเช่นกัน
กระนั้นก็ตาม พูดไม่ได้เต็มปากว่าผลลัพธ์สุดท้ายออกมาน่าพอใจ บางเพลงถูกนำเสนอออกมาได้น่าตื่นตา หนึ่งในนั้นได้แก่ฉากที่เปิดโอกาสให้ญาติมิตรของเหยื่อที่หายสาบสูญจากความโหดร้ายของแก๊งค้ายา ได้พรั่งพรูสิ่งที่ถูกเก็บกดอัดอั้น และประสานเสียงร้องขอความเป็นธรรม ผ่านเสียงเพลงที่ชื่อ Para ซึ่งทั้งคำร้อง ทำนองและกลวิธีทางด้านภาพ ผสมกลมกลืนได้หมดจดงดงาม หรือฉากที่ตัวละครร้องเพลง El Mal (ซึ่งเป็นเพลงชนะรางวัลออสการ์) ในงานกาลาดินเนอร์ระดมทุนช่วยเหลือผู้สูญหาย และคนดูได้เห็น Zoe Saldaña โชว์สเต็ปการเต้นที่น่าทึ่ง ก็เป็นฉากที่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ เพราะมีเหตุผลร้อยแปดพันประการที่วิธีการนำเสนออย่างฉูดฉาดและเวอร์วัง จะสร้างความน่าอับอายขายหน้าให้กับหนังทั้งเรื่อง
แต่ฉากที่น่าจะทำให้คนดูจำนวนไม่น้อยพูดไม่ออกบอกไม่ถูกก็ไม่ได้มีเพียงแค่หนึ่งหรือสองเพลง ที่แน่ๆ ฉากที่ Rita (Zoe Saldaña) ทนายความสาวเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อสอบถามข้อมูลเรื่องศัลยกรรมการแปลงเพศให้กับเจ้าพ่อค้ายา ผ่านเสียงเพลงที่ซุกซ่อนอารมณ์ขัน La Vaginoplastia ก็เป็นห้วงเวลา ‘เหวอแ-ก’ และน่าจะผ่าความเห็นคนดูออกเป็นสองซีก ระหว่างช่างคิด ช่างจินตนาการกับความไร้รสนิยมและน่าหัวเราะเยาะ และอีกครั้ง ฉากที่ตัวละครพูดออกมาเป็นเสียงเพลง (El Encuentro) ก็น่าสงสัยว่าสุนทรียะและความไพเราะของมันอยู่ตรงไหน
แต่ก็นั่นแหละ ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือต่อต้าน น่าเชื่อว่าการแสดงที่ดึงดูด เข้มข้นและอัดแน่นของ Zoe Saldaña น่าจะได้รับเสียงแซ่ซ้องอย่างพร้อมเพรียง แอ็กติ้งของเธอมีส่วนทำให้ตัวละครที่ค่อนข้างมีมิติเดียว กลับสอดแทรกไว้ด้วยความมีชีวิตชีวา คนดูสามารถหยั่งได้ถึงตื้นลึกหนาบางของตัวละคร และการชนะรางวัลออสการ์นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมของเธอเป็นเรื่องที่ขาวสะอาด ปราศจากข้อสงสัยด้วยประการทั้งปวง
กล่าวในที่สุดแล้ว ก็อย่างที่รู้ๆ กัน คนดูมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะคิดเห็นกับหนังเรื่องนี้หรือเรื่องอื่นๆ อย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น กระนั้นก็ตาม ทัศนะที่หันเหไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าชื่นชมหรือด่าทอหนัง มองเห็นว่ามันคือหนังขึ้นหิ้งหรือลานจอดรถทัวร์แต่เพียงอย่างเดียว อาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์โพดผลเท่ากับการได้รับรู้ว่าหนังจุดประกายความคิดเห็นที่หลากหลาย และไม่เหมือนกับของเราอย่างไร ในมุมส่วนตัว ถ้าหากมีใครถามว่าคิดเห็นอย่างไร ก็ต้องบอกว่ามันเป็นหนังครึ่งๆ กลางๆ มีทั้งส่วนที่น่าทึ่ง และส่วนที่ ‘อิหยังวะ’ ซึ่งชั่งตวงวัดแล้วก็ขอประเมินคุณค่าสั้นๆ ว่า Emilia Pérez เป็นหนัง ‘ก้ำกึ่ง คาบลูกคาบดอก และลูกผีลูกคน’
Emilia Pérez (2024)
กำกับ-Jacques Audiard
ผู้แสดง- Zoe Saldaña, Karla Sofía Gascón, Selena Gomez, Adriana Paz