×

อีอีซี-อีสท์ วอเตอร์ ลงนามเช่าที่ดิน 35 ไร่ ลงทุน 1,100 ล้านบาท สร้างระบบประปา-บำบัดน้ำเสีย รองรับเมืองการบินอู่ตะเภา

04.12.2020
  • LOADING...

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมีกำหนดส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนในสิ้นปี 2564 จากนั้นใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดใช้ในปีถัดไปคือ 2568 

 

การลงทุนกิจการงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสียสำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับศูนย์กลางการบินแห่งที่ 3 ของประเทศในอนาคต

 

 

โดยรูปแบบการลงทุนคือภาครัฐ (EEC) แบ่งพื้นที่ราชพัสดุ 35 ไร่ให้กับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ ลงทุนมูลค่ารวม 1,066 ล้านบาท สร้างโรงงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย รวมถึงระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ หรือน้ำรีไซเคิล ตลอดระยะเวลาสัญญา 29 ปี 6 เดือน ส่วนระบบการส่งน้ำประปาเป็นหน้าที่ของผู้บริหารสนามบินอู่ตะเภา

 

ขณะที่ผลตอบแทนที่รัฐจะได้รับคือค่าเช่าที่ดิน 1.1 แสนบาทต่อเดือน ขึ้นค่าเช่า 9% ทุกๆ 3 ปี, แบ่งรายได้จากการขายน้ำให้รัฐ 7% ของรายได้ รวมถึงค่าจัดประโยชน์ให้กับรัฐประมาณ 18-20 ล้านบาท

 

 

โครงการนี้ผ่านการเจรจาและพิจารณาสัญญาอย่างละเอียดรัดกุมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของรัฐอย่างดีที่สุด จนที่สุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดย ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในฐานะผู้ให้เช่า ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุกับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ โดย จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ในฐานะผู้เช่า เป็นผู้ลงนามในสัญญาเช่า พร้อมด้วยสักขีพยานในพิธี ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

 

 

ทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นโครงการเอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP ที่ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยสัญญาร่วมลงทุนได้กำหนดไว้ให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐเป็นผู้จัดหาสาธารณูปโภคประปาและระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องใช้ในพื้นที่โครงการ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล เนื่องจากสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยและเป็นศูนย์กลางด้านการบินในอนาคต 

 

ทั้งนี้ กองทัพเรือและ สกพอ. เล็งเห็นความสำคัญของการใช้น้ำอย่างประหยัดภายในพื้นที่โครงการ จึงได้กำหนดให้มีขอบเขตของการนำน้ำกลับมารีไซเคิล โดยระบุในเอกสารการคัดเลือกผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบกิจการสาธารณูปโภคนอกเหนือจากงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย

 

โดย บริษัท อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุในเขตส่งเสริม พื้นที่ 35 ไร่ เพื่อประกอบกิจการด้านงานระบบประปา ระบบน้ำเสีย ระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่หรือน้ำรีไซเคิลตลอดระยะเวลาสัญญา 29 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

ขณะที่ จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์ วอเตอร์ เปิดเผยว่า อีสท์ วอเตอร์ มีแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา โดยมีระบบท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล – ดอกกราย – มาบตาพุด – สัตหีบ สามารถส่งจ่ายน้ำดิบได้มากถึง 318 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 0.87 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน อีกทั้งได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการวางท่อส่งน้ำมาบตาพุด – สัตหีบ เส้นที่ 2 เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต เพิ่มศักยภาพการส่งจ่ายน้ำดิบในอีก 10 ปีถัดไปได้อย่างเพียงพอยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ อีสท์ วอเตอร์ มีการออกแบบระบบผลิตน้ำประปาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขนาดกำลังการผลิต 20,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งเป็นการผลิตน้ำประปาที่สะอาด มีคุณภาพระดับสากล ลดการใช้พื้นที่ติดตั้ง มีกำลังการผลิตได้ตามความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียให้เหมาะกับโครงการที่เป็นการพัฒนาพื้นที่

ในระยะยาว รองรับน้ำเสีย 16,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สร้างระบบน้ำรีไซเคิลกำลังการผลิต 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในระบบทำความเย็นกลาง

 

ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าโครงการใส่ใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตั้งเป้าหมายให้การพัฒนาโครงการอยู่ควบคู่ไปด้วยกันได้กับชุมชนโดยรอบสนามบินอู่ตะเภา

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X