อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX ที่สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และจุดประกายความหวังของการเดินทางสู่ห้วงอวกาศของมนุษย์จนได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลก เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนครั้งหนึ่งต่อข้อซักถามที่ว่าเจ้าตัวเรียนรู้เกี่ยวกับจรวดจากที่ใด มัสก์ตอบสั้นๆ ว่า “ผมอ่านหนังสือ”
ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันดีในหมู่แวดวงคนสนิทและคนรู้จักของมัสก์ว่าเจ้าตัวคลั่งไคล้การอ่านมากเพียงใดตั้งแต่วัยเยาว์ ว่ากันว่ามัสก์ในวัยเพียง 9 ขวบ อ่านสารานุกรมด้านพฤกษศาสตร์ทั้งหมดจบเรียบร้อย และสามารถจดจ่ออยู่กับหนังสือนิยายแนววิทยาศาสตร์ได้หลายสิบชั่วโมง
มัสก์ยอมรับว่า หนังสือทุกเล่มที่ตนได้อ่านมีส่วนสำคัญต่อการนำพาตนเองมายืนอยู่ในจุดที่คนส่วนใหญ่รู้สึกทึ่งได้ แต่ในฐานะผู้ประกอบการที่เข้ามาปฏิวัติวงการ มัสก์ระบุว่ามีหนังสือ 8 เล่มที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาตัดสินใจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
1. ‘Structures: Or Why Things Don’t Fall Down’ by J.E. Gordon
หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของดาราศาสตร์ฟิสิกส์และวิศวกรรมในรูปแบบที่อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ยังคงรายละเอียดของฟิสิกส์ระดับสูงในแบบฉบับที่ควรจะเป็น โดยมัสก์ให้นิยามสั้นๆ ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีมากๆ ของการเริ่มต้นการออกแบบในเชิงโครงสร้างที่สอนให้เจ้าตัวเรียนรู้ที่จะสร้างจรวดขึ้นมา
2. ‘Benjamin Franklin: An American Life’ by Walter Isaacson
เบนจามิน แฟรงคลิน คือวีรบุรุษในใจของมัสก์ ซึ่งเป็นทั้งนักประพันธ์ นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ และนักการทูต โดยมัสก์ระบุว่า ความชำนาญในสาขาต่างๆ เหล่านี้ยังทำให้แฟรงคลินเป็นผู้ประกอบการที่เก่งกาจคนหนึ่ง ซึ่งเริ่มต้นจากศูนย์ จากเด็กที่หนีออกจากบ้านคนหนึ่งเท่านั้น
3. ‘Einstein: His Life and Universe’ by Walter Isaacson
มัสก์ยอมรับว่า แรงบันดาลใจในชีวิตของตนส่วนหนึ่งมาจากชีวประวัติของนักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ โดยวลีเด็ดก้องโลกของไอน์สไตน์อย่าง “สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการไม่หยุดตั้งคำถาม” และ “ใครก็ตามที่ไม่เคยทำผิดพลาดก็คือคนที่ไม่เคยลองทำอะไรใหม่” ถือเป็นแนวทางที่สะท้อนให้เห็นอยู่ในวิสัยทัศน์ของบริษัทที่มัสก์ก่อตั้งขึ้น
4. ‘Superintelligence: Paths, Dangers, Strategies’ by Nick Bostrom
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีแนวคิดล้ำสมัยและสนใจต่อเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) อย่างลึกซึ้ง แต่มัสก์ก็ให้ความใส่ใจต่ออันตรายและความเสี่ยงที่เทคโนโลยีจะส่งผลต่อวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของมนุษย์ และหนังสือเล่มนี้ควรค่ากับการอ่านเพื่อให้ตระหนักถึงความท้าทายในเรื่องดังกล่าว
5. ‘Merchants of Doubt’ by Erik M. Conway and Naomi Oreskes
เป็นหนังสือที่ว่าด้วยข้อโต้แย้งของนักประวัติศาสตร์สองท่านผู้เชื่อว่า นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชื่อมโยงกับการเมืองและบริษัทเอกชนเพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง มักจะบิดเบือนข้อเท็จจริงด้านสุขภาพและการสาธารณสุขบางอย่าง เช่น ผลกระทบทางลบจากการสูบบุหรี่ ซึ่งมัสก์แนะนำว่าควรค่าแก่การอ่านอย่างยิ่ง
6. ‘Lord of the Flies’ by William Golding
คือนวนิยายที่ว่าด้วยการเอาชีวิตรอด การแข่งขัน และความโลภสุดคลาสสิกที่ประทับใจมัสก์แบบสุดๆ โดยตัวเอกของเรื่องมีหน้าที่ต้องปกป้องพิทักษ์โลก ซึ่งเป็นแนวที่มัสก์ยอมรับว่าชอบเป็นการส่วนตัว
7. ‘Zero to One: Notes on Startups, or How to Build the Future’ by Peter Thiel
เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือคัดกรองมาจากบทเรียนที่ผู้เขียนสอนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในปี 2012 โดยมุ่งความสนใจไปที่ความจำเป็นของการคิดต่างอย่างมีเอกลักษณ์โดดเด่นในฐานะผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัพ ซึ่งมัสก์บอกว่าหนังสือของผู้ร่วมก่อตั้ง PayPal เล่มนี้ นำเสนอการค้นหาที่น่าสนใจในกระบวนการสร้างองค์กรที่ประสบความสำเร็จในระดับสูง
8. ‘The Foundation Trilogy’ by Isaac Asimov
หนังสือเล่มนี้สอนให้มัสก์ตระหนักว่าอารยธรรมทั้งหลายเคลื่อนที่เป็นวงจร เป็นบทเรียนสำคัญที่ผลักดันให้มัสก์ไล่ตามความฝันของตนเอง “ลองคิดดูสิว่านี่เป็นครั้งแรกในรอบ 4,500 ล้านปี ที่มีความเป็นไปได้ที่มวลมนุษยชาติจะสามารถขยายช่วงชีวิตของตนไปยังนอกโลก และมันดูเป็นเรื่องที่ฉลาดที่จะลงมือทำเมื่อหน้าต่างบานนั้นเปิดออก โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า จริงๆ แล้วหน้าต่างบานนั้นอาจเปิดออกตั้งนานแล้ว”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: