×

ครม. เห็นชอบหั่นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าเหลือ 0% ยาว 3 ปี แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5-PM10 คาดสูญรายได้กว่าปีละ 1,500 ล้านบาท

06.03.2019
  • LOADING...
electric cars

คณะรัฐมนตรีไฟเขียวหั่นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในปี 2563-2565 เหลือ 0% นาน 3 ปี พร้อมลดภาษีรถกระบะที่ใช้น้ำมัน B20 และเครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 5 อีก 1% เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5-PM10) คาดว่าจะทำให้รายได้ลดลงกว่า 1,500 ล้านบาท

 

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีความเห็นชอบการปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า รถยนต์กระบะ และรถยนต์กระบะ 4 ประตูตามที่กระทรวงคลังเสนอ ซึ่งส่วนแรกจะเริ่มยกเว้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้าลงเหลือ 0% ทันทีเป็นเวลา 3 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2565 และรถยนต์กระบะที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่มีค่าฝุ่น PM ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร หรือเครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 5 และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล B20 ได้ จะปรับลดภาษีลงตามประเภทเครื่องยนต์ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5-PM10) ตามที่รัฐบาลให้เป็นวาระแห่งชาติตามที่กรมสรรพสามิตเสนอ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดคาดว่ารัฐจะสูญรายได้ไม่เกินปีละ 1,500 ล้านบาท

 

โดยมาตรการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติออกมามีดังนี้

 

1. ปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Powered Vehicle) ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน โดยให้ลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจากปัจจุบันเก็บ 2%ให้ลดลงเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2565 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึง 31 ธันวาคม 2568 ให้ใช้อัตราภาษี 2% ตามเดิม ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตหลังปี 2568 ให้ใช้อัตราภาษีที่ 8% ตามเดิม คาดว่ามาตรการนี้จะทำให้สูญเสียรายได้ 300 ล้านบาท

 

2. มาตรการปรับลดอัตราภาษีรถยนต์กระบะและรถยนต์กระบะ 4 ประตู (Double Cab) ปรับลดอัตราภาษีรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ได้แก่ รถยนต์กระบะ และรถยนต์กระบะ 4 ประตู ซึ่งการใช้มาตรการภาษีเพื่อยกระดับมาตรฐานการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลจากมาตรฐานยูโร 4 (PM ไม่เกิน 0.025) ในปัจจุบันเป็นมาตรฐานยูโร 5 (PM ไม่เกิน 0.005) ให้เร็วยิ่งขึ้น โดยมาตรการนี้คาดว่าจะสูญเสียรายได้กว่า 100 ล้านบาท

 

ขณะที่ นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี รองโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่าการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพื่อให้สอดรับกับนโยบายการลดมลฝุ่นพิษ (PM2.5-PM10) คาดว่าจะทำให้ต้นทุนทางภาษีของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในปี 2563-2565 รวมถึงผู้ผลิตรถกระบะที่ใช้เครื่องยนต์ยูโร 5 ที่ปล่อยฝุ่น PM ไม่เกิน 0.005 กรัมต่อกิโลเมตร และรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล B20 ลดลง โดยมีการประเมินว่าหากรถราคาคันละ 1 ล้านบาท จะส่งผลให้ราคาลดลงประมาณคันละ 2-3 หมื่นบาทต่อคัน และหากค่ายรถมีการทำโปรโมชัน ราคาก็จะลดลงได้อีก ซึ่งช่วยกระตุ้นให้คนไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising