วันนี้ (2 กรกฎาคม) ถือว่าครบกำหนดกรอบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวางไว้ในการประกาศผู้สมัครที่ผ่านการเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนี้ กกต. ได้นัดประชุมเพื่อวินิจฉัยคำร้องต่างๆ โดยเฉพาะคุณสมบัติของผู้ได้รับเลือก และกระบวนการเลือกที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนกว่าพันเรื่อง และมี อิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นประธานการประชุม โดยเฉพาะกรณีการเลือกไขว้ ที่มีลักษณะลงคะแนนเป็นชุดๆ โดยใบลงคะแนนที่หมายเลขเหมือนกัน
มองควรรับรองไปก่อน แล้วค่อยสอยทีหลัง
ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร ว่าที่ สว. กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จาก กกต. ว่าจะรับรองผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว. ซึ่งความจริงแล้วกฎหมายระบุว่าให้รับรองหลังจากเลือกไปแล้ว 5 วัน คือไม่เกินวันที่ 3 กรกฎาคม ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าแม้จะมีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก แต่เห็นว่าควรจะรับรองไปก่อน แล้วถ้าใครขาดคุณสมบัติสามารถมาสอยทีหลัง และในช่วงนี้สามารถตรวจสอบคุณสมบัติแบบคร่าวๆ ได้ก่อน เพราะเมื่อไปสมัคร สว. ก็ไม่ได้มีการตรวจสอบรายละเอียดคุณสมบัติใดๆ ใช้เพียงบัตรประชาชน ให้ผู้สมัครกรอกรายละเอียด และดูเพียงใบรับรอง
ดังนั้นการจะตรวจสอบว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ในด้านนั้นๆ สามารถตรวจสอบได้แบบรวดเร็ว ส่วนคุณสมบัติอย่างอื่น คิดว่าน่าจะรับรองไปก่อนและค่อยมาตรวจสอบรายละเอียด เนื่องจากแต่ละกลุ่มมีรายชื่อสำรองอยู่แล้ว
ส่วนการร้องเรียนเรื่องผลคะแนนว่าส่อฮั้วหรือสมยอม เพราะมีการลงคะแนนเหมือนกันเป็นชุดหลายคน อังคณากล่าวว่า ตราบใดที่ยังเป็นกติกานี้ เลือกกี่รอบก็ยังเป็นเช่นนี้ เพราะกฎหมายออกมาแบบนี้ ดังนั้นต่อให้คนที่ไม่รู้จักกันเลยก็ต้องไปขอคะแนนกัน จึงคิดว่าไม่มีทางที่จะแก้อะไรได้ เพราะกฎหมายระบุมาเช่นนี้
ส่วนตัวมองว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเองพร้อมที่จะให้ สว. ชุดนี้หมดวาระไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วค่อยเลือกกลับเข้ามาใหม่ ไม่เช่นนั้นเชื่อว่าจะไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญส่วนนี้ได้
เร่ง กกต. รับรองผลโดยเร็ว เปลี่ยนผ่านสู่การแก้รัฐธรรมนูญ
พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ตนเองเคยชี้ให้เห็นว่าในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ไม่ได้กำหนดไว้ว่า กกต. จะต้องประกาศผลภายในกี่วัน ไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง สส. โดยกฎหมายเขียนเพียงแค่ว่า ให้รอไว้ 5 วัน ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านมาแล้ว
พริษฐ์กล่าวต่อว่า สว. ชุดใหม่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นยิ่งมี สว. ชุดใหม่เข้ามาเร็ว การพูดคุยหารือกันเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญก็จะรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงบทบาทในการรับรองบุคคลในองค์กรอิสระ และการกลั่นกรองกฎหมายต่างๆ ซึ่งพรรคก้าวไกลก็มีกฎหมายหลายฉบับที่รอการเสนอ แต่อาจถูกตีความว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ จึงรอให้ สว. ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก่อน
ส่วนกรอบเวลาในการประกาศผลควรจะเป็นเมื่อไรนั้น พริษฐ์กล่าวว่า ควรจะเร็วที่สุด เพราะก่อนหน้าที่จะมีกระบวนการเลือก สว. ตนเองก็เคยขอให้ กกต. รับประกันเวลาในการประกาศผล แต่ที่ผ่านมา กกต. ยังไม่เคยยืนยันต่อสาธารณะว่าจะประกาศผลเมื่อไร และในวันที่ 4 กรกฎาคม ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ จะเชิญ กกต. เข้ามาชี้แจงด้วยเช่นกัน
พริษฐ์ย้ำว่า หาก กกต. ประกาศผลเร็ว โอกาสที่จะเกิดสุญญากาศทางการเมือง ให้ สว. ชุดเดิมรักษาการต่อไป ก็จะน้อยลงด้วย แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าตนเองเห็นด้วยกับกฎกติกานี้ สว. ก็ยังมีอำนาจสูง แต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ในเมื่อกติกากำหนดมาแบบนี้และได้ริเริ่มกันมาแล้ว จึงคิดว่าเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านระหว่าง สว. ชุดเก่า และ สว. ชุดใหม่ เป็นไปอย่างเร็วที่สุด
ส่วนข้อกังวลว่า สว. ชุดใหม่ อาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เช่น วุฒิการศึกษา หรืออาชีพที่ไม่ตรงกับกลุ่มที่รับสมัคร พริษฐ์มองว่าทุกคนก็ผ่านกติกาที่ถูกออกแบบมาด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 หากไม่พบการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมาย ก็คิดว่าทุกคนเข้ามาด้วยกระบวนการอย่างเท่าเทียมกัน แต่หากมีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย กกต. ก็ต้องเร่งตรวจสอบและลงโทษตามกระบวนการ ส่วนที่มีความคิดว่าควรจะปรับกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ให้เป็นการเลือกตั้ง หรือถึงขั้นตั้งคำถามว่าควรมีวุฒิสภาต่อไปหรือไม่ ก็ล้วนเป็นโจทย์ที่คิดว่าสามารถพูดคุยกันได้ แต่สุดท้ายพรรคก้าวไกลก็เชื่อว่าผู้ที่จะมาออกแบบกระบวนการควรเป็น สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน