×

เอกชัย เอื้อครองธรรม มนุษย์ป๊อปคัลเจอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความฮอตของ Bangkok รัก Stories

21.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins read
  • เอกชัยมองว่าหน้าที่ของครีเอเตอร์คือคิดเรื่องที่อยากนำเสนอ ดูไดเรกชันด้านต่างๆ รวมทั้งลูกเล่นที่จะใช้ในซีรีส์เรื่องนั้นๆ แล้วส่งต่อให้คนเขียนบทและผู้กำกับที่เหมาะสมพัฒนาโปรเจกต์ต่อไป
  • คอนเทนต์ที่เอกชัยใช้ความสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องที่เขาให้นิยามว่า ‘เจาะจง’ แต่ ‘กว้างไกล’ ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นวัตถุดิบชั้นเลิศในเรื่องนั้น
  • ความท้าทายในการทำซีรีส์ Bangkok รัก Stories คือการผสมผสานเพลงฮิต เสน่ห์ของกรุงเทพฯ และความรักที่หลากหลายเข้าด้วยกัน
  • เอกชัยมองว่าคุณสมบัติที่ดีของคนทำงานคือความสามารถในการทำให้ผู้ร่วมงานเห็นภาพรวมไปในทิศทางเดียวกันด้วยเหตุและผล ไม่ใช่การบังคับหรือสั่งให้ทำตาม

ถึงแม้จะเป็นน้องใหม่ในวงการซีรีส์ แต่ GMM Bravo ก็พิสูจน์ตัวเองได้อย่างรวดเร็วด้วยการพาโปรเจกต์ Bangkok รัก Stories ที่นำเอาเพลงฮิตระดับ 100 ล้านวิวอย่าง แพ้ทาง, คนมีเสน่ห์, Please และ เก็บรัก ผสมกับมนต์เสน่ห์ของย่านต่างๆ ในกรุงเทพฯ มานำเสนอมุมมองความรักในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างครบรสและน่าสนใจ ใช้เวลาเพียง 6 เดือนแรกก็สามารถกวาดยอดวิวออนไลน์ไปมากถึง 300 ล้านวิว และเก็บเรตติ้งสูงสุดอันดับ 1 ของช่อง GMM 25 ได้ในหลายตอนที่ออกอากาศ

 

โดยผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จมีชื่อของ เอกชัย เอื้อครองธรรม ที่ควบตำแหน่งทั้งผู้บริหารค่าย GMM Bravo และครีเอเตอร์ที่ทำหน้าที่เลือกเพลง คิดคอนเซปต์ วางทิศทางของซีรีส์ทั้ง 4 เรื่อง เพื่อส่งต่อให้กับผู้กำกับรุ่นใหม่ในการนำวัตถุดิบที่ได้มาสร้างเป็นซีรีส์แซ่บๆ ให้ทุกคนได้รับชม

 

และล่าสุด GMM Bravo เพิ่งเปิดตัวซีรีส์ Bangkok รัก Stories ซีซัน 2 ทันทีที่ซีซันแรกปิดฉากลงอย่างสวยงาม เพื่อไขรหัสความสำเร็จที่เกิดขึ้น THE STANDARD มีโอกาสได้คุยกับหัวเรือใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังซีรีส์ทั้งหมด ที่เขายืนยันกับเราตลอดการสนทนาว่าเขาเองไม่ใช่ใครอื่น นอกจากเป็น ‘ทางผ่าน’ ของป๊อปคัลเจอร์ที่น่าสนใจเท่านั้น

 

 

ในประเทศไทยยังไม่ค่อยคุ้นกับคำว่าครีเอเตอร์เท่าไร จริงๆ แล้วตำแหน่งนี้มีหน้าที่อะไรบ้าง

หน้าที่หลักๆ คือคนที่คิดว่าอยากนำเสนอเรื่องอะไร ดูไดเรกชันด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องครีเอทีฟ ทั้งเนื้อเรื่อง มู้ดแอนด์โทน สิ่งที่จะนำเสนอ หรือลูกเล่นที่จะใช้ในซีรีส์เรื่องนั้นๆ แล้วส่งต่อให้คนเขียนบทและผู้กำกับที่เหมาะสมพัฒนาโปรเจกต์ต่อไป แต่บางคนก็อาจจะเข้าไปเขียนบทและกำกับเองด้วยในบางอีพี เพื่อกำหนดทิศทางของซีรีส์ให้ชัดเจนไว้ก่อน

 

คอนเทนต์ประเภทไหนที่ดึงดูดให้คุณสนใจนำมาพัฒนาต่อเป็นซีรีส์มากที่สุด

ผมเรียกว่าเป็นคอนเทนต์ที่เจาะจงแต่กว้างไกล คือเรื่องจะต้องเกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคหรือประเทศนั้นๆ แต่สัมผัสความรู้สึกของคนได้ในวงกว้าง คือไม่ว่าจะเป็นคนประเทศไหนก็สามารถอินไปกับเนื้อเรื่องได้เหมือนกันหมด เช่น ตอนผมเป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Beautiful Boxer (2546) ก็เป็นเรื่องของสาวประเภทสองที่อยากเป็นนักมวย ซึ่งเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายๆ อยู่แล้ว แถมยังเกิดขึ้นแค่ในประเทศไทยอย่างเดียว นี่คือเจาะจง ส่วนความกว้างไกลคือประเด็นโดยรวมมันพูดถึงเรื่องความพยายามไปให้ถึงความฝัน การต่อสู้กับอุปสรรค รวมทั้งสังคมรอบข้าง ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ว่าใครก็เข้าถึงกันได้อยู่แล้ว

 

หรืออย่างซีรีส์ชุด Bangkok รัก Stories ก็จะพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในย่านต่างๆ ของกรุงเทพฯ เป็นความสัมพันธ์ของคนเฉพาะกลุ่ม สาวโสดในสาทร หนุ่มสาวในสยามสแควร์ ฯลฯ แต่ทุกเรื่องก็จะมีจุดร่วมในเรื่องความรักที่หลากหลาย เช่น มิตรภาพระหว่างเพื่อน การแอบรัก รักสามเส้า การนอกใจ ฯลฯ เป็นธีมหลักที่ครอบอยู่อีกทีหนึ่ง ซึ่งธีมใหญ่อันนี้จะเป็นตัวที่ทำให้คนทั่วไปสัมผัสเรื่องของเราได้ง่ายขึ้น ส่วนความเฉพาะกลุ่มที่นำเสนอจะเป็นกิมมิกที่ทำให้เนื้อเรื่องของเราน่าสนใจ

 

 

ประเทศไทยถือว่าเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบในการหยิบมาเล่าเรื่องมากแค่ไหน

โอ้โห เรียกว่าวันๆ สมองผมแทบไม่ได้หยุดพัก (หัวเราะ) ผมบอกคุณไพบูลย์ (ไพบูลย์ ดํารงชัยธรรม ผู้บริหารค่าย GMM Grammy) เลยว่า ถ้าไม่มีกรอบให้นี่ผมคิดเรื่องได้ไม่มีจบสิ้นเลยนะ ในขณะที่โลกโลกาภิวัตน์ไปพร้อมกันหมด แต่ประเทศไทยก็ยังมีเอกลักษณ์บางอย่างที่มันไท้ไทยแบบไม่มีใครเหมือน อาจจะเป็นเพราะประเทศเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครหรือเปล่า ไม่แน่ใจนะ แต่มันมีการพัฒนาของตัวเองแบบออร์แกนิก เราอาจจะรับอิทธิพลจากที่อื่นมาบ้าง แต่สุดท้ายมันยังมีเอกลักษณ์บางอย่างที่ยังไม่ถูกปรุงแต่งเก็บเอาไว้มหาศาล

 

ยกตัวอย่างจากประเทศสิงคโปร์ที่ผมไปอยู่นานพอสมควร เขาเป็นประเทศที่โตเร็วมาก เพราะรัฐบาลมีเงินอัดฉีดสนับสนุนแบบเต็มที่ ถ้าเป็นต้นไม้คือใส่ปุ๋ยเยอะมาก วัฒนธรรมของเขาเติบโตอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เขาเคยตื่นเต้นกับละครเวทีที่มันเป็นออริจินัลแบบสิงคโปร์มากๆ เพียงแค่พริบตาเดียวกลายเป็นไม่มีอะไรพิเศษสำหรับที่นั่นอีกต่อไป สมมติว่าผมมีโปรเจกต์ที่อยากทำและต้องการเงินสนับสนุนจากรัฐบาลที่มีให้มหาศาล แต่เขาก็จะมีทิศทางมาบอกเรานะว่าเขาอยากได้แบบไหน มี KPI วัดผลชัดเจน เพราะฉะนั้นมองเผินๆ คือเขาเติบโตจริง แต่ก็เป็นการเติบโตในรูปแบบที่คล้ายๆ กันหมด

 

แต่ของเราเอาแค่ประเด็นที่คนพูดถึงกันบ่อยๆ ว่ารัฐบาลไม่สนับสนุน แต่ไอ้ความขาดเหลือตรงนี้มันก็กลายเป็นข้อดีสำหรับงานศิลปะ เวลาไม่มีเงินสนับสนุน คนที่อยากสร้างผลงานก็ต้องดิ้นรนจากที่ต่างๆ เพราะฉะนั้นเลยกลายเป็นว่าเราจะมีผลงานที่หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ให้เงินทุนเขาคาดหวังจะได้อะไรกลับมาจากผลงานนั้นๆ ซึ่งความคาดหวังของผมในการมาเป็นครีเอเตอร์ที่ GMM Bravo ก็คือการนำเสนอซีรีส์ที่มีเพลงฮิตเป็นส่วนประกอบหลัก นี่ก็เท่ากับว่าเราได้โจทย์ใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งโจทย์แล้ว

 

 

การถูกตั้งโจทย์เอาไว้ตั้งแต่แรก มันจะขัดกับการสร้างงานศิลปะที่ควรมีอิสระเต็มที่หรือเปล่า

เราจะคิดออกยากถ้ามองว่าโจทย์คือกรอบของเรา แต่ถ้ามองว่าโจทย์เป็นตัวกระตุ้น มันจะกลายเป็นความท้าทายให้คุณผลิตงานออกมาให้ได้ เช่น มีคนมาบอกว่าคุณเอกชัยทำหนังอะไรก็ได้เลยนะ โอ้โห อันนี้ยากเลยนะ ผมต้องมาจัดล็อกในสมองใหม่หมดว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ผมอยากเล่า ซึ่งมันมีอยู่เต็มไปหมด สุดท้ายมันก็กลายเป็นความยากอีกแบบอยู่ดี

เวลาทำคอนเทนต์แต่ละอย่าง ไม่ว่าจะภาพยนตร์ ละครเวที ซีรีส์ หรืออะไรก็ตาม ผมไม่เคยคิดว่างานที่ทำอยู่เป็นแค่เอ็นเตอร์เทนเมนต์ มันคือโอกาสที่เราสามารถสื่อสารแมสเสจบางอย่างไปสู่คนหมู่มาก เราสามารถสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับสังคมผ่านงานเอ็นเตอร์เทนเมนต์ของเราได้

อะไรคือความท้าทายของการทำซีรีส์ที่มีเพลงเป็นตัวนำ

คือการที่เรากำลังทำงานกับสิ่งที่มีความหมายมากๆ เพราะเพลงเป็นมากกว่าเพลง เพลงคือประสบการณ์ร่วมที่ใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที แต่คนสัมผัสถึงประสบการณ์ในนั้นได้อย่างมหาศาล การฟังเพลงร่วมกันเหมือนเรามีประวัติศาสตร์บางอย่างร่วมกัน ยิ่งโจทย์ของแกรมมี่คือต้องเป็นเพลงฮิตที่มียอดวิวมากกว่า 100 ล้านวิว นั่นก็ยิ่งพิสูจน์ได้แล้วว่ามีคนอินกับเนื้อหานั้นๆ มากขนาดไหน แล้วเราจะทำอย่างไรให้ช่วงเวลาไม่กี่นาทีนั้นขยายออกมาเป็นซีรีส์ที่มีความยาวหลายชั่วโมง โดยที่ยังคงรักษาความรู้สึกร่วมอันนั้นเอาไว้ได้

 

สิ่งหนึ่งที่ผมใช้ก็คือเอาเสน่ห์บางอย่างของกรุงเทพฯ ที่ผมคิดว่าเราไม่น้อยหน้าเมืองใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์กหรือโตเกียวมาช่วยเล่าเรื่อง กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความสับสนวุ่นวายเกิดขึ้นเยอะมาก แล้วมันสนุกมากที่ได้นั่งฟังเพลงซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ แล้วรอให้เกิดเรื่องบางอย่างขึ้นในหัว

 

อย่างเรื่อง Please ที่เอามาจากเพลงของอะตอม ชนกันต์ ตอนคิดก็สนุกมาก ฟังเพลงแล้วรู้สึกถึงความโมเดิร์น ทันสมัย ก็เลยจับมาโยงกับย่านสาทรที่ผมอาศัยอยู่ แล้วรู้สึกว่าย่านนี้มีสาวโสดเดินไปเดินมาเต็มไปหมด นำไปสู่การคิดต่อว่าเขาโสดเพราะอะไร อาจจะเพราะไปรักคนที่ไม่ควรรัก รักคนที่เป็นเกย์ รักคนที่มีเจ้าของหรือเปล่า จนกลายมาเลยซีรีส์ที่ดำเนินเรื่องด้วยเพื่อนสาว 3 คนที่สนิทกันมากๆ แต่ละคนก็มีคอนฟลิกต์ในเรื่องความรักที่แตกต่างกันไป และได้เรียนรู้เกี่ยวกับความรักไปพร้อมๆ กัน ซึ่งคนดูก็จะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับ 3 สาวด้วย

 

เวลาทำคอนเทนต์แต่ละอย่าง ไม่ว่าจะภาพยนตร์ ละครเวที ซีรีส์ หรืออะไรก็ตาม ผมไม่เคยคิดว่างานที่ทำอยู่เป็นแค่เอ็นเตอร์เทนเมนต์ มันคือโอกาสที่เราสามารถสื่อสารแมสเสจบางอย่างไปสู่คนหมู่มาก เราสามารถสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับสังคมผ่านงานเอ็นเตอร์เทนเมนต์ของเราได้ ผมไม่อยากทำคอนเทนต์ที่เป็นเหมือนน้ำอัดลมที่กินแล้วอร่อย แต่เป็นผลเสียกับร่างกาย ถ้าเลือกได้ ผมอยากทำน้ำมะพร้าวที่อร่อยและใส่วิตามินบางอย่างเพื่อเพิ่มคุณค่าเข้าไปอีกมากกว่า

 

 

เราสามารถสร้างซีรีส์ที่สนุกอย่างเดียวได้ไหม เพราะบางคนอาจจะต้องการแค่ความบันเทิง ดูเพื่อความสนุกและผ่อนคลายอย่างเดียวก็ได้

ได้ แต่มันจะดีกว่าไหมถ้าเราใส่คุณค่าบางอย่างไปพร้อมๆ กับความสนุกได้ ผมจะบอกผู้กำกับรุ่นใหม่ที่คิดว่าภาพยนตร์คือศิลปะขั้นสูงกว่าซีรีส์หรือละครโทรทัศน์อยู่เสมอว่าห้ามดูถูกศาสตร์นี้เด็ดขาดเลยนะ อย่างซีรีส์ใน Netflix, Amazon หรือ Hulu นี่คือแหล่งรวมหนังดีๆ ทั้งนั้นเลยนะ มันคือการแบ่งหนังที่ยาวมากๆ ออกมาเป็นตอนที่ทำให้คุณดูแล้วหยุดไม่ได้ แล้วจริงๆ ศาสตร์การทำทีวีมีความยากกว่าภาพยนตร์ด้วยนะ ถ้าไปดูหนัง มันเหมือนคุณถูกขังเอาไว้ให้ต้องดูจนจบ เพราะคุณเสียเงินเข้าไปดูแล้ว แต่กับคอนเทนต์ในทีวีนี่มีปัจจัยเยอะมากที่ทำให้คนหันไปทำอย่างอื่น บางทีดูซีรีส์อยู่ดีๆ เพื่อนทักไลน์มา เราเข้าไปตอบก็จบแล้ว เพราะฉะนั้นมันมีอะไรที่ต้องต่อสู้เยอะ

 

รวมทั้งฟีดแบ็กของคนดูที่เรารับรู้ได้แบบเรียลไทม์ ไม่ต้องรอนักวิจารณ์หรือให้คนเดินออกจากโรงหนังแล้วค่อยออกมาพูด ฟีดแบ็กมันมาแรง เร็ว และละเอียดมาก เพราะว่าคนดูเขารู้สึกอะไรแล้วก็ได้พูดออกมาเลย เรารู้ได้เลยว่าอีพีนี้โดนหรือไม่โดน ซึ่งหลายครั้งเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์เรามาก เพราะก่อนทำเราต้องเดาว่าเล่าเรื่องแบบไหนแล้วเวิร์ก ซึ่งบางครั้งมันไม่เวิร์ก หรือบางครั้งคนก็ไปโดนใจกับสิ่งที่เราไม่ได้คาดไว้เลย ซึ่งเป็นอะไรที่ท้าทายและน่าตื่นเต้นในการทำงานมากเลยนะ

 

 

ถึงขนาดเอาฟีดแบ็กเหล่านั้นมาปรับแก้แบบตอนต่อตอนก่อนออกอากาศเลยหรือเปล่า

ใช่ครับ เรามีการเก็บฟุตเทจสต็อกเอาไว้ สิ่งไหนที่เราพอปรับได้ในขั้นตอนการตัดต่อ เราจะแก้ไขกันทันที ผมคิดว่าเวลาทำชิ้นงานต่างๆ มันจะประสบความสำเร็จเมื่อคนดูเขาเอาเรื่องราวที่เห็นไปเป็นของเขา เคลมว่าเขาคือเจ้าของเรื่องนี้ เป็นเจ้าของตัวละครนี้ อย่างเรื่อง Please นี่ชัดเจนมาก คนดูอินกับตัวละครมาก ถึงกับบอกเลยว่า ถ้าคนเขียนบททำแบบนี้กับตัวละคร เขาจะเกลียดมากเลยนะ แล้วเขาจะแชร์ จะนำไปพูดต่อกับเพื่อนอย่างรุนแรง เพราะเขาคิดไปแล้วว่าตัวละครพวกนี้คือเพื่อนของเขา จะปล่อยให้ใครมาทำร้ายเพื่อนของเขาไม่ได้

 

ฟีดแบ็กไหนที่อยู่เหนือความคาดหมายและประทับใจคุณมากที่สุดตั้งแต่ทำซีรีส์ Bangkok รัก Stories มา

เรื่อง Please ที่ต้องบอกว่ามันมีคอนฟลิกต์ด้านความรักของ 3 สาวที่ค่อนข้างรุนแรง แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์คือสิ่งที่ไปสัมผัสใจคนดูได้มากที่สุด คือเรื่องความเป็นเพื่อนที่ทั้ง 3 คนมีให้กัน ฟีดแบ็กนี้มีค่ามากเลยนะครับ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของเพื่อนยังเป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญกันอยู่ในโลกดิจิทัลที่ทำให้คนขาดการปฏิสัมพันธ์แบบโดยตรง แต่คนกลับชอบที่ได้เห็นทุกฉากที่ 3 คนนี้อยู่ด้วยกัน ดูแล้วคิดถึงเพื่อน เห็นแล้วโหยหาความรู้สึกแบบนั้น ผมว่านั่นคือเหตุผลนี่ทำให้ซีรีส์อย่าง Friends เขาอยู่มาได้ตั้ง 9 ปี

 

ผมเคยทำชิ้นงานง่ายๆ รวมเอาซีนที่นางเอก 3 คนนั่งร้องไห้กันมาทำเป็นวิดีโอ แล้วปรากฏว่าคนมาแท็กเพื่อนกันเต็มไปหมดเลย นี่ไงในโลกที่เย็นชาลงทุกวัน แต่ความอบอุ่นของเพื่อนยังมีอยู่ ซึ่งดีมากเลยนะที่มันเวิร์ก เพราะถ้ามันไปเวิร์กแค่ความแรง ความแซ่บ ผมอาจจะต้องคิดว่าต่อไปคงต้องทำคอนเทนต์แบบนั้นให้แรงขึ้นเรื่อยๆ

 

 

มีการวางกรอบเอาไว้หรือเปล่าว่าเราจะเอาความแรงและความแซ่บมานำเสนอได้มากขนาดไหน

เราต้องยอมรับก่อนนะว่าในทางดราม่า เราต้องหาคอนฟลิกต์ตลอดเวลา ซึ่งในความหมายหนึ่งคือยิ่งขัดแย้งรุนแรงก็ยิ่งสนุก แต่สิ่งสำคัญที่ผมพยายามคิดอยู่ตลอดคือในทุกๆ ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะรุนแรงแค่ไหน มันจะต้องมีเหตุผลที่มากเพียงพอมาสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงนั้นได้ เช่น เรื่อง Please แก่นเรื่องของมันคือความเป็นเพื่อนของสาวโสดที่มีความรักไม่เหมือนกัน ส่วนคอนฟลิกต์ที่เราต้องเอามาใส่คือจะทำอย่างไรให้ความเป็นเพื่อนของแก๊งนี้แตกสลาย เราก็จัดการให้คนดูรู้ก่อนเลยว่ามีตัวละครหนึ่งไปรักพ่อของเพื่อน แล้วให้ลุ้นว่าคอนฟลิกต์นี้จะสร้างความวายวอดให้กับแก๊งนี้ได้อย่างมโหฬารขนาดไหน

 

ถามว่าแรงไหม การเป็นชู้กับพ่อเพื่อนนี่แรงนะ แต่เราสร้างสถานการณ์ให้ผู้หญิงคนนี้เพิ่งเริ่มทำงานใหม่ ต้องสร้างผลงานให้ตัวเอง แต่กำลังจะแย่เพราะทำไม่ได้ พ่อเพื่อนก็เข้ามาช่วย กลายเป็นความรู้สึกติดหนี้บุญคุณ เลยเถิดกลายเป็นการตอบแทน กลายเป็นความรัก แน่นอนว่าอาจจะมีคนที่ยังคิดว่าไม่มีเหตุผล แต่ใครจะไปรู้ว่าพอไปอยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ คุณอาจไม่คิดแบบนั้นก็ได้ มันก็ยังมีเหตุผลในการตอบคำถามเรื่องการกระทำของตัวละครได้อยู่

 

ในฐานะครีเอเตอร์ คุณใส่ตัวตนหรือลายเซ็นของตัวเองลงไปในซีรีส์แต่ละเรื่องมากขนาดไหน

ผมไม่ได้เป็นคนมีตัวตนที่ชัดเจนหรือน่าสนใจพอจะเอาไปใส่ในซีรีส์ได้มากขนาดนั้น แต่คิดว่าตัวเองโชคดีที่ผมเป็นมนุษย์ป๊อปคัลเจอร์ที่เสพคอนเทนต์แทบทุกอย่าง ผมอยากให้ตัวเองเป็นเหมือนทางผ่านของป๊อปคัลเจอร์ที่พอมีอะไรสัมผัสกับตัวเราแล้วเราหยิบเรื่องนั้นมาส่งต่อให้คนอื่นผลิตเป็นชิ้นงาน อย่างเรื่อง ภาพลวงตา ที่เล่าเรื่องของบรรณาธิการนิตยสาร ก็เอามาจากการที่ผมเสพข่าวเรื่องขาลงของวงการสิ่งพิมพ์ นิตยสารหลายหัวทยอยปิดตัว ถามว่าผมมีส่วนอะไรกับธุรกิจนั้นไหม ก็ไม่ แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่ควรนำเสนอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมใส่ลงไปในซีรีส์คงไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นความคิดมากกว่า

 

 

ธรรมชาติของผู้กำกับจะต้องมีความเผด็จการอยู่ในตัวระดับหนึ่งเพื่อควบคุมองค์ประกอบต่างๆ ให้เป็นไปอย่างที่คิด แล้วในฐานะครีเอเตอร์ที่เป็นคนส่งโปรเจกต์ให้กับผู้กำกับ คุณต้องมีความเผด็จการเพื่อควบคุมผลงานให้ออกมาเป็นแบบที่คิดด้วยหรือเปล่า

ไม่ใช่แค่ผู้กำกับหรือครีเอเตอร์เท่านั้นนะ แต่ผมคิดว่าคุณสมบัติที่ดีของคนทำงานคือควรทำให้คนที่ทำงานด้วยรู้สึกว่าสิ่งที่คุณอยากให้เกิดขึ้นคือสิ่งที่เขาอยากทำด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นถ้ามองในมุมนี้ ใช้คำว่าเผด็จการอาจจะผิดความหมายไปหน่อย แต่ผมว่าสำคัญที่เรามีศาสตร์ในการโน้มน้าวให้คนเห็นภาพโดยรวมเหมือนกับที่คุณคิด ไม่ใช่การสั่งให้ทำนะ แต่ทำให้เขาเห็นด้วยกับเราอย่างมีเหตุผล

 

ก่อนเริ่มต้นโปรเจกต์ต้องคุยทิศทางกันให้ชัดว่าธีมของเราคืออะไร วิชวลแบบไหน จะเอาอะไรมาซัพพอร์ตในการเล่าเรื่อง อย่างตอนทำ Bangkok รัก Stories ทุกคนก็ต้องเข้าใจตรงกันว่าเป็นซีรีส์ที่มีเพลงองค์ประกอบสำคัญ ทุกคนก็ต้องเข้าใจในเรื่องนั้น เรื่องไหนที่เห็นไม่ตรงกันก็ต้องมาคุย มาปรับจนกว่าภาพนั้นจะเป็นภาพเดียวกัน ซึ่งไม่จำเป็นว่าผู้กำกับจะต้องเปลี่ยนความคิดมาเหมือนผมเสมอไปนะ ถ้าเหตุผลของเขาชัดเจนพอ ผมอาจจะเปลี่ยนภาพในหัวไปเป็นภาพที่เหมือนเขาก็ได้

 

 

ทุกเพลงที่เอามาใช้ใน Bangkok รัก Stories ทั้งซีซัน 1 และ 2 คุณต้องเป็นคนเลือกเองทั้งหมดหรือเปล่า

ใช่ครับ เริ่มจากโจทย์ที่ต้องเป็นเพลงที่ได้ 100 ล้านวิวก่อน ซึ่งในแง่หนึ่งมันเป็นเหตุผลทางธุรกิจที่เอาเพลงฮิตมาใช้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นข้อดี เพราะตัวเลขนั้นมันก็การันตีว่าเพลงมีคุณภาพในตัวเอง ทำให้ผมมีชอยส์ในการเลือกลดน้อยลง ที่เหลือผมก็แค่เลือกเพลงที่มันโดนใจผมมากที่สุด อย่างเพลง เก็บรัก (แอมมี่ The Bottom Blues) นี่ดีมาก ตอนฟังผมนั่งร้องไห้กับเพลงนี้เลยนะ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมอะไรกับเพลงนั้นเลย แต่ทุกอย่างในเพลงมันดีพอที่จะทำให้ทุกคนอินได้จริงๆ

 

ผมชอบเพลงที่ใช้คำง่ายๆ แต่พอมาเกาะรวมกันแล้วมันสวยงามและมีความหมาย เพลงนี้เป็นเพลงอกหักธรรมดาเลย แต่ดูการเล่าเรื่องของเขา ‘เก็บรักฉันไว้ในใจเธอก่อน ฉันยังไม่พร้อมจะเริ่มต้นใหม่’ นี่มันหมายความว่ายังไง เขาไม่รักคุณแล้ว เขามีคนใหม่ไปแล้ว ความรักของคุณไม่มีความหมายกับเขาแล้ว แต่คุณต้องรักเขามากขนาดไหนถึงยังขอให้เขาเก็บรักของคุณเอาไว้ก่อน นี่มันคือวัตถุดิบชั้นเลิศเลยนะ ตอนเจอแอมมี่ ผมบอกเขาเลยว่าเพลงของคุณโดนผมมาก ทำให้ผมร้องไห้ได้ทั้งๆ ที่ผมไม่มีประสบการณ์ร่วมเลย แล้วหน้าที่ของพวกเราทีมทำซีรีส์ก็คือจะทำอย่างไรให้วัตถุดิบที่ดีแบบนี้ไม่เสียของและเล่าออกมาให้ดีที่สุด

 

FYI
  • ก่อนจะมาจับงานซีรีส์แบบเต็มตัว เอกชัยเติบโตมากับการทำภาพยนตร์ โดยมีผลงานที่น่าสนใจอย่าง Beautiful Boxer, โรงงานอารมณ์ และ Skin Trade รวมทั้งเป็นผู้กำกับละครเวทีที่ประสบความสำเร็จระดับโลก และเป็นผู้ก่อตั้ง Action Theatre โรงละครชั้นนำของประเทศสิงคโปร์
  • ก่อนหน้ามารับตำแหน่งผู้บริหารของ GMM Bravo เอกชัยได้รับโอกาสให้เป็นผู้กำกับซีรีส์ Halfworlds ซีซัน 2 ของค่ายยักษ์ใหญ่ในวงการซีรีส์โลกอย่าง HBO
  • Bangkok รัก Stories ซีซัน 2 เลือกหยิบเพลง อ้าว ของอะตอม ชนกันต์ มาเล่าในรูปแบบโรแมนติกคอเมดี้ในย่านอารีย์, โรแมนติกทริลเลอร์จากเพลง สิ่งของ ของวง Klear ที่เป็นตัวแทนของย่านรัชดาภิเษก, เพลง เรื่องที่ขอ ของลุลา กับโรแมนติกดราม่าจากเยาวราช และความรักแซ่บๆ ของสีลม ดินแดนแห่งคนเหงากับเพลง ไม่เดียงสา ของวง Big Ass จะเริ่มออกอากาศครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนนี้ ทางช่อง GMM 25
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X