ภาคเอกชนต้องเผชิญกับ ‘ค่าไฟแพง’ สวนกระแสเศรษฐกิจที่กำลังจะกลับมาฟื้นตัว ซึ่งที่ผ่านมาทั้งห่วงโซ่การผลิตต่างได้รับผลกระทบเต็มๆ บวกกับเงินเฟ้อ ทำให้ราคาสินค้าจำเป็นต้องทยอยปรับขึ้น ลามไปถึงค่าครองชีพประชาชน เนื่องจากต้องยอมรับว่าราคาพลังงานเป็นต้นทุนหลักสำหรับทุกคน โดยเฉพาะไทยที่พึ่งพาทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ที่ข้อนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสู้ต้นทุนการผลิตเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามไม่ได้
ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงเปิดรับฟังความคิดเห็น 3 แนวทางในการพิจารณาค่า Ft ในงวดหน้า เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 เพราะ ‘สถานการณ์พลังงานเปลี่ยน’ จากที่ก่อนหน้านี้ราคาก๊าซธรรมชาติโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน, ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทาน และค่าเงินผันผวนหนัก
ขณะนี้สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก โดยเฉพาะราคา LNG ในตลาดจร เริ่มลดลงจาก 29.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู เป็น 19-20 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู และปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทยอยเข้าสู่ระบบมากขึ้น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้ล้วนถูกนำไปคำนวณค่าไฟที่มีความเป็นไปได้ว่าจะต้อง ‘ถูกลง’
ท่ามกลางข้อเรียกร้องให้จัดเก็บค่าไฟทั้งประชาชนและอุตสาหกรรมในอัตราเท่ากัน จากเดิมที่ใช้ค่าไฟฟ้า 2 อัตราคือ ค่าไฟสำหรับครัวเรือนอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และค่าไฟของภาคอุตสาหกรรม 5.33 บาทต่อหน่วย ด้วยเหตุผลก่อนหน้านี้ที่ว่าภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย สงคราม และโควิด
นำมาสู่ 3 ทางเลือกที่ คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. วิเคราะห์ แต่การคิดสูตรค่าไฟต้องคำนวณตามแนวทางในการจ่ายคืนภาระต้นทุนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เกิดขึ้นจริง (คงค้าง) อีกด้วย ซึ่งความเป็นไปได้มากที่สุดคือแนวทางที่ 2 และ 3 ดังนี้
แนวทางที่ 1 นั้นมองว่า ‘เป็นไปได้ยากมาก’ เนื่องจากจะต้องจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 งวด เป็นเงินสูงถึง 150,268 ล้านบาท ซึ่งค่า Ft เรียกเก็บงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 จะอยู่ที่ 293.60 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พุ่งไปสูงถึง 6.72 บาทต่อหน่วย และ ‘เป็นอัตราที่กระทบต่อภาระของประชาชนและภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก’
แนวทางที่ 2 นั้นจะเป็นจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด (20 เดือน) จำนวนทั้งหมด 136,686 ล้านบาท เป็น 5 งวด หรืองวดละ 41.88 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบปี 2567 ค่า Ft จะอยู่ที่ 105.25 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะอยู่ที่ 4.84 บาทต่อหน่วย
ส่วนแนวทางที่ 3 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด (24 เดือน) จำนวนทั้งหมด 136,686 ล้านบาท ใช้หนี้คืนครบภายใน 2 ปี ซึ่งค่า Ft จะอยู่ที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ลดลงมาอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย ซึ่งแนวทางนี้เป็นไปได้มากสุด
ทั้งนี้ กกพ. ย้ำว่าสามารถกดราคาให้ต่ำกว่านี้อีกได้ แต่ขอให้เสนอข้อมูลเข้ามาภายในวันที่ 20 มีนาคมนี้เท่านั้น และผู้เสนอต้องกำหนดหลักการและเหตุผลอย่างรอบด้าน จากนั้นจะสรุปผลการแสดงความคิดเห็นทั้งหมดเข้าที่ประชุมบอร์ด และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณา และประกาศภายในเดือนเมษายน เพื่อให้มีการคิดอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ในรอบงวดถัดไป (เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- พลังงานไฮโดรเจนมาแน่! กฟผ. บินญี่ปุ่นถก 5 บริษัทยักษ์ใหญ่ ศึกษาผลิตไฟจากไฮโดรเจน-แอมโมเนีย
- ‘กฟผ.-ธอส.’ เผย ‘โครงการบ้านเบอร์ 5’ ลดค่าไฟฟ้าได้ 44 ล้านบาทต่อปี ลดปล่อยก๊าซคาร์บอน 5,300 ตันต่อปี ตั้งเป้าปี 66-68 สร้างเพิ่ม 5,000 หลัง
- ‘กลุ่มทุนจากจีน’ ชนะการประมูล ‘เหมืองลิเธียม’ ในโบลิเวีย ประเทศที่มีแร่หายากมากที่สุดในโลก เสริมแต้มต่อในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร