×

พ.ร.บ. อีอีซี ผ่านมติเอกฉันท์ สนช. – กังวลให้สิทธิต่างชาติมากไป รัฐบาลยันฟังความเห็นครบแล้ว

28.09.2017
  • LOADING...

     28 ก.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 175 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … หรือ ร่าง พ.ร.บ. อีอีซี ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย นายอุตตม สาวนายน รมว. อุตสาหกรรม และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี ร่วมประชุมเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวต่อ สนช.

     สำหรับร่าง พ.ร.บ. อีอีซี มีสมาชิก สนช. ขออภิปรายแสดงความเห็นในวาระแรกจำนวนมากถึง 19 คน โดยส่วนใหญ่เป็นห่วงเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม การขาดการรับฟังความเห็นที่เพียงพอ และความชัดเจนเกี่ยวกับการถมทะเล ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ให้ข้อสังเกตเป็นพิเศษในเรื่องการยกเว้นข้อปฏิบัติตามกฎหมายปกติต่างๆ และให้สิทธิประโยชน์จำนวนมากทั้งการถือครองที่ดิน การเช่าที่ดิน 99 ปี และสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการให้อำนาจเบ็ดเสร็จต่อคณะกรรมการนโยบายอีอีซีในการอนุมัติให้สิทธิประโยชน์อุตสาหกรรมต่าง ๆ

     นอกจากนี้ สมาชิก สนช. ยังกังวลเรื่องความไม่ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมไทยจะได้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่อีอีซีอย่างไร ขณะที่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และการส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรไทยในอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูงก็ยังไม่เห็นความชัดเจนนัก

     สุพรรณ มงคลสุธี สมาชิก สนช. และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรม อภิปรายเห็นด้วยกับหลักการว่าเราจำเป็นต้องมีอุตสาหกรรมใหม่เข้ามาทดแทน แต่คำถามคืออุตสาหกรรมไทยได้ประโยชน์อย่างไร

     การมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการกำหนดการถ่ายทอดเทคโนโลยี โอกาสร่วมทุนในกิจการโดยคนไทย รวมถึงอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาในอีอีซีทั้งหมด มีโอกาสให้อุตสาหกรรมห่วงโซ่ในไทยได้ประโยชน์ด้วยหรือไม่ เพราะไม่อยากให้ไทยเป็นเพียงประเทศที่ให้เขาเข้ามากอบโกย แต่เราควรจะได้ประโยชน์ด้วย

     นอกจากนี้ยังกังวลในกฎหมายที่ให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายอีอีซีกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ได้ ซึ่งข้อเสียคืออาจเปิดช่องให้ตั้งอุตสาหกรรมเพื่อรองรับผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

     สาธิต ชาญเชาวน์กุล สมาชิก สนช. และอดีตเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้มีความเบ็ดเสร็จในตัว รวมเอากฎหมายและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ มารวมไว้ที่คณะกรรมการนโยบายอีอีซี โดยมีอำนาจอนุมัติให้สิทธิผู้ประกอบการต่างๆ ได้ อีกทั้งผู้ลงทุนต่างชาติยังได้รับการยกเว้นมากมาย

     ด้าน วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงว่า รัฐบาลพยายามหาสิ่งจูงใจให้นักลงทุนเข้ามา โดยดูตัวอย่างเขตเศรษฐกิจทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จ และดูจุดอ่อนจากรายงานการประเมินของต่างประเทศ เช่น การอนุญาต-การอนุมัติที่ล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น รวมถึงเรื่องภาษี แรงงานต่างด้าว และผังเมือง

     ยืนยันว่าสิทธิเศษที่ระบุไว้ จะให้เฉพาะในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ใช่ให้คลอบคลุมทั้งเขตพัฒนาเต็มจังหวัด

     วิษณุ ชี้แจงด้วยว่า ร่างกฎหายฉบับนี้ผ่านการรับฟังความเห็นแล้ว 7 ครั้ง 7 เวที  เข้าที่ประชุม ครม. อีก 3 ครั้ง เห็นว่าร่างกฎหมายนี้ผ่านการรับฟังความเห็นน่าจะมากที่สุดกว่าทุกกฎหมายที่เคยเสนอเข้า สนช. มา

     ส่วนประเด็นเรื่องการให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายอีอีซีอย่างมาก ชี้แจงว่า โครงสร้างคณะกรรมการอีอีซีแทบจะยกคณะรัฐมนตรีเข้าไปทั้งคณะโดยมีรัฐมนตรี 12 คน จาก 12 กระทรวง ซึ่งเห็นว่าครอบคลุมการตัดสินใจได้หลายเรื่อง

     ส่วนเรื่องการถมทะเล ทุกวันนี้ทำได้แต่มีขั้นตอนตามกฎหมายต้องอาศัยรัฐมนตรีคมนาคม กลาโหม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จำลองรูปแบบเหล่านั้นมาใส่ในคณะกรรมการอีอีซีแล้ว

     ขณะที่ อุตตม สาวนายน รมว. อุตสาหกรรม ชี้แจงประเด็นการให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ยืนยันว่าจะไม่มีให้โดยอัตโนมัติแน่นอน การให้สิทธิจะสอดรับกับกฎหมายที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และเทียบเคียงได้กับตัวอย่างประเทศอื่นๆ

     ท้ายที่สุดที่ประชุมลงมติเอกฉันท์ 175 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ. อีอีซี ในวาระแรก พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการร่วมแปรญัตติจำนวน 30 คน กำหนดเวลาการทำงานต้องให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุม สนช. ลงมติต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X