วานนี้ (6 กันยายน) ที่ชุมชนโรงหวาย เขตสวนหลวง ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ปิยะวรรณ จระกา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตสวนหลวง ผู้บริหารสำนักการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่เพื่อค้นหาเด็กยากจนพิเศษในชุมชนที่มีความเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา เพื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบคัดกรองของกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา และรับการสนับสนุนทุนการศึกษาจาก กสศ. ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปีการศึกษา เพื่อป้องกันเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
โดยเด็กที่ผ่านหลักเกณฑ์จะได้รับทุนการศึกษาดังนี้ ระดับอนุบาล รับทุนการศึกษา 4,000 บาทต่อคนต่อปี ระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ป.1 – ม.3) รับทุนการศึกษา 3,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2565 กสศ. ตั้งเป้าสนับสนุนทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 5,000 คน หากมีเด็กที่ผ่านการคัดกรองและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนดเกิน 5,000 คน ส่วนที่เกินจาก 5,000 คน จะได้รับทุนการศึกษาจากงบประมาณปี 2566 ซึ่งมอบให้ในภาคเรียนที่ 2 ต่อไป
ศานนท์กล่าวว่า ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาจำนวนมาก ไม่เฉพาะจากเรื่องของสภาพเศรษฐกิจ แต่มีเรื่องของสถานการณ์โควิดด้วย โรงเรียนก็ประสบปัญหาที่ไม่สามารถดึงเด็กทุกคนให้อยู่ในโรงเรียนได้ การลงพื้นที่ในวันนี้มีความสำคัญ เป็นการป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
สำหรับทุนการศึกษาที่ได้รับอาจไม่มาก แต่มีความสำคัญกับชุมชนมาก ได้สั่งให้ทุกเขตเร่งลงพื้นที่สำรวจเด็กที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามระยะเวลาที่กำหนดในเดือนกันยายนนี้ สำหรับเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการศึกษาอย่างเดียว ยังบ่งบอกถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมในอนาคตด้วย ถ้าสามารถปิดหรือหยุดได้ในวันนี้ ก็จะทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมหายไป ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ยังสามารถนำไปขยายผลดำเนินการในเรื่องอื่นเพิ่มเติมได้
สำหรับนักเรียนยากจนพิเศษ หมายถึงนักเรียนยากจนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ด้วยวิธีการวัดรายได้ทางอ้อมแบบ Proxy Means Test: PMT โดยดูจากรายได้สมาชิกในครัวเรือนไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อปี และสถานะครัวเรือน 8 ด้าน ได้แก่ 1. ครอบครัวมีภาวะพึ่งพิง 2. การอยู่อาศัย 3. ลักษณะที่อยู่อาศัย 4. ที่ดินทำการเกษตรได้ 5. แหล่งน้ำดื่ม 6. แหล่งไฟฟ้า 7. ยานพาหนะ และ 8. ของใช้ในครัวเรือน