ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้า หรือ EGCO กล่าวว่า ในปี 2568 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 30,000 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ มุ่งสร้างรายได้และกำไรให้เติบโต โดยเฉพาะการบริหารพอร์ตโฟลิโอให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยในปีนี้ EGCO ได้ปรับทิศทางและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจระยะ 3 ปี (ปี 2568-2570) โดยมีเป้าหมายเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรอย่างต่อเนื่องด้วยกลยุทธ์ ‘Triple P’ ได้แก่
- Profitability and Performance Energizing เพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อดูแลอัตราส่วนหนี้สิน (Debt to EBITDA) และรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของบริษัท ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ถือหุ้นด้วยนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
- Power and Energy-Related Focus มุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ EGCO Group ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป้าหมาย Net Zero Carbon ผ่านการลงทุนทั้งรูปแบบการควบรวมและซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) และการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ (Greenfield) ตลอดจนแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยต่อยอดและเน้นการลงทุนในประเทศที่มีฐานธุรกิจอยู่แล้ว 8 ประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและในไทย เพราะเป็นตลาดที่มีโอกาสและมีศักยภาพสูง ด้วยงบลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท
- Portfolio and People Management บริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นการบริหารสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ (Asset Recycling) เพื่อนำรายได้ไปแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ และให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นเลิศในกระบวนการดำเนินงาน (Operational Excellence) พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรและพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ดังเห็นได้จากการที่ EGCO Group ขายหุ้นในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ RISEC สหรัฐอเมริกา และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Boco Rock ออสเตรเลีย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 7,000 ล้านบาท เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยบริษัทจะนำเงินไปใช้ลงทุนในโครงการใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงในอนาคตต่อไป
สำหรับแผนการดำเนินงานและความก้าวหน้าของโครงการลงทุนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ในปี 2568 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของรายได้และกำไรของ EGCO Group อย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยการรับรู้รายได้เต็มปีจากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration ส่วนขยาย กำลังผลิต 74 เมกะวัตต์ จังหวัดระยอง อีกทั้งการรับรู้รายได้เต็มปีจากการเข้าซื้อหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass กำลังผลิตรวม 1,304 เมกะวัตต์ ในสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ยังมีการรับรู้รายได้เต็มปีเป็นปีแรกจากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบสมบูรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ ในไต้หวัน
รวมทั้งมีการรับรู้รายได้จากการขายโครงการพลังงานหมุนเวียนและการทยอยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของ APEX ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 โครงการ กำลังผลิตรวม 841 เมกะวัตต์ ในสหรัฐอเมริกา
อีกทั้งยังมีการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่ของโรงไฟฟ้า Quezon ในฟิลิปปินส์ (หลังจากสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับปัจจุบันกับ Meralco ในเดือนพฤษภาคม 2568) กำลังผลิตรวม 400 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญา ซื้อขายไฟฟ้าใหม่ได้ภายในไตรมาสที่ 2/68
เล็ง M&A โรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศกำลังผลิตรวมกว่า 1,000 เมกะวัตต์
ดร.จิราพร กล่าวต่อว่า บริษัทมีความพร้อมสำหรับการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ RE Biglot รอบที่ 2 ในรูปแบบ Feed-in Tarff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงในส่วนพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่ง EGCO Group ได้รับการคัดเลือกก่อนหน้านี้แล้ว จำนวน 11 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 448 เมกะวัตต์
สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ EGCO Group ได้ลงทุนผ่าน APEX ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโครงการเรือธง (Flagship) ที่จะผลักดันให้ EGCO Group บรรลุเป้าหมายการเพิ่ม RE เป็น 30% ในปี 2573 โดย APEX มีแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าจาก RE กว่า 56,000 เมกะวัตต์ จนถึงตอนนี้พัฒนาได้ราว 2,000 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนในประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยที่มีความต้องการเพิ่ม RE ในพอร์ตโฟลิโออีกด้วย
อีกทั้งแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ในรูปแบบ M&A ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถรับรู้รายได้ทันที ปัจจุบัน EGCO Group มีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาประมาณ 4-5 โครงการ รวมกำลังผลิตมากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในประเทศที่มีฐานธุรกิจและมีพันธมิตรอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนของการเจรจาและได้ข้อสรุป ประมาณไตรมาสที่ 2/68
สำหรับธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ที่ดำเนินการผ่านบริษัท พีที จันทรา ดายา อินเวสตาสิ (PT Chandra Daya Investasi: CDI) ในอินโดนีเซีย มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar Farm) ในอ่างเก็บน้ำของธุรกิจผลิตและบำบัดน้ำครบวงจร กำลังผลิต 32 เมกะวัตต์ ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในปี 2570 นอกจากนี้ CDI ยังมีแผนพัฒนาและขยายธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ด้วยการซื้อเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ (Vessels) สำหรับขนส่งน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม