เอ็กโก กรุ๊ป หรือ EGCO เตรียมปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ มุ่งเป้าขยายการลงทุนในต่างประเทศอย่างเต็มกำลัง โดยปักหมุดที่ ‘สหรัฐอเมริกา’ เป็นหนึ่งในหัวหอกหลัก พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสในแหล่งพลังงานแห่งอนาคตอย่างอะแลสกา เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นบริษัทระดับโลก (Global Company) ภายใต้งบลงทุนที่ตั้งไว้ปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท รุกขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน 7 ประเทศ
ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO เปิดเผยกับสื่อมวลชนในระหว่างการเยี่ยมชมโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ที่ไต้หวัน ว่า การปรับทิศทางครั้งนี้เกิดขึ้นหลังพอร์ตการลงทุนของบริษัทเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
“ปัจจุบันกำไรจากต่างประเทศได้เติบโตจนมีสัดส่วนมากกว่าในประเทศ (กำไรในประเทศประมาณ 40-45%) นี่คือสัญญาณที่ชัดเจนว่าเราต้องมุ่งสู่การเป็น Global Company อย่างจริงจัง เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- EGCO ทุ่มงบ 3 หมื่นล้านบาท ขยายธุรกิจพลังงาน ลุยเจรจาดีล M&A ทั้งในและต่างประเทศ…
- 8 บิ๊กคอร์ปไทยลุยเจาะตลาดสหรัฐฯ CP ร่วมทุนฟาร์มกุ้งในฟลอริดา ปตท.สผ. ขยายลงทุน LNG…
- บริษัทพลังงานไทยชิงโอกาสภาษีทรัมป์! EGCO ลุยซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าลม โซลาร์ ที่รัฐเมนและโอไฮโอ…
‘สหรัฐอเมริกา’ ขุมทรัพย์แห่งใหม่ในตลาดพลังงานโลก
การที่เอ็กโก กรุ๊ป ให้ความสำคัญกับตลาดสหรัฐฯ มาจากตัวเลขการสร้างผลกำไร โดยปัจจุบันกำไรของบริษัทประมาณ 16-17% มาจากสหรัฐอเมริกาเพียงแห่งเดียว ประกอบกับโอกาสทางธุรกิจที่หาได้ยากในตลาดอื่น
ดร.จิราพร ชี้ให้เห็นถึงสัญญาณการลงทุนที่น่าสนใจว่า “เราเห็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งในตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะราคาค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นจากเดิมที่เคยเป็นตัวเลขสองหลักในระดับ 50-60 เซนต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ทะยานขึ้นไปถึงกว่า 200 เซนต์ฯ ในปีนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เปิดโอกาสให้เราเข้าไปลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม”
ด้วยเหตุนี้ ทีมพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศจึงกำลังมองหาการลงทุนในสหรัฐฯ โดยมุ่งเป้าไปที่โรงไฟฟ้าสองประเภทหลัก คือ โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซ (เช่น ประเภท Combined Cycle) และ โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ซึ่งลงทุนต่อเนื่องผ่านโครงการ Apex ที่มีโครงการย่อยอยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาอีก 6-8 โครงการ
นอกจากผลตอบแทนทางการเงิน การเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศกลุ่ม ‘Investment Grade’ ยังมีมิติเชิงยุทธศาสตร์ที่เอื้อประโยชน์ต่อประเทศไทย โดย ดร.จิราพร อธิบายว่า “การที่บริษัทไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ และเป็นเหตุผลที่ภาครัฐมักให้เราร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อแสดงศักยภาพของเอกชนไทยในการเจรจาการค้า โดยเฉพาะเมื่อมีประเด็นเรื่องภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff)”
อะแลสกาและ LNG จิ๊กซอว์สู่ความมั่นคงทางพลังงาน
นอกเหนือจากโรงไฟฟ้า เอ็กโก กรุ๊ป ยังให้ความสนใจ โครงการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากรัฐอะแลสกา ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ เนื่องจากเป็นแหล่งพลังงานสำรองขนาดใหญ่และมีศักยภาพสูงในอนาคต ประกอบกับประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้า
โดยแผนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากได้ร่วมกับกระทรวงพลังงานและ บมจ.ปตท. ในการหารือกับบริษัทจากอะแลสกาเพื่อสำรวจความเป็นไปได้ในการลงทุนและซื้อขายก๊าซภายใต้โครงการ Alaska LNG ในระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา
“สำหรับอะแลสกา เรามองสองมิติควบคู่กันไป คือความเป็นไปได้ในการนำเข้า LNG หากราคาและค่าขนส่งแข่งขันได้ และที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือโอกาสในการเข้าไปลงทุนธุรกิจท่อส่งก๊าซจากทางเหนือลงสู่ตอนใต้ของรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการขนส่งก๊าซในภูมิภาคนั้น” ดร.จิราพร กล่าว
ทั้งนี้ บริษัทได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ LNG (Shipper) จากสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งจะช่วยให้สามารถนำเข้า LNG มาใช้ในโรงไฟฟ้าของบริษัทได้ ทั้งในประเทศไทย เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ อีกทั้ง การนำเข้าในปริมาณมากอาจช่วยให้ได้ราคาที่ถูกลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ
“ตะวันออกกลาง” โอกาสใหม่และความท้าทาย
นอกจากสหรัฐฯ แล้ว บริษัทมีการลงทุนในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ (Investment Grade) รวมถึงตะวันออกกลาง ที่ถึงแม้จะมีสถานการณ์ความขัดแย้งในบางพื้นที่ แต่ประเทศที่บริษัทเข้าไปลงทุนในตะวันออกกลางยังคงมีศักยภาพและมีเสถียรภาพทางการเมือง จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการลงทุนของบริษัท
โดยเมืองใหญ่ๆ ในตะวันออกกลางมีความต้องการพลังงาน โดยเฉพาะไฟฟ้าสูงมาก ทำให้เป็นตลาดที่น่าสนใจและมีโอกาสที่ดีในการลงทุนในโรงไฟฟ้า
สำหรับแผนการลงทุนในปี 2568 แม้ในช่วงครึ่งปีแรกจะยังไม่มีการปิดดีลใดๆ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจา แต่บริษัทคาดว่าจะสามารถปิดดีลใหม่ได้ประมาณ 4-5 โครงการในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะกระจายอยู่ในสหรัฐอเมริกาและตะวันออกกลาง
ทิศทางการลงทุนของบริษัท จะมุ่งเน้นการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซและพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น และบริษัทจะไม่มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงประเมินความท้าทายรอบด้านอย่างใกล้ชิดในทุกเดือน ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนพลังงาน และปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญ
ดร.จิราพร กล่าวทิ้งท้ายถึงมุมมองในการบริหารงานว่า “เรามองว่าสิ่งที่มีความแน่นอนแล้วไม่ใช่ความเสี่ยง แต่ ‘ความไม่แน่นอน’ ต่างหากคือความเสี่ยงที่แท้จริง”