ความเคลื่อนไหวในรอบปี 2563 ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นอกเหนือจากความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 EEC ยังมีความก้าวหน้าในด้านการพัฒนาชุมชนด้วย โดยเฉพาะการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ เพื่อระดมพลังมาร่วมกันพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 3 จังหวัดของ EEC
ในปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดของ EEC ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง เพื่อผนึกกำลัง องค์ความรู้ ภูมิปัญญาจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในอนาคต ผ่านโครงการสำคัญๆ ได้แก่
โครงการเสริมสร้างพลังและการมีส่วนร่วมของกลุ่มสตรี
สกพอ. ได้จัดทำโครงการเพื่อส่งเสริมให้มีการดูแลและเฝ้าระวังด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ EEC เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม
การตั้งรับและการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่อาจส่งผลในทางตรงและทางอ้อมต่อชุมชนและท้องถิ่น พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสตรีกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างองค์ความรู้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการชุมชนด้วยตนเอง ผ่านการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำร่องกลุ่มสตรีในพื้นที่ 3 จังหวัด จังหวัดละ 60 คน
โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบในพื้นที่ EEC
สกพอ. ได้สนับสนุนให้บัณฑิตจบใหม่ ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ มาร่วมทำหน้าที่สำรวจข้อมูลเชิงลึกในทุกมิติทั้งระดับอำเภอและชุมชน พร้อมทั้งรายงานผลกระทบจากการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทั้งด้านคุณภาพชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นภายในชุมชน เพื่อนำข้อมูลมาวางแผน แก้ไขปัญหา หรือพัฒนา ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
โดย สกพอ. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนและมหาวิทยาลัยบูรพา ภายใต้การลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของทั้ง 3 หน่วยงาน และได้จัดอบรมบัณฑิตอาสาต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้บัณฑิตอาสาต้นแบบมีความพร้อมทั้งทักษะความรู้และพร้อมทำงานร่วมกับชุมชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่ และในอนาคตก็ยังมีแผนงานที่จะพัฒนาและสร้างบัณฑิตอาสารุ่นต่อๆ ไป ขึ้นมาเป็นผู้นำและมีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบ
โครงการเยาวชนอาสาเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
โดยมีเป้าหมายในการปลูกฝังให้เยาวชน ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในพื้นที่ EEC ให้มีจิตสำนึกที่คำนึงถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่ EEC ควบคู่กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างถูกต้อง โดย สกพอ. ได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยโครงการป่าสิริเจริญวรรษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชลบุรี เป็นหน่วยงานดำเนินการค่ายเยาวชนอาสาจำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 80 คน รวมทั้งสิ้น 400 คน
โครงการ ‘EEC Tambon Mobile Team’
โดยความร่วมมือจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อเสริมสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจอันดีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ต่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ผ่านหัวหน้าหน่วยงานระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ครอบคลุม 30 อำเภอ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ให้สามารถนำความรู้ไปเผยแพร่ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และมีความเข้าใจต่อการพัฒนาพื้นที่ตามนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล รายงานปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ให้ สกพอ. ทราบ เป็นการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 2,700 คน
โครงการเสริมศักยภาพเครือข่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนา EEC
เป็นโครงการที่ต่อยอดผลการดำเนินงานจากปี 2562 เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับต่อการขยายตัวในพื้นที่ EEC ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาและสร้างพลเมืองสีเขียว (Green Citizen) โดยต้องการสร้างเยาวชนให้เป็นผู้นำหรือต้นแบบ (Idol) ให้แก่
เยาวชนรุ่นน้องในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ตลอดจนเสริมสร้างทักษะเพิ่มขีดความสามารถผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ และการศึกษาดูงานในพื้นที่ EEC พร้อมทั้งยังสร้างองค์ความรู้ให้กับครูและนักเรียนที่อยู่ในพื้นที่ EEC ให้มีความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาในโครงการ EEC และโครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นครูและนักเรียนจำนวน 19 โรงเรียน
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรการของโรงเรียน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่านการจัดทำสื่อออนไลน์ (คลิปวิดีโอ) แสดงมาตรการการป้องกัน ซึ่งเป็นไปตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดไว้ เช่น การจัดเตรียมแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อให้เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน การประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการล้างมือที่ถูกวิธี และการจัดทำเส้นแบ่งการเดินขึ้นอาคารเรียน เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด เป็นต้น