×

กฟผ. แจกแจงที่มาค่าไฟฟ้าและภาระหนี้แสนล้าน ยืนยันสัญญาซื้อไฟฟ้าเอกชนถูกต้องและเป็นไปตามนโยบายรัฐ

27.04.2023
  • LOADING...
กฟผ. ค่าไฟฟ้า

กฟผ. แจงการแสดงสัญญารับซื้อไฟฟ้าเอกชน เพื่อตอบปมต้นทางต้นทุนค่าไฟฟ้าและข้อมูลค่าความพร้อมจ่าย ยันยึดตามแนวทางสากล และจ่ายค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ LNG แก่ ปตท. ตามจริง โอดยังมีหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องค้างถึง 1.1 แสนล้านบาทจากการแบกรับภาระค่า Ft กว่า 1.5 แสนล้านบาท

 

ประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้ กฟผ. เปิดเผยสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนนั้น กฟผ. ยินดีเปิดเผยข้อมูลหรือรายละเอียดสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ต่อบุคคลภายนอก แต่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สัญญาของ กฟผ. ก่อนดำเนินการ

 

ส่วนสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ได้มีการเปิดเผยต้นแบบสัญญาตั้งแต่แรก จึงสามารถสืบค้นข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) 

 

ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเป็นไปตามนโยบายภาครัฐ เพื่อลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ลดหนี้สาธารณะ และเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐเป็นผู้คัดเลือกผู้ผลิตไฟฟ้าฯ ที่มีราคาต่ำสุดในช่วงเวลานั้นๆ โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตามลำดับ ส่วน กฟผ. เป็นเพียงผู้รับซื้อไฟฟ้าตามราคาที่รัฐกำหนด และดำเนินการตามระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าฯ เท่านั้น 

 

ค่าความพร้อมจ่าย ยึดหลักสากลตามสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าระยะยาว 

 

สำหรับค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า (Availability Payment: AP) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ค่าความพร้อมจ่าย เป็นแนวทางปฏิบัติตามหลักสากลสำหรับสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าระยะยาว เพื่อสะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องลงทุน เช่น ค่าเช่า ค่าอุปกรณ์อะไหล่โรงไฟฟ้า ค่าจ้างเดินเครื่องหรือบำรุงรักษา ค่าประกันภัยโรงไฟฟ้า ฯลฯ ในการดูแลรักษาโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมอยู่เสมอ กฟผ. จึงต้องจ่ายค่า AP ที่ถูกกำหนดไว้ตลอดอายุสัญญา 

 

โดยจ่ายเป็นรายเดือนตามความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเท่านั้น หาก กฟผ. ไม่จ่ายจะเป็นการผิดสัญญาและอาจถูกฟ้องร้องได้ ในทางกลับกัน หากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนไม่สามารถเตรียมโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมจ่ายตามที่กำหนดก็จะถูกปรับตามสัญญาเช่นกัน 

 

ทั้งนี้ ค่า AP ของโรงไฟฟ้าเอกชน คิดรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งไม่ได้ปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 จึงไม่ได้ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นในปัจจุบัน 

 

“ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่ายๆ และเห็นภาพชัดเจนคือ การทำสัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าเปรียบเสมือนการทำสัญญาเช่ารถยนต์มาใช้งาน ผู้เช่าจะต้องมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วน คือ ค่าเช่ารถที่ต้องจ่ายทุกเดือน ไม่ว่าจะมีการใช้รถหรือไม่ก็ตาม เฉกเช่นเดียวกับค่า AP ของโรงไฟฟ้า 

 

“ส่วนค่าน้ำมันจะจ่ายมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะทางและการใช้งาน เปรียบได้กับค่าพลังงานไฟฟ้า หรือค่า EP (Energy Payment) เป็นค่าเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าเอกชนจะได้รับก็ต่อเมื่อศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าสั่งการให้โรงไฟฟ้าเดินเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น”

 

แบกรับภาระค่า Ft เป็นการชั่วคราวกว่า 1.5 แสนล้านบาท

 

สำหรับการนำเข้า Spot LNG เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า กฟผ. ไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ เนื่องจากค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเป็นค่าใช้จ่ายตามจริงที่ถูกเรียกเก็บจาก ปตท. ไม่มีการบวกเพิ่มแต่อย่างใด 

 

“กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนตามนโยบายภาครัฐ โดยราคาค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. รับซื้อไม่มีการบวกกำไรเพิ่ม และค่าไฟฟ้าที่ กฟผ. เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นไปตามที่ได้รับการเห็นชอบโดย กกพ. 

 

“ในช่วงวิกฤตพลังงานที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก กฟผ. มิได้นิ่งนอนใจ ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มกำลัง เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน”

 

ปัจจุบัน กฟผ. ยังมีหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท จากการแบกรับภาระค่า Ft เป็นการชั่วคราวกว่า 1.5 แสนล้านบาท

 

ดังนั้นเมื่อ กฟผ. ต้องแบกค่า Ft จึงต้องเจรจาคู่สัญญา เรื่อง การชำระเงิน คือ 

 

  1. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 
  2. การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

 

และต้องทยอยคืนงวดละ 2 หมื่นล้านบาท 7 งวด จะครบ 4 เดือนแรกของปี 2568 ช่วงนั้นรัฐบาลต้องหาเงินมาอุ้ม

 

ด้าน กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีประเด็นอัตราการสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin: RM) ที่มักถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นสาเหตุทำให้ค่าไฟแพงนั้น ปัจจุบันปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยอยู่ที่ 36% ไม่สูงถึง 50-60% โดยตัวเลขดังกล่าวเป็นการนำค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญามาคำนวณ จึงไม่สะท้อนอัตราการสำรองไฟฟ้าแท้จริง อาทิ ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งกลุ่มนี้พึ่งพาไม่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง จึงไม่ใช่สำรองไฟฟ้าที่แท้จริง

 

“ประเด็นการสำรองไฟฟ้ามีมาตลอด ซึ่งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ต้องเตรียมการไว้ เพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ดังนั้นการจะต้องผลิตไฟสะอาดเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมี” กุลิศกล่าว


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X