×

Elmgreen & Dragset ศิลปินที่ทำให้เรามอง ‘สระว่ายน้ำ’ และ ‘ศิลปะ’ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

25.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • อินการ์ แดร็กเซต และ ไมเคิล เอล์มกรีน หรือศิลปินคู่หูที่มีชื่อเรียกในวงการศิลปะว่า Elmgreen & Dragset ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD แบบชิล คมคาย และแทรกอารมณ์ขัน แทบจะผิดคาดกับภาพของคำว่า ‘ศิลปินระดับโลก’ ที่เคยคิดอยู่ในหัว เพราะพวกเขาทั้งคู่ผ่านงานแสดงมาแล้วรอบโลก รวมทั้งเทศกาลใหญ่อย่าง Venice Biennale
  • ในครั้งนี้ทั้งคู่ได้เดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ เพื่อแสดงผลงาน ‘Zero’ หนึ่งใน Bangkok Art Biennale

“ผมไม่เคยเรียนศิลปะมาก่อนเลยนะ เรามาจากทางตอนเหนือของแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งพวกเขาไม่ได้โฟกัสเรื่องการเรียนศิลปะเท่าไรตอนที่เราเด็ก” – อินการ์ แดร็กเซต

 

“ครั้งแรกที่ผมไปมิวเซียม เขามีงานศิลปะนีโอคลาสสิก ผมยืนมองรูปปั้นหินอ่อนสีขาว เป็นรูปปั้นโป๊ ไม่ใส่เสื้อผ้า ตอนนั้นผมก็มองแล้วก็คิดว่าพวกเขามีก้นที่สวยดี ก็เลยยืนมองอยู่แป๊บหนึ่ง” – ไมเคิล เอล์มกรีน

 

Prada Marfa, 2005

Photo: www.etsy.com

 

ทั้ง อินการ์ แดร็กเซต และ ไมเคิล เอล์มกรีน หรือศิลปินคู่หูที่มีชื่อเรียกในวงการศิลปะว่า Elmgreen & Dragset ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD แบบชิล คมคาย และแทรกอารมณ์ขัน แทบจะผิดคาดกับภาพของคำว่า ‘ศิลปินระดับโลก’ ที่เคยคิดอยู่ในหัว เพราะพวกเขาทั้งคู่ผ่านงานแสดงมาแล้วรอบโลก รวมทั้งเทศกาลใหญ่อย่าง Venice Biennale นอกจากนี้พวกเขายังมีผลงานชื่อดังที่หลายๆ คนน่าจะเคยผ่านตาอย่าง Prada Marfa เมื่อปี 2005 และ Van Gogh’s Ear ในนิวยอร์ก (Rockefeller Center) เมื่อปี 2016 โดยในครั้งนี้ทั้งคู่ได้เดินทางมาเยือนกรุงเทพฯ เพื่อแสดงผลงาน ‘Zero’ หนึ่งใน Bangkok Art Biennale อีกด้วย

 

Van Gogh’s Ear, 2016

Photo: www.flickr.com

 

อย่างที่ทั้งคู่บอก พวกเขาไม่เคยมีพื้นฐานการเรียนศิลปะอย่างจริงจังมาก่อน ไมเคิลเป็นนักเขียน ในขณะที่อินการ์กำลังศึกษาละครเวที พวกเขาเจอกันที่โคเปนเฮเกน ในปี 1994 และตัดสินใจลองทำงานศิลปะด้วยกันในปี 1995 ก่อนที่จะย้ายมาอยู่เบอร์ลินในปี 1997

 

‘Zero’ 2018

 

‘Zero’ เป็นผลงานศิลปะหน้าตาคล้ายกับสระว่ายน้ำที่ถูกจับวางในแนวตั้ง รูปทรงแบบเลข 0 ซึ่งล้อเลียนกับผลงาน Van Gogh’s Ear ในนิวยอร์ก ที่พวกเขาเคยทำมาแล้ว แต่ในครั้งนี้สระน้ำของพวกเขามีเพียงกรอบ และหากมองทะลุไปก็จะพบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ข้างหลัง

นี่คือเหตุผลที่พวกเราพยายามทำงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่ผิดทาง การเอางานไปตั้งในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เพื่อบอกพวกเขาว่า มันโอเคที่จะแตกต่าง มันโอเคที่จะอยู่ในสถานที่ที่ไม่ใช่ที่ของคุณ

ไมเคิล เอล์มกรีน: จริงๆ แล้วสระว่ายน้ำมันไม่ใช่วัฒนธรรมของคนไทยเท่าไร สระว่ายน้ำในไทยมักจะอยู่แค่ในโรงแรมหรูๆ มันเหมือนเป็นไอเดียของชาวตะวันตกที่เป็นตัวแทนการพักผ่อน แต่สำหรับคนไทยเมื่อก่อนแล้วมันคือการลงไปว่ายน้ำในแม่น้ำเลย เราเลยทำสระว่ายน้ำเปล่าขึ้นมา ใช้แค่ขอบสระ และเมื่อมองทะลุไป คุณก็จะเห็นกับแม่น้ำจริงๆ ข้างหลังมัน มันเลยพูดถึงกรุงเทพฯ ในมุมที่เราไม่ค่อยมีสระว่ายน้ำสาธารณะในเมือง แต่ดันไปอยู่แต่ในโรงแรมหมด งานนี้เลยเป็นสระว่ายน้ำสาธารณะที่หนึ่ง ที่มีแม่น้ำนี่แหละเป็นที่ว่ายน้ำสาธารณะ

 

ไมเคิล เอล์มกรีน

 

อินการ์ แดร็กเซต

 

แล้วทำไมต้องเป็นสระว่ายน้ำด้วยล่ะ

อินการ์ แดร็กเซต: มันเริ่มจากงานแรกๆ ของเราที่เคยแสดงที่มิวเซียมในเดนมาร์ก มันเป็นกระดานสปริงบอร์ดที่ยื่นออกไปนอกหน้าต่าง เราได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากผลงานของ เดวิด ฮอกนีย์ ที่มักมีสระว่ายน้ำเป็นส่วนหนึ่งในงานเพนติ้งของเขา และสระว่ายน้ำนั้นแสดงถึงชีวิตแฮปปี้ ชีวิตเกย์แฮปปี้ ชีวิตนอกเมือง แคลิฟอร์เนีย อะไรแบบนั้น เรามีโอกาสได้ไปดูงานศิลปะของเขา แต่เรารู้สึกว่ามันขาดความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างสิ่งที่อยู่ในมิวเซียม และสิ่งที่อยู่นอกมิวเซียม เราจึงอยากหาจุดเชื่อมโยงของมัน ความไม่สมดุลบางอย่างระหว่างสองสิ่ง เราจึงใช้กระดานสปริงบอร์ดนี่แหละเป็นสัญลักษณ์

 

Powerless Structures, Fig. 11, 1997

Photo: www.kunsteder.dk

 

แล้วคุณใช้กระดานสปริงบอร์ดหรือสระว่ายน้ำ เป็นสัญลักษณ์ในทุกๆ งานได้เลยหรอ

อินการ์ แดร็กเซต: อืม มันก็มาเรื่อยๆ นะ ก็ไม่ใช่ตลอดที่เราต้องใช้สระว่ายน้ำ แต่ก็มีหลายๆ ครั้งที่เราพูดถึงจนมันเป็นธีม มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เราแสดงงานที่ Venice Biennale ปี 2009 เรามาจากสองประเทศ คือนอร์เวย์และเดนมาร์ก และพวกเขาก็เลือกเราทั้งคู่พร้อมกันให้ไปแสดงงานเพื่อเป็นตัวแทนประเทศของเรา ในงานจะแบ่งประเทศแยกเป็นพาวิเลียน ซึ่งมันหน้าตาเหมือนกับพวกบ้านวิลล่าหรูๆ ในย่านแพงๆ เลย เราเลยคิดต่อยอดจากจุดนั้น แล้วทำพาวิเลียนให้เป็นเหมือนบ้านของครอบครัวสองครอบครัวที่ต่างกันสุดขั้ว บ้านหลังหนึ่งก็เป็นพ่อ แม่ ลูกสาว

 

ไมเคิล เอล์มกรีน: อีกหลังก็เป็นบ้านเกย์โสด ที่แต่งแบบโมเดิร์นกว่า แรดกว่า แล้วเราก็ทำสระว่ายน้ำหน้าบ้าน ที่มีร่างคว่ำหน้าลอยอยู่ในน้ำด้วย

 

อินการ์ แดร็กเซต: เราใช้สระว่ายน้ำเป็นพาหนะในการพูดถึงเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือไม่ว่าจะเป็นแนวคิดอะไรก็ตาม

 

Elmgreen & Dragset, The Collector, 2009. Nordic & Danish Pavilion, Venice Biennale

Photo: www.cobosocial.com

 

คุณยังเคยเปลี่ยนมิวเซียมทั้งมิวเซียมให้กลายเป็นสระว่ายน้ำด้วย

ไมเคิล เอล์มกรีน: เราเคยทำในลอนดอน ที่ Whitechapel Gallery เราเปลี่ยนทั้งมิวเซียมให้เป็นกระเบื้อง จนข้างในดูคล้ายกับเป็นสระว่ายน้ำสาธารณะร้างแห่งหนึ่ง ตอนนั้นสระว่ายน้ำสาธารณะในลอนดอนถูกปิดไปหมด พวกเขาขาดเงินทุน เพราะรัฐบาลฝั่ง conservative ไม่อยากใช้งบประมาณกับสถานที่สาธารณะ พวกเขาเลยทยอยปิด แล้วไปสร้างโรงแรมหรูแทน เราก็เลยตัดสินใจเปลี่ยนทั้งมิวเซียมให้กลายเป็นสระว่ายน้ำซะเลย มันเลยพูดถึงการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงสถานที่ การเปลี่ยนเมืองที่ขาดพื้นที่สาธารณะ หลายครั้งที่เราต้องทำงานภายในพื้นที่มิวเซียม เราชอบเปลี่ยนให้มันดูไม่เป็นมิวเซียม ทำให้มันดูเหมือนพื้นที่สาธารณะให้มากที่สุด ไม่อย่างนั้นเราก็ทำงานในพื้นที่สาธารณะจริงๆ ไปเลย

 

This Is How We Bite Our Tongue, 2018

Photo: standard.co.uk

เพราะยิ่งเดี๋ยวนี้ ผมรู้สึกว่าเราต้องซื้อกาแฟสักแก้วก่อนถึงจะได้รับอนุญาตให้นั่งในสถานที่นั้นนั้นได้ และด้วยงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะนี่แหละ ที่อนุญาตให้คุณยืนดูมันเฉยๆ คุณจะเดินไปเดินมารอบงาน Zero ก็ได้ จะหาที่นั่งชิลแถวนั้นก็ได้ ไม่มีใครมาเก็บเงินคุณแน่นอน

พวกคุณดูจะชอบหยิบเอาข่าว หรือประเด็นในสังคมตอนนั้นๆ มาทำงานศิลปะ ตอนนี้มีประเด็นอะไรที่คุณกำลังสนใจอยู่หรือเปล่า

อินการ์ แดร็กเซต: เราอยู่ในยุคสมัยที่แปลกมากนะ มีปัญหาหลายๆ อย่างในหลายๆ ประเทศ เรารู้สึกว่าทั้งหมดทั้งมวลมันสร้างอยู่บนความกลัวของผู้คน พวกเขากลัวความแตกต่าง กลัวอะไรใหม่ๆ พวกเขามองหาอะไรที่ยึดติดอยู่ด้วยได้ ผมเลยสนใจประเด็นการทำให้คนเรากลัวน้อยลง แสดงให้พวกเขาเห็นว่าพวกคุณไม่ต้องกลัวสิ่งใหม่ๆ แปลกๆ

 

นี่คือเหตุผลที่พวกเราพยายามทำงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่ผิดทาง การเอางานไปตั้งในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย เพื่อบอกพวกเขาว่า มันโอเคที่จะแตกต่าง มันโอเคที่จะอยู่ในสถานที่ที่ไม่ใช่ที่ของคุณ… เราเพิ่งทำโปรเจกต์ในปารีส ที่ Place Vendôme มันค่อนข้างเกี่ยวกับประเด็นนี้เหมือนกัน เราทำปลาดาวแปะอยู่บนพื้น เหมือนมันกำลังบุกรุกสถานที่ย่านหรูท่ามกลางโรงแรม Hôtel Ritz ตึกกระทรวง ร้าน Louis Vuitton ร้านขายจิวเวลรีต่างๆ แต่เรากลับมีสิ่งมีชีวิตจากธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วพื้นที่นั้น

 

To Whom May Concern at Place Vendome. 2018

Photo: www.fiac.com

 

ทำไมคุณถึงสนใจในพื้นที่สาธารณะขนาดนี้

ไมเคิล เอล์มกรีน: เราสนใจการทำงานแสดงในพื้นที่สาธารณะ เพราะในยุคพลาสติกแบบนี้…พื้นที่สาธารณะมันกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัวไปหมด มันเต็มไปด้วยป้ายโฆษณาทุกที่ ทุกคนซื้อพื้นที่ให้ตัวเองถูกมองเห็นในที่สาธารณะ และมันไม่มีอะไรน่าสนใจแล้ว เพราะทุกอย่างมันเหมือนกันไปหมด เราแทบดูไม่ออกว่ากำลังอยู่ในกรุงเทพฯ หรือเซี่ยงไฮ้กันแน่ แต่งานศิลปะนี่แหละที่อาจทำให้คนหยุดและคิดถึงมันได้ ทำให้คนรู้สึกว่าพื้นที่สาธารณะเป็นของพวกเขาได้

 

เพราะยิ่งเดี๋ยวนี้ ผมรู้สึกว่าเราต้องซื้อกาแฟสักแก้วก่อนถึงจะได้รับอนุญาตให้นั่งในสถานที่นั้นนั้นได้ และด้วยงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะนี่แหละ ที่อนุญาตให้คุณยืนดูมันเฉยๆ คุณจะเดินไปเดินมารอบงาน Zero ก็ได้ จะหาที่นั่งชิลแถวนั้นก็ได้ ไม่มีใครมาเก็บเงินคุณแน่นอน

 

แสดงว่าศิลปะมีบทบาทในสังคมอยู่เหมือนกัน

อินการ์ แดร็กเซต: ศิลปะไม่จำเป็นต้องมีประโยชน์ในการใช้งานชัดเจน มันไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาทางการ มันไม่จำเป็นต้องพยายามขายอะไรให้ใคร มันสามารถใช้ภาษาแบบไหนในการเล่าก็ได้ และในยุคที่คนต่างเห็นขัดแย้งกัน ศิลปะอาจจะเป็นอีกภาษาใหม่ในการเข้ามาช่วยแก้ไขได้

 

ไมเคิล เอล์มกรีน: ศิลปะยังเป็นเหมือนสถานที่สถานที่หนึ่งด้วย สังคมตอนนี้เราต่างใช้เวลาบนโลกออนไลน์ ในโซเชียลมีเดีย ในโลกสองมิติ แต่ศิลปะทำให้เรามีที่มาพบปะกัน คุณสามารถรู้สึกได้ถึงการอยู่ตรงนั้นจริงๆ

 

คุณคิดว่าในอีก 80 ปีข้างหน้า เด็กๆ จะมองกลับมาเห็นศิลปะในยุคนี้เป็นอย่างไร

อินการ์ แดร็กเซต: ผมว่าสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากคือเราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ว่าจะในแฟชั่น ในภาพยนตร์ ในศิลปะ หรืออะไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์มากๆ ของยุคนี้คือแทบจะทุกอย่าง ทุกสไตล์ ทุกสิ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในยุคเดียวกัน

 

คุณคิดว่ามันจะมีชื่อเรียกยุคศิลปะของยุคนั้นไหม

ไมเคิล เอล์มกรีน: บางทีนั่นอาจจะเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ยังไม่เกิดขึ้น และคุณต้องรออีก 80 ปีข้างหน้า

 

อินการ์ แดร็กเซต: บางทีมันอาจจะมีชื่อว่า Recyclism ก็ได้นะ

 

 

Elmgreen & Dragset เป็นศิลปินที่ทำให้คำว่า ศิลปะ เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องติสท์ถึงจะเข้าถึงได้เสมอไป และก็อย่าไปเกร็งว่าคนดูงานศิลปะจะไม่เอ็นจอยกับงาน เพราะพวกเขาออกตัวเลยว่าดีใจเวลามีคนไปดูงานแล้วถ่ายรูปคู่กับผลงานของพวกเขาลงอินสตาแกรม สำหรับใครที่อยากไปดู Zero ของจริง พร้อมดีเทลที่ Elmgreen & Dragset ร่วมมือกับช่างฝีมือชาวไทยในการสร้างสระว่าย(แม่)น้ำนี้ขึ้นมา ก็ตามไปดูได้ที่ อาคารประวัติศาสตร์ อีสต์ เอเชียติก จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า หรือดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ www.bkkartbiennale.com

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising