×

EIC ลดประมาณการเศรษฐกิจไทยโต 3.6% เอกชนชะลอลงทุนดูความชัดเจนตั้งรัฐบาล ตลาดโลกยังผันผวน

10.04.2019
  • LOADING...

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน เผยว่า EIC ปรับลดประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2562 ทั้งปีลงมาที่ 3.6% จากประมาณการเดิมที่ 3.8% สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกของไทยที่เติบโตลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าที่คาดและมีสัญญาณเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized Slowdown) ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ EIC ปรับลดประมาณการการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่ 2.7% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.4% การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวจากช่วงปลายปีที่แล้วเช่นกัน สอดคล้องกับการชะลอตัวของภาคส่งออก ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก และการชะลอการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจเพื่อรอดูความชัดเจนของทิศทางการเมืองภายในประเทศภายหลังการเลือกตั้ง

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนที่สำคัญจากภาคการท่องเที่ยวที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด จึงปรับประมาณการนักท่องเที่ยวปีนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 40.7 ล้านคน หรือเติบโตที่ 6.3% จากเดิมที่คาดเอาไว้ที่ 40.2 ล้านคน ส่วนการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้จากแนวโน้มการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

 

การบริโภคในส่วนของสินค้าคงทนมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2561 จากปริมาณการซื้อรถยนต์ในปี 2561 ค่อนข้างสูงแล้ว และผลกระทบของมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นที่ทยอยออกมาเพื่อดูแลการก่อหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม EIC คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อัตรา 1.75% ตลอดทั้งปี 2562 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอมากกว่าที่ กนง. เคยคาดไว้ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยมีค่าเฉลี่ย 0.7% ในไตรมาสที่ 1

 

ส่วนทิศทางค่าเงินบาทคาดว่าจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากสิ้นปี 2561 โดย ณ สิ้นปี 2562 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในปี 2562 ประกอบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจด้านต่างประเทศที่เข้มแข็งของไทยสะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลต่อเนื่องที่ประมาณ 6.4% ต่อ GDP

 

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกเสถียรภาพการเมืองในประเทศไทย สงครามการค้าที่ยังจะยืดเยื้อต่อไป ภาวะการเงินโลกที่อาจกลับมาตึงตัวได้ รวมทั้งปัญหาภาระหนี้ระดับสูงในบางประเทศ ภาคเอกชนไทยยังกังวลเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมืองในระดับสูง มีโอกาสที่รัฐบาลใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมที่มีเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าฝ่ายค้านไม่มากนัก ซึ่งจะมีผลกับเสถียรภาพของรัฐบาลและประสิทธิภาพในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า อาจมีผลให้เกิดการชะลอการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เพื่อรอดูความชัดเจนของพัฒนาการทางการเมืองก่อน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising