×

EIC ประเมิน ศก. โลกครึ่งปีหลังชะลอตัว จากแรงกดดันเงินเฟ้อ-Fed ขึ้นดอกเบี้ย

12.07.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังเผชิญความเสี่ยงเงินเฟ้อ-Fed ขึ้นดอกเบี้ย หลังกิจกรรมเศรษฐกิจเดือนมิถุนายนชะลอลงทั่วโลก มองเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากท่องเที่ยว-บริการ คาดปีนี้ กนง. ขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งเพื่อควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (Economic Intelligence Center: EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลังมีสัญญาณชะลอตัวลง ทั้งจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่มีอยู่ต่อเนื่อง และความกังวลต่อนโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วของธนาคารกลางหลักของโลก อัตราเงินเฟ้อในเดือนที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นทั่วโลกและคาดว่าจะยังไม่ผ่านจุดสูงสุด ขณะที่ธนาคารกลางหลักของโลก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีท่าทีดำเนินนโยบายการเงินที่ตึงตัวกว่าเดิมเพื่อควบคุมการเร่งตัวของเงินเฟ้อ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยในเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในกลุ่มเศรษฐกิจหลักในตะวันตกมากขึ้น

 

โดยเศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยสูง จากความเสี่ยงวิกฤตพลังงานที่เพิ่มขึ้นหากรัสเซียหยุดการส่งก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ในกรณีฐาน EIC ประเมินว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีโอกาสเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) แต่จะไม่ส่งผลกระทบรุนแรง เนื่องจากอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ และภาคธุรกิจโดยรวมยังคงขยายตัว ด้านเศรษฐกิจในฝั่งเอเชียมีแนวโน้มดีขึ้นจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด แม้เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นยังเป็นประเด็นสำคัญที่อาจลดทอนการฟื้นตัวในระยะต่อไป โดยยังต้องจับตาการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาคตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ที่อาจส่งผลให้เงินเฟ้อจากการนำเข้าเร่งตัวเพิ่มเติม

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว แต่ในระยะถัดไปยังมีความเสี่ยงด้านต่ำจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านราคาที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวสูง และการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางในหลายประเทศ อีกทั้งนโยบายควบคุมโควิดอย่างเข้มข้น (Zero-COVID) ในจีน ยังเป็นความเสี่ยงต่อการล็อกดาวน์ระลอกใหม่ 

 

ด้านการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัว ทั้งจากการลงทุนภายในประเทศ และการลงทุนจากต่างชาติตามแนวโน้มการเปิดเมือง แต่การลงทุนบางส่วนอาจชะลอหรือเลื่อนออกไป จากการส่งออกที่จะชะลอตัวลง ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงปัญหาด้านเงินเฟ้อ ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากการทยอยเปิดประเทศของทั้งไทยและประเทศต้นทางของนักท่องเที่ยว ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงท้ายปีมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น 

 

ทั้งนี้ EIC คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 7.4 ล้านคนในปีนี้ ขณะที่การท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา เติบโตได้ดีจากการเริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกติของประชาชน ส่งผลให้ในปี 2565 จำนวนผู้เยี่ยมเยือนไทยมีแนวโน้มแตะ 194 ล้านคน และด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติมากขึ้น รายได้ภาคเกษตรที่ขยายตัวได้ดี และอุปสงค์คงค้าง (Pent Up Demand) จากกลุ่มรายได้สูง และด้านตลาดแรงงานที่เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นแม้ยังมีความเปราะบางและยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ในบางภาคธุรกิจ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวที่ดี

 

EIC ระบุอีกว่า เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อ โดยราคาพลังงานโลกยังคงอยู่ในระดับสูง จากปัญหาด้านอุปทานภายหลังการคว่ำบาตรรัสเซียที่เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกพลังงานหลักของโลก และแนวโน้มการชะลอการลงทุนในการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปใช้พลังงานสะอาด ประกอบกับมาตรการอุดหนุนด้านพลังงานของรัฐที่ทยอยลดลง ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยล่าสุดเดือนมิถุนายนสูงถึง 7.7% เร่งตัวขึ้นจาก 7.1% ในเดือนก่อนหน้า 

 

ขณะที่เงินเฟ้อหมวดอาหารสดมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2565 โดยเฉพาะราคาข้าวที่จะกลายมาเป็นตัวเร่งเงินเฟ้อจากผลของปัจจัยฐานต่ำ และราคาเนื้อหมูที่ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ในระยะต่อไป EIC คาดว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้นได้อีก ตามความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ส่งผลต่อราคาพลังงานและโภคภัณฑ์โลก มาตรการอุดหนุนภาครัฐที่ลดลง และการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคที่มีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้น

 

จากปัจจัยข้างต้น ทำให้ EIC คาดว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ที่มีแนวโน้มเร่งตัว ท่ามกลางสถานการณ์ปัจจุบันที่เงินเฟ้อของไทยมาจากฝั่งอุปทาน (Cost-Push Inflation) เป็นหลัก ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง โดยประเมินว่า กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะทยอยปรับขึ้นในไตรมาสที่ 3 และ 4 ไตรมาสละ 25 bps ทำให้ ณ สิ้นปีอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ 1% 

 

โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยมีจุดประสงค์หลักเพื่อควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ และลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะเงินเฟ้อฝังลึก (Wage Price Spiral) ที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงจนยากต่อการควบคุม อีกทั้งการขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปยังสามารถประคองเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ โดยไม่สร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากจนเกินไป เมื่อเทียบกับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่รุนแรงและเร็ว

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising