หลังจาก ‘เอลซัลวาดอร์’ ประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่ในแถบอเมริกากลาง ประกาศให้สามารถใช้ Bitcoin ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ การประกาศให้สามารถนำ Bitcoin มาใช้แทนเงินสดได้เป็นประเทศแรกของโลก
ประธานาธิบดีของเอลซัลวาดอร์ นายิบ บูเคเล มองว่าการใช้ Bitcoin เพื่อชำระหนี้ได้ตามกฎหมายจะช่วยลดภาระของพลเมืองเอลซัลวาดอร์ที่อยู่นอกประเทศให้สามารถประหยัดค่าธรรมเนียมการโอนเงินจากนอกประเทศกลับเข้ามาในประเทศได้
แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะสร้างความฮือฮาให้กับพลเมืองเอลซัลวาดอร์ และเรียกกระแสนิยมให้ประธานาธิบดีนายิบได้พอสมควร แต่อย่างไรก็ตามยังมีชาวเอลซัลวาดอร์จำนวนมากที่มีข้อกังขาต่อนโยบายดังกล่าว เนื่องมาจากความผันผวนของราคาคริปโตฯ รวมไปถึงกลไกในการทำงาน
สำนักข่าว Reuters ได้รวบรวมข้อดี-ข้อเสียในแง่มุมต่างๆ ของนโยบายการนำ Bitcoin ไปใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ดังนี้
- การโอนเงิน
จากข้อมูลระบุว่า ในปีที่แล้วชาวเอลซัลวาดอร์โอนเงินจากต่างประเทศโดยส่วนมากโอนมาจากสหรัฐอเมริกากลับสู่เอลซัลวาดอร์เป็นเงินกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 23% ของ GDP เอลซัลวาดอร์เลยทีเดียว ซึ่งนายิบก็ชูข้อดีของการนำ Bitcoin มาใช้ในประเทศ นั่นก็คือจะสามารถประหยัดค่าธรรมเนียมจากการโอนที่เกิดขึ้นไปได้ถึง 400 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท
- คาร์บอนฟุตพรินต์
การนำ Bitcoin มาใช้นั้นนำไปสู่ความกังวลในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เนื่องจากข้อมูลจาก Bank of America ระบุว่า อุตสาหกรรม ‘Bitcoin’ นั้นปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมากว่า 60 ล้านตัน เทียบเท่าการเผาไหม้ของรถยนต์ถึง 9 ล้านคัน
แต่ทางนายิบก็คลายความกังวลดังกล่าวโดยเผยว่า ทางรัฐบาลเอลซัลวาดอร์ ได้วางแผนกับบริษัทพลังงานไฟฟ้าความร้อนใต้พิภพ (Geothermal) ชื่อ LaGeo ที่ทางรัฐบาลเป็นเจ้าของ ให้พัฒนาแผนการนำพลังงานทดแทนจากภูเขาไฟในประเทศมาขุด Bitcoin
- การกำกับดูแล
ความโดดเด่นของ Bitcoin ที่ปฏิเสธไปไม่ได้เลย อยู่ที่ความไร้ศูนย์กลางที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันการเงินหรือแม้แต่รัฐบาล ใช้เพียงแค่คนในระบบเท่านั้น ซึ่งอาจจะไปเพิ่มความเสี่ยงในด้านการกำกับดูแล ด้านการดำเนินการทางด้านการเงิน และนั่นจึงนำไปสู่ความกังวลต่อนโยบายของเอลซัลวาดอร์ ว่าอาจมีคนนำช่องว่างเหล่านี้ไปใช้ในการฟอกเงินระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ Fitch Ratings หนึ่งในบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังของโลก ระบุว่า ทางเอลซัลวาดอร์จะไม่คิดภาษีจากกำไรของส่วนต่างราคา Bitcoin และสามารถจ่ายภาษีด้วย Bitcoin จึงมีโอกาสทำให้เกิดการไหลเข้าของ Bitcoin ที่ได้มาจากกิจกรรมที่ผิดกฎหมายของต่างชาติเข้ามาในระบบการเงินของเอลซัลวาดอร์ และนำไปสู่ความเสี่ยงก็เป็นได้
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ชะลอการอนุมัติวงเงินกู้ให้กับทางเอลซัลวาดอร์กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3 หมื่นล้านบาท
หลังจากที่เอลซัลวาดอร์อนุมัตินโยบายดังกล่าว ก็ยังโดนการปรับลดเครดิตทางการเงินของประเทศ โดยเอเจนซีด้านเรตติ้งทางการเงินอย่าง Moody’s และยังทำให้พันธบัตรของประเทศเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก
- การแลกเปลี่ยนกับเงินตราต่างชาติ
นายิบ บูเคเล ได้จัดตั้งกองทุนไว้สำหรับประชาชนให้แลกเปลี่ยนระหว่าง Bitcoin และดอลลาร์สหรัฐ ไว้ถึง 150 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4.5 พันล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้สงสัยจำนวนมากว่า แล้วเอลซัลวาดอร์จะจัดการกับความผันผวนของค่าเงินระดับร้อยดอลลาร์ต่อวันอย่างไร
นอกจากนี้ทาง Fitch Ratings ยังระบุว่า การนำ Bitcoin มาใช้ในการชำระเงินจะส่งผลเสียต่อบริษัทประกันในเอลซัลวาดอร์ เพราะหากบริษัทประกันได้รับเงินประกันเป็น Bitcoin จะทำให้การผันผวนของค่าเงินมีสูงขึ้น และยังทำให้ได้รับความเสี่ยงทางด้านการเงินอีกเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตามทางเอลซัลวาดอร์ก็มีเมืองอย่าง El Zonte ที่อนุญาตให้ชำระเงินด้วย Bitcoin แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาในการโอนหรือแปลงค่าเงินแต่อย่างใด
อ้างอิง:
เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหาร ‘ต้องดู’ ก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022
📌 เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง
📌 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทย–โลก
📌 เทรนด์ผู้บริโภค–การตลาด
📌 เคสจริงจากผู้บริหาร
ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce
#TheSecretSauceStrategyForum2022