รูดม่านงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 กระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่มาแรงครองส่วนแบ่งกว่า 10% ดันยอดจองรถยนต์พุ่งเกิน 30,000 คัน เติบโตขึ้นกว่าปีก่อนหน้าราว 14% ส่วนรถจักรยานยนต์ ทำยอดจองได้กว่า 2,000 คัน เว้น ฮอนด้า มาแปลก ไม่ส่งยอดจอง
สิ้นสุดการแสดงงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 อย่างเป็นทางการ หลายค่ายรถยนต์เริ่มยิ้มได้ หลังยอดจองพุ่งเกินกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ โดยตัวเลขรวมของยอดจองรถยนต์ระหว่างการแสดงงานมีทั้งสิ้น 31,896 คัน เติบโตขึ้นกว่าปีก่อนหน้าราว 4,000 คัน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยอดจองเติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เป็นผลโดยตรงจากกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่มาแรง โดยครองส่วนแบ่งยอดจองกว่า 10% ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า กระแสความนิยมเลือกใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า เป็นผลลัพธ์จากการที่ภาครัฐออกมาตรการสนับสนุน และมีการลงนามเซ็น MOU ก่อนที่งานจะเริ่ม ทำให้ราคาขายของรถยนต์ไฟฟ้ามีความชัดเจน แต่ละรุ่นของแบรนด์ MG และ GWM มีราคาถูกลงไปตั้งแต่ 1.6-2.4 แสนบาท ดังรายงานข่าวที่นำเสนอไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สะท้านมอเตอร์โชว์ ‘MG’ ยอดจองขึ้นแท่นเบอร์ 2 เทียบเคียง ‘Isuzu และ Honda’ ชนิดหายใจรดต้นคอ
- ใครสนรถยนต์ไฟฟ้ามาทางนี้! ORA Good Cat หั่นราคาเริ่มต้นเหลือ 828,500 บาท ส่วน NEW MG ZS EV เคาะราคาเปิดตัว 949,000 บาท
ทั้งนี้ จากการรายงานยอดจองของผู้จัดงานระบุว่า MG มียอดจองรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,300 คัน โดยแบ่งเป็นรุ่น EP Plus ประมาณ 60% และรุ่น ZS EV ประมาณ 40% ส่วน GWM มียอดจอง ORA Good Cat จำนวน 1,136 คัน เรียกว่าแค่เพียง 2 แบรนด์นี้ มียอดรวมกันร่วม 2,500 คัน เหนืออื่นใดตัวเลขดังกล่าวนี้เป็นยอดเฉพาะในงาน ยังไม่นับรวมยอดจองจากทั่วประเทศ
ขณะที่แบรนด์อื่นๆ ซึ่งมีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่าย มีการแจ้งยอดจองรถยนต์ไฟฟ้า Volvo 385 คัน , BMW 112 คัน, Mini 58 คัน, Porsche 58 คัน, Nissan 19 คัน, Audi 10 คัน, Takano 6 คัน และยอดจองอย่างไม่เป็นทางการของ Neta V มีจำนวน 150 คัน
เมื่อนับยอดรวมทั้งหมดจะเห็นว่ามีมากกว่า 3,000 คัน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กระแสการตอบรับของผู้บริโภคชาวไทยที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้า อยู่ในระดับที่ดีเยี่ยม เหนือกว่าที่หลายค่ายรถยนต์ได้ประเมินเอาไว้ ซึ่งยืนยันด้วยระยะเวลาการรอรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทาง MG ระบุว่า ลูกค้าทุกคนที่จองหลังเดือนมีนาคม จะได้รับรถในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาการรอที่นานกว่า 6 เดือน
จากตัวเลขยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าที่มากเกินคาดดังกล่าว จึงเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งว่า หากแบรนด์ญี่ปุ่นซึ่งได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคชาวไทยเป็นทุนเดิม เร่ิมทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในระดับราคาที่ใกล้เคียงกับแบรนด์จีน ยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นมาถึงระดับใด โดยเฉพาะ โตโยต้า ที่ปีนี้ประกาศทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกอย่างแน่นอน
สำหรับยอดจองรถจักรยานยนต์ในงานมอเตอร์โชว์ มีจำนวนทั้งสิ้น 2,040 คัน แต่เป็นที่น่าประหลาดใจ เมื่อ ฮอนด้า ผู้นำตลาดจักรยานยนต์ไทย ไม่มีการรายงานยอดจองที่เกิดขึ้นภายในงานดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่เพิ่งออกมา นับว่าส่งผลกระตุ้นตลาดรถยนต์ EV ได้อย่างมาก ทำให้การแข่งขันเริ่มคึกคักขึ้นทันที นำโดย ‘ค่ายรถจีน’ ที่อาศัยจังหวะค่ายรถกระแสหลักยังไม่พร้อมทำตลาด เร่งนำหน้าดึงส่วนแบ่งลูกค้ามาก่อน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่ามีโอกาสที่อาจจะชิงส่วนแบ่งตลาดรวมได้ถึง 80% จากยอดขายรถยนต์ EV ที่คาดว่าจะทำได้เกินกว่า 10,000 คันในปี 2565 นี้
ในส่วนตลาดรถยนต์รวมยังคงมีประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่น่ากังวล เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดในเบื้องต้นว่า ยอดขายรถยนต์ในประเทศโดยรวมของไทยปี 2565 นี้ อาจปิดที่ราว 825,000 คัน (+8.7% (YoY))
ทว่าหากสถานการณ์สงครามเลวร้ายลง อาจส่งผลต่อยอดขายที่ลดลงมาเหลือ 8 แสนคัน (+5.4% (YoY)) ได้ แต่ในทางตรงข้าม หากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนคลี่คลายได้เร็ว ก็มีโอกาสที่จะทำได้สูงกว่าตัวเลขที่คาดไว้เช่นกัน