×

ผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจไทยปี 2565

13.01.2022
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

 การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อแสดงให้เห็นถึงความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ดังนั้นนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการควบคุมระดับเงินเฟ้อภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้มี 2 ปัจจัยที่ทำให้การแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายการเงินอาจเป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสม สาเหตุเพราะอะไร ติดตามได้จากบทความนี้

 

การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มอาหารตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นกลายเป็นประเด็นเศรษฐกิจที่ผู้คนต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลากหลายหมวดหมู่ ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปถึงผู้บริโภคและแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย เพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์เงินเฟ้อ ณ ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น จึงขอโอกาสทำความเข้าใจถึงที่มาของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และแนวทางรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อในปีนี้ 

 

เทรนด์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกิดขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

ประเด็นเรื่องเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นของไทยในปีนี้ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อถือเป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก เนื่องจากความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นตามการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้สินค้าเกิดความขาดแคลนมากขึ้น และนำมาซึ่งราคาสินค้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าหลักที่เป็นตัวแปรสำคัญ คือ ราคาพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ที่มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงไตรมาส 4/64 จึงส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป มีการเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 6.8% และ 5.0% ตามลำดับ

 

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานเช่นเดียวกัน โดยในช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของไทยมีค่าเฉลี่ยเติบโต 2.4% ซึ่งถือว่าสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของปี 2564 ที่ 1.2% เกือบเท่าตัว และเมื่อพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่าสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันโลก จนส่งผลให้ราคาค่าขนส่งและการเดินทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 4/64

 

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยปี 2565 จึงยังคงถูกกดดันจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเบาบางลง ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการพลังงานยังคงมีสูงตลอดทั้งปี ยิ่งไปกว่านั้นราคาไฟฟ้าและก๊าซหุงต้มที่มีการตรึงราคามาตั้งแต่ปีที่แล้วก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ระดับ 1.7% ซึ่งเป็นระดับที่อยู่ในกรอบเป้าหมายระยะยาว

 

ตัวเลขอัตราเงินเฟ้ออาจสะท้อนถึงผลกระทบแค่บางส่วนที่เกิดขึ้นจริงต่อผู้บริโภค 

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่เราควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและผลกระทบต่อผู้บริโภคผ่านค่าครองชีพที่สูงขึ้น คือ ทั้งสองสิ่งแม้จะมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกัน แต่ระดับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจไม่เท่ากัน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อเป็นการพิจารณาการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในประเภทสินค้าเฉพาะเจาะจง จากตะกร้าสินค้ามาตรฐานที่รวบรวมสินค้าหลากหลายประเภทในระบบเศรษฐกิจเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งทำให้การคำนวณอัตราเงินเฟ้ออาจมีประเภทสินค้าและการให้น้ำหนัก (Weight) การบริโภคที่แตกต่างจากการบริโภคที่แท้จริงในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป เช่น เนื้อสัตว์ทุกประเภท รวมกันคิดเป็นสัดส่วนเพียง 9% ของตะกร้าสินค้าในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ในขณะที่หมวดรถยนต์และน้ำมันเชื้อเพลิงมีสัดส่วนคิดเป็น 15% ของเงินเฟ้อของไทย  

 

ผลของความแตกต่างระหว่างตะกร้าสินค้าในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อและสินค้าที่มีการบริโภคจริง ทำให้ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในระดับ 1-2% อาจไม่ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำที่มีสัดส่วนการบริโภคสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภคสูง อาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าหมวดอาหารสดในปัจจุบัน เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารตามสั่ง ข้าวแกง ที่เพิ่มขึ้น 5-10 บาท แต่คิดเป็นการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพในหมวดอาหารมากกว่า 5% เลยทีเดียว  

 

นโยบายทางการเงินมีบทบาทน้อยต่อการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ จากหน้าที่ที่ต้องสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 

ในทางทฤษฎี การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อแสดงให้เห็นถึงความร้อนแรงของสภาพเศรษฐกิจ ดังนั้นนโยบายการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญในการควบคุมระดับเงินเฟ้อภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้มี 2 ปัจจัยที่ทำให้การแก้ปัญหาโดยใช้นโยบายการเงินอาจเป็นแนวทางที่ไม่เหมาะสม 

 

ปัจจัยแรก คือ สาเหตุหลักของราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในครั้งนี้ไม่ได้มาจากการเติบโตอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจ แต่มีสาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ประกอบกับการขาดแคลนสินค้า ซึ่งโดยทั่วไปแล้วถือเป็นปัญหาระยะสั้นที่สามารถแก้ไขได้จากการเพิ่มอุปทานเข้าไปในระบบมากขึ้น ในระยะยาวเรื่องราคาน้ำมันโลกที่คาดการณ์โดยหน่วยงานพลังงานของสหรัฐฯ ก็เชื่อมั่นว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลงในระยะยาวได้ เมื่อกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตหลักอย่าง OPEC มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565

 

ปัจจัยที่สอง คือ สภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังคงมีความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดระลอกที่ 5 ภายในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจบริการและท่องเที่ยว และอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการดำเนินนโยบายทางการเงินให้สอดคล้องกับสภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันยังคงต้องการการสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเช่นนี้

 

ดังนั้นแนวทางการแก้ปัญหาหลัก คือ การใช้มาตรการทางการคลังในการตรึงราคาสินค้าและสนับสนุนให้อุปสงค์และอุปทานของสินค้าในระบบมีความสมดุลกันมากขึ้น สำหรับด้านผู้บริโภค การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่เราสามารถวางแผนการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ควบคุมการบริโภคตามความจำเป็น เพื่อให้ได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อในครั้งนี้อย่างน้อยที่สุด

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising