×

ครบรอบ 1 ปี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไทม์ไลน์การห้ามชุมนุม การป้องกันโควิด-19 ที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร

24.03.2021
  • LOADING...
ครบรอบ 1 ปี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ไทม์ไลน์การห้ามชุมนุม การป้องกันโควิด-19 ที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • การห้ามชุมนุมเพื่อป้องกัน ‘การระบาดของโควิด-19’ ไม่เหมือนกับการป้องกัน ‘การก่อการร้าย’ เสียทีเดียว เพราะการชุมนุมกันไม่ได้ทำให้เกิดการระบาดเสมอไป โดยเฉพาะถ้าผู้ร่วมชุมนุมสวมหน้ากากและรวมตัวกันในพื้นที่เปิด ความเสี่ยงของการแพร่เชื้อก็จะลดลง 
  • ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 เริ่ม 26 มีนาคม ห้ามชุมนุมเพราะมีการระบาดเป็นวงกว้างในประเทศ, ระยะที่ 2 เริ่ม 1 สิงหาคม ต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แต่ไม่ห้ามชุมนุม และระยะที่ 3 เริ่ม 25 ธันวาคม 2563 ห้ามชุมนุมในการระบาดระลอกใหม่
  • ถึงแม้จะมีการชุมนุมในที่สาธารณะหลายครั้ง แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดจากกลุ่มผู้ชุมนุม ทว่ากลับพบการระบาดจากการรวมตัวกันในพื้นที่ส่วนบุคคล หรือกิจการ/กิจกรรมที่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจในปีที่ 2 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มาตรการป้องกันโรคที่เหมาะสมสำหรับการชุมนุมควรเป็นอย่างไร

วันที่ 25 มีนาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันครบรอบ 1 ปีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในบรรดามาตรการทั้งหมด ‘การห้ามชุมนุม’ นอกจากจะเป็นมาตรการที่ควบคุมโควิด-19 แล้ว ในเชิงปฏิบัติยังสามารถควบคุมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอีกด้วย

 

‘ข้อ 5 การห้ามชุมนุม ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประกาศกำหนด’ – ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563

 

คำว่า ‘ชุมนุม’ ที่เป็นคำกริยา ราชบัณฑิตยสถานแปลว่า ‘ประชุม รวมกัน’ ส่วนคำว่า ‘มั่วสุม’ แปลว่า ‘ชุมนุมกันเพื่อกระทำการในทางไม่ดี เช่น มั่วสุมเล่นการพนัน’ ประชาชนจึงไม่สามารถรวมตัวกันได้ตามกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ไม่ได้มีการกำหนดจำนวนคน ต่างจากกฎอัยการศึกที่เคยประกาศเมื่อปี 2557 ว่าห้ามการชุมนุม ‘…ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป’

 

ถึงแม้จะระบุว่า ‘ณ ที่ใดๆ’ แล้วก็ยังมีการระบุถึง ‘สถานที่แออัด’ ด้วย คำว่า ‘แออัด’ แปลว่า ‘ยัดเยียด แน่น อัดแอ ก็ว่า’ สถานที่แออัดจึงเป็นสถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ถ้าเทียบเคียงกับมาตรการทางสาธารณสุขว่า ‘เว้นระยะห่าง 1-2 เมตร’ อาจคิดเป็นพื้นที่อย่างน้อย 1 ตารางเมตรต่อคน (ข้างละ 0.5 เมตร) ถ้าน้อยกว่านี้ก็จะถือว่ามีความแออัด

 

อย่างไรก็ตาม ‘เขตพื้นที่’ ที่หัวหน้าความมั่นคงกำหนดในประกาศเรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ลงวันที่ 3 เมษายน 2563 คือ ‘ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่เป็นการทำกิจกรรมภายในครอบครัวที่อยู่ในเคหสถานของตนเองหรือของราชการ ซึ่งมีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลที่ปลอดภัย’

 

เท่ากับว่าประชาชนยังสามารถรวมตัวกันได้ภายในบ้านของตนเองหรือสถานที่ทำงาน แต่จะต้องมีมาตรการเว้นระยะห่างด้วย ข้อยกเว้นนี้ไม่ครอบคลุม ‘การชุมนุมสาธารณะ’ ซึ่งตาม พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 หมายความว่า ‘การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง’

 

ความหมายนี้ครอบคลุม ‘ม็อบ’ ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เช่น เยาวชนปลดแอก, คณะราษฎร 2563 ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล เช่น อาชีวะช่วยชาติ, ไทยภักดี หรือฝ่ายประท้วงนโยบายของรัฐ เช่น กลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ เราไม่ทิ้งกัน, เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นตามรัฐธรรมนูญ

 

เพียงแต่ในเวลาเดียวกันประเทศก็ประสบกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งถูกประกาศให้เป็น ‘โรคติดต่ออันตราย’ ตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 โดยผู้ป่วยจะ ‘มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรือมีอาการของโรคปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลวและอาจถึงขั้นเสียชีวิต’

 

การติดต่อและการป้องกันโควิด-19

โควิด-19 ติดต่อผ่านละอองสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ (Droplets Transmission) เช่น น้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ที่เกิดจากการพูด ไอ จามของผู้ป่วย โดยละอองเหล่านี้จะกระเด็นออกไปได้ไกล 1-2 เมตร (ถ้าอ้างอิงองค์การอนามัยโลกคือ 1 เมตร แต่ถ้าอ้างอิงศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ US CDC จะเป็น 6 ฟุต)

 

จึงเป็นที่มาของมาตรการ ‘เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล’ (Physical Distancing) หรือ ‘เว้นระยะห่างทางสังคม’ อย่างน้อย 1-2 เมตร และในคู่มือสอบสวนโรคของกรมควบคุมโรคได้นิยาม ‘ผู้สัมผัสใกล้ชิด’ (Close Contact) ว่าเป็น ‘ผู้ที่อยู่ใกล้หรือมีการพูดคุยกับผู้ป่วยในระยะ 1 เมตร เป็นเวลานานกว่า 5 นาที หรือถูกไอจามรดจากผู้ป่วย’

 

แต่ในพื้นที่ปิด โรคนี้อาจติดต่อกันผ่านทางอากาศ (Airborne Transmssion) โดยในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวกทำให้ละลองสารคัดหลั่งที่มีขนาดเล็กลอยอยู่ในอากาศได้นานและไกลกว่าปกติ ดังนั้นผู้ที่อยู่เกินระยะ 1-2 เมตรก็สามารถติดเชื้อได้ ตัวอย่างเช่น คลัสเตอร์นักร้องประสานเสียงในโบสถ์ที่วอชิงตัน หรือในไทยน่าจะเป็นคลัสเตอร์สนามมวย

 

มาตรการที่สำคัญที่สุดจึงเป็น ‘สวมหน้ากาก’ ในสถานที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่อ ‘ลดความเสี่ยง’ ในการแพร่กระจายเชื้อทั้ง Droplets และ Airborne Transmission เพราะถ้าผู้ป่วยสวมหน้ากากก็จะป้องกันละอองสารคัดหลั่งกระเด็นออกไป แต่ถ้าคนปกติสวมใส่ก็จะป้องกันการสูดหายใจเอาละอองเหล่านั้นเข้ามา

 

ส่วนการติดต่อผ่านการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อ แล้วนำมือมาป้ายบริเวณใบหน้า (Indirect Contact Transmission) ตามหลักการแล้วมีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจได้ เป็นที่มาของมาตรการ ‘ล้างมือบ่อยๆ’ แต่สำหรับโควิด-19 ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุน ดังนั้นการติดต่อของโรคนี้จึงผ่านละอองสารคัดหลั่งในระยะ 1-2 เมตรเป็นหลัก

 

เมื่อมอง ‘การชุมนุม’ ผ่านการติดต่อของโควิด-19 ย่อมทำให้เห็นความเสี่ยงในการระบาดของโรค เพราะเป็นการรวมตัวของคนจำนวนมาก ไม่สามารถบริหารจัดการให้ทุกคนอยู่ห่างกัน 1-2 เมตรได้ตลอดเวลา และผู้ร่วมกิจกรรมเดินทางมาจากหลายพื้นที่ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการนำเชื้อจากพื้นที่หนึ่งเข้ามาและกระจายออกไปยังพื้นที่อื่นได้

 

 

สถานการณ์โควิด-19 และพัฒนาการของข้อกำหนด

การชุมนุมทางการเมืองในปี 2563 เริ่มต้นก่อนการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แต่ไล่เลี่ยกับการระบาดของโควิด-19 โดยในวันที่ 12 มกราคมที่มีการประกาศพบผู้ป่วยภายในประเทศเป็นรายแรกมีการจัดกิจกรรม ‘วิ่งไล่ลุง’ ที่สวนรถไฟ (ก่อนหน้านั้น 2 วัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็จัดกิจกรรม ‘วิ่งไล่ยุง’ ในพื้นที่ของกระทรวง จังหวัดนนทบุรี)

 

ต่อมาวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ นักศึกษาเริ่มออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยในหลายมหาวิทยาลัย รวมถึงนักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยสะสมคงที่ 35 รายระหว่างวันที่ 17-24 กุมภาพันธ์ และส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยจากต่างประเทศ (Imported Case) 

 

ถึงแม้กระทรวงอุดมศึกษาจะประกาศ “ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการชุมนุมนักศึกษา…เป็นจำนวนมาก” ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ แต่ก็ยังมีการชุมนุมต่อเนื่องจนถึงต้นเดือนมีนาคม ที่มีการระบาดในสถานบันเทิงย่านทองหล่อ และการค้นพบ ‘คลัสเตอร์สนามมวย’ หลังจาก แมทธิว ดีน ประกาศว่าตนเองติดโควิด-19 ในวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม

 

วันที่ 21 มีนาคม ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ประกาศ ‘ล็อกดาวน์’ คนทยอยเดินทางออกต่างจังหวัด ประกอบกับคลัสเตอร์สนามมวยบางคนอยู่ต่างจังหวัดอยู่แล้ว ทำให้พบผู้ป่วยกระจายทั่วประเทศราวกับควบคุมการระบาดไม่ได้ นายกรัฐมนตรีประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในวันที่ 25 มีนาคม และมีผลบังคับใช้ในวันถัดมา ซึ่งเป็นวันที่ไทยมีจำนวนผู้ป่วยเกิน 1,000 ราย

 

ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 1) เป็นจุดเริ่มต้นของการห้ามชุมนุมโดยรัฐบาล ตลอด 1 ปีที่ผ่านมามีขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรวมทั้งหมด 11 ครั้ง สามารถแบ่งประกาศที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมออกเป็น 3 ระยะตามความเข้มงวดคือ

 

  • ระยะที่ 1 วันที่ 26 มีนาคม-31 กรกฎาคม 2563
  • ระยะที่ 2 วันที่ 1 สิงหาคม-24 ธันวาคม 2563
    • ระยะที่ 2.5 วันที่ 15-22 ตุลาคม 2563
  • ระยะที่ 3 วันที่ 25 ธันวาคม 2563-ปัจจุบัน

 

ต้นเดือนเมษายน จำนวนผู้ป่วยลดลงจากหลักร้อยเหลือหลักสิบและคงที่ จนถึงปลายเดือนจำนวนผู้ป่วยลดลงเหลือหลักหน่วย วันที่ 13 พฤษภาคมเป็นวันแรกที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ในรอบ 65 วัน วันที่ 22 มิถุนายนไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศครบ 28 วัน หรือสองเท่าของระยะฟักตัว ทว่ารัฐบาลก็ต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เป็นคราวที่ 3 (1-31 กรกฎาคม)

 

 

ถึงแม้ประกาศที่เกี่ยวกับการห้ามชุมนุมจะยังคงอยู่ แต่กลุ่ม ‘เยาวชนปลดแอก’ ก็นัดชุมนุมครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 18 กรกฎาคม พร้อมกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ แกนนำในวันนั้นต่างถูกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ประมวลกฎหมายอาญา รวมถึง พ.ร.บ. โรคติดต่อ โดยกล่าวหาว่าการชุมนุมเป็นการกระทำที่ไม่ถูกสุขลักษณะ

 

แต่สังเกตข้อความที่กลุ่มนี้โพสต์ในวันที่ 16 กรกฎาคม เชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมชุมนุม และแนะนำมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วยว่า ‘…มุ่งตรงไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ลุกขึ้นสู้กับต้นตอของปัญหา ถอนโคนเผด็จการที่ฝังรากลึกมายาวนาน *โปรดสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลล้างมือ…ให้มันจบในรุ่นของเรา’

 

ในขณะที่สัปดาห์ก่อนหน้านั้นรัฐบาลถูกตำหนิเรื่อง ‘การ์ดตกเสียเอง’ จากกรณีทหารอียิปต์ จังหวัดระยอง ซึ่งไม่มีการกักตัว แต่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ในภายหลัง และกรณีบุตรอุปทูตซูดาน ซึ่งเข้ากักตัวในคอนโดย่านสุขุมวิท กรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะมีผลการตรวจพบเชื้อออกมาในภายหลังเช่นกัน จนทำให้ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อนจากความหละหลวมของมาตรการ

 

ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มีการผ่อนปรนมาตรการห้ามชุมนุม โดยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมว่า “ทางหน่วยงานจะไม่ใช้มาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มาห้ามการชุมนุม เพื่อแสดงให้เห็นว่า พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่จะต่อในเดือนสิงหาคมนี้ มีเจตนาโดยบริสุทธิ์ใจเพื่อใช้ควบคุมโรคเพียงอย่างเดียว”

 

นำมาสู่ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 13 ที่ระบุว่า “ข้อ 1 การจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม การจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มหรือการใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ท่ีกำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ

 

และให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมจัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดด้วย โดยนัยคือรัฐบาลควบคุมการระบาดได้แล้ว จึงไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการห้ามการชุมนุมได้อีกต่อไป ความจริงไม่มีความจำเป็นต้องต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ด้วยซ้ำ แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อได้

 

ระหว่างนี้มีการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนหลายครั้ง เช่น ‘#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในวันที่ 7 สิงหาคม, ‘ขีดเส้นตาย ไล่เผด็จการ’ ของคณะประชาชนปลดแอกในวันที่ 16 สิงหาคม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมถึงหลักหมื่นคน, ‘19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร’ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ แต่ก็ไม่พบการระบาดในกลุ่มผู้ชุมนุม

 

วันที่ 4 กันยายน ระหว่างที่ผู้ชุมนุมเตรียมเคลื่อนไหววันครบรอบรัฐประหาร กรมควบคุมโรครายงานผู้ป่วยภายในประเทศอีกครั้งในรอบ 100 วัน เป็นผู้ต้องขังใหม่ อาชีพดีเจสถานบันเทิง 3 แห่งในกรุงเทพมหานคร การสอบสวนโรคไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม แต่ด้วยระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการนัดชุมนุมใหญ่ ทำให้มีผู้สงสัยว่าข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องจริงหรือไม่ 

 

ระยะที่ 2.5 กลางเดือนตุลาคมขณะที่มีการระบาดของโควิด-19 ทางชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก วันที่ 14 ตุลาคมก็มีการชุมนุมของ ‘คณะราษฎร’ ส่วนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็มีการชุมนุมของกลุ่ม ‘ไทยภักดี’ และเกิดความวุ่นวายกรณีขบวนเสด็จฯ ขึ้น เช้าวันต่อมารัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และเข้าสลายการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล

 

ถึงแม้จะมีข้อกำหนดซ้อนขึ้นมาระบุว่า ‘ข้อ 1 ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ต้ังแต่ 5 คนข้ึนไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย’ แต่คณะราษฎรก็ยังนัดชุมนุมและเปลี่ยนสถานที่ทุกวัน จนกระทั่งนายกฯ ‘ถอยคนละก้าว’ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในวันที่ 22 ตุลาคม

 

สาเหตุที่แบ่งย่อยอยู่ในระยะที่ 2 เนื่องจากการห้ามชุมนุมนี้ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 สังเกตว่ามีการจำกัดจำนวนคนในการชุมนุมไม่ให้เกิน 5 คน และต่างจากโควิด-19 ที่จะประกาศรายละเอียดในกฎหมายที่มีลำดับรองลงไป แต่กระทรวงสาธารณสุขก็สื่อสารว่าการชุมนุมในระยะนี้มีความเสี่ยงต่อการระบาด คล้ายกับการเตือนไม่ให้เข้าร่วมชุมนุม

 

โดยกระทรวงฯ ระบุว่า ‘…ขอความร่วมมือทุกคนหลังกลับจากการเข้าร่วมชุมนุมให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเองจนครบ 14 วัน วัดไข้ ใส่หน้ากาก แยกสำรับอาหารและของใช้ส่วนตัว ป้องกันการแพร่เชื้อให้คนในครอบครัว… หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก การรับรส กลิ่นลดลง ให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที’ 

 

หลังจากวันที่ 22 ตุลาคม การชุมนุมก็ยังคงจัดภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่ไม่ได้บังคับใช้มาตรา 9 เหมือนเดิม เช่น การยื่นหนังสือหน้าสถานทูตเยอรมนีในวันที่ 26 ตุลาคม, การชุมนุมกดดันให้สมาชิกรัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน, #25พฤศจิกายนไปSCB แต่แกนนำถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญาแทน

 

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศถือว่า ‘ควบคุมได้ดี’ มาตลอด ปลายพฤศจิกายนมีการระบาดที่ท่าขี้เหล็ก เมียนมา ซึ่งคนไทยที่ไปทำงานในสถานบันเทิงเดินทางกลับมาผ่านช่องทางธรรมชาติถูกตรวจพบว่าติดเชื้อหลายราย แต่ก็ยังสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างได้ สาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะการตั้งสถานกักกันโรคในพื้นที่ (LQ)

 

 

จนกระทั่งวันที่ 17 ธันวาคม ผู้ว่าฯ สมุทรสาครแถลงข่าวพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ เป็นเจ้าของแพในตลาดกลางกุ้ง แต่ทว่ากลับเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งที่ทำให้ค้นพบ ‘การระบาดระลอกใหม่’ ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่อยู่ใต้น้ำมาระยะหนึ่งแล้ว นำไปสู่การประกาศจำกัดพื้นที่และห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัดตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคมเป็นต้นมา

 

ระยะที่ 3 วันที่ 25 ธันวาคม รัฐบาลนำเนื้อหาการห้ามชุมนุมในข้อกำหนดฉบับที่ 1 มาประกาศใช้อีกครั้งในฉบับที่ 15 พร้อมกับประกาศหัวหน้าความมั่นคงในวันที่ 29 ธันวาคม กำหนดมาตรการตามการแบ่งพื้นที่คือ ห้ามการชุมนุมใน ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุด’ หรือ ‘พื้นที่ควบคุม’ ส่วน ‘พื้นที่เฝ้าระวังสูง’ หรือ ‘พื้นที่เฝ้าระวัง’ ต้องขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน

 

สถานการณ์การระบาดยังแย่ลงอีกเมื่อวันที่ 26 ธันวาคมมีรายงาน ‘คลัสเตอร์บ่อยการพนัน’ จังหวัดระยอง และอีก 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ในช่วงไล่เลี่ยกันยังมี ‘คลัสเตอร์สนามชนไก่’ จังหวัดอ่างทอง และ ‘คลัสเตอร์สถานบันเทิง’ จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงปีใหม่ 2564 ทำให้จำนวนผู้ป่วยสะสมในไทยทะลุ 10,000 รายในวันที่ 9 มกราคม 2564

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ประกาศ ‘มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ’ ในวันที่ 3 มกราคม ด้วยการยกระดับ 28 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) และ 5 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเลือดหมู) จากเดิมที่ให้แต่ละจังหวัดประกาศพื้นที่เองในช่วงปลายปี เพื่อปิดสถานที่เสี่ยง ปิดร้านอาหารก่อนเวลา และจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด

 

ปัจจุบันรัฐบาลประกาศผ่อนคลายมาตรการในการระบาดระลอกใหม่มาแล้ว 3 ครั้ง คือในวันที่ 29 มกราคม (เริ่มบังคับใช้ 1 กุมภาพันธ์) เหลือพื้นที่สีแดง 4 จังหวัด, ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ไม่มีพื้นที่สีแดง และในวันที่ 19 มีนาคม ลดระดับจังหวัดสมุทรสาครเป็นพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) แต่ยังคงมีคำสั่งห้ามชุมนุมตามประกาศหัวหน้าความมั่นคง ลงวันที่ 5 มีนาคม

 

 

ช่องโหว่ของการห้ามชุมนุม

การห้ามชุมนุมเพื่อป้องกัน ‘การระบาดของโควิด-19’ ไม่เหมือนกับในการป้องกัน ‘การก่อการร้าย’ หรือภัยต่อความมั่นคงของรัฐที่ผ่านมาเสียทีเดียว เพราะการชุมนุมกันไม่ได้ทำให้เกิดการระบาดเสมอไป เนื่องจากยังสามารถป้องกันตัวด้วยวิธีอื่นได้ โดยเฉพาะถ้าทุกคนที่มารวมตัวกันสวมหน้ากาก ความเสี่ยงของการแพร่เชื้อก็จะลดลง 

 

เช่น การรวมตัวกันในห้องประชุมของหน่วยงานราชการ ทุกคนสวมหน้ากาก ถึงแม้ผู้ป่วยจะนั่งประชุมด้วย ก็ไม่มีรายงานการระบาดในกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุม, การรวมตัวกันบนรถไฟฟ้าที่แออัดในกรุงเทพมหานคร แต่ผู้โดยสารทุกคนสวมหน้ากากจึงไม่เกิดการแพร่เชื้อ (การนั่งประชุมอาจมีการจัดที่นั่งให้ห่างกัน แต่การโดยสารรถประจำทางมักเว้นระยะห่างได้ยาก)

 

แต่การระบาดหลายครั้งกลับเกิดขึ้นในการรวมตัวกันที่ไม่มีการสวมหน้ากาก เช่น ตลาดสด บ่อนการพนัน (สองกรณีนี้เกิดขึ้นก่อนจะมีการห้ามชุมนุมในการระบาดระลอกใหม่) สถานบันเทิง งานเลี้ยง ตัวอย่างกรณีปาร์ตี้ดีเจชื่อดัง และงานเลี้ยงโต๊ะแชร์ จังหวัดมหาสารคาม และตลาดสด (อีกครั้ง) ในจังหวัดปทุมธานี และย่านบางแค กรุงเทพมหานคร

 

ในทางปฏิบัติแล้ว หลายกรณี พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เข้าไม่ถึง เพราะเป็นการรวมตัวกันในพื้นที่ส่วนบุคคล ทั้งที่การรวมตัวกันใน ‘สถานที่ปิด’ มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสูงกว่าใน ‘พื้นที่เปิด’ โดยในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ศบค. ได้ยกกรณีตัวอย่างการจัดงานเลี้ยงส่วนตัว 4 เหตุการณ์ในกรุงเทพมหานคร ที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อในกลุ่มผู้ร่วมงาน 30-100%

 

และการศึกษาเพิ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Infectious Diseases เมื่อกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมาก็ยืนยันว่าในการระบาดที่เกิดขึ้น มีการระบาดนอกอาคารเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 10% และความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อภายในอาคารมากกว่าถึง 18.7 เท่า เพราะฉะนั้น ศบค. จึงควรทบทวนประสิทธิภาพของมาตรการห้ามชุมนุมตลอด 1 ปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้หลายกรณียังเป็นกิจการ/กิจกรรมที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันหรือทางเศรษฐกิจ ซึ่ง ศบค. ผ่อนผันให้จัดได้ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่เหมาะสม ต่างจากการชุมนุมทางการเมืองที่ถูกสั่งห้าม สะท้อนว่ารัฐบาลไม่เห็น ‘ความจำเป็น’ ของการแสดงความเห็นของประชาชน โดยเฉพาะฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล

 

ปีถัดไปของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

ในวันที่ 3 มีนาคม 2564 เลขาธิการ สมช. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าจะมีการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในอีก 2-3 เดือนนี้ แล้วใช้กฎหมายปกติแทน โดยเป็นคำสั่งของนายกฯ ให้เตรียมการพร้อมเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ถ้าเปรียบเทียบจากแผนผ่อนคลายมาตรการอื่นแล้วก็น่าจะประมาณเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งจะมีจำนวนผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น

 

การห้ามชุมนุมก็ต้องถูกยกเลิกไปด้วย และการบังคับใช้กฎหมายน่าจะกลับมาคล้ายกับระยะที่ 2 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 คือผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ และ พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ ที่ถ้าหากภาครัฐเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็นก็จะกำหนดมาตรการ ‘การป้องกันโรคที่เหมาะสม’ มากกว่า ‘การห้ามชุมนุม’ เด็ดขาด

 

โดยมาตรการป้องกันโรคที่เหมาะสมน่าจะคล้ายกับการจัดงานของหน่วยงานราชการหรือแม้แต่ภาคเอกชน เช่น การประชุม/สัมมนา การแข่งขันกีฬา และคอนเสิร์ต ได้แก่

 

  • ผู้เข้าร่วมชุมนุมต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาที่อยู่ในพื้นที่ พกแอลกอฮอล์เจลสำหรับล้างมือและน้ำดื่มส่วนตัว แต่ถ้าหากมีอาการไม่สบายควรพักอยู่ที่บ้าน
  • ผู้จัดกิจกรรมควรจัดจุดล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล, จัดเวทีหรือพื้นที่ทำกิจกรรมหลายจุดเพื่อลดความแออัด, จัดพื้นที่สำหรับขายและรับประทานอาหาร
  • ถ้าหากจัดในพื้นที่ที่สามารถกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงอีก และสามารถตั้งจุดคัดกรองอุณหภูมิตรงทางเข้าได้

 

ถึงแม้การชุมนุมเป็นการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิด-19 แต่ก็เป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความเห็น การป้องกันโรคจึงควรคล้ายกับกิจกรรม/กิจการอื่นที่มีความจำเป็น ซึ่งได้รับการผ่อนคลาย นอกจากนี้การห้ามชุมนุมภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ควรถูกทบทวนว่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคมากน้อยเพียงใด

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X