×

เลขาฯ อีอีซี ยืนยัน ศูนย์กระจายสินค้าอาลีบาบาในไทย ไม่กระทบผู้ค้าออนไลน์

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2019
  • LOADING...
Alibaba

สร้างความกังวลใจให้กับพ่อค้าแม่ขายสินค้าออนไลน์พอสมควร จากกรณีที่ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากแดนมังกร ‘อาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group)’ ตัดสินใจทุ่มเงินมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท เข้ามาลงทุนจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลอัจฉริยะ (Smart Digital Hub) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าอัจฉริยะแห่งแรกในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ 

 

เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้ค้าออนไลน์ในไทยในวันนี้ก็รับสินค้าจากจีนเข้ามาค้าขายกันเป็นจำนวนมาก การมุ่งหน้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยของอาลีบาบาจึงนำไปสู่การตั้งข้อสังเกตที่ว่า สินค้าจีนที่ขายบนแพลตฟอร์ม Lazada หรือ AliExpress อาจจะมีราคาถูกลง และย่นระยะเวลาการส่งถึงมือลูกค้าได้เร็วกว่าที่เป็นอยู่หลายเท่าตัว

 

นั่นเท่ากับว่า บทบาทของพ่อค้าแม่ค้าคนกลางที่นำสินค้าจีนเข้ามาขายในไทยก็อาจจะถูก ‘ตัดขาด’ ไปโดยปริยาย 

 

ต่อประเด็นนี้ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ชี้แจงกับสำนักข่าว THE STANDARD ว่า ความร่วมมือระหว่างอีอีซีและทางอาลีบาบาเกิดขึ้นด้วยเหตุผลหลักๆ 2 ประการ นั่นคือ การนำสินค้าของไทยส่งออกไปขายยังประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ และการช่วยพัฒนาส่งเสริมบุคลากรในประเทศ

 

“กรณีข้อกังวลที่เกิดขึ้น เราระมัดระวังมาก เราคุยกับ แจ็ค หม่า ตั้งแต่วันแรกที่อาลีบาบาจะเข้ามาในประเทศไทยว่า หลักการของอาลีบาบาจะต้องไม่ใช่การเอาของมาขายในประเทศไทย แต่ประกอบด้วย 2 ข้อ  

 

“ข้อแรกคือ การเปลี่ยนให้ไทยเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นำสินค้าของไทยไปขายในจีน ซึ่งอาลีบาบาจะได้เงินมากกว่าการเข้ามาทำอีคอมเมิร์ซในไทยด้วยตัวเองเสียอีก และเริ่มทำไปแล้วกับการส่งออกทุเรียนและผลไม้

 

“ส่วนข้อถัดมาคือ การให้ความรู้กับบุคลากรคนไทย เพื่อให้สามารถขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ได้ โดยตอนนี้ก็เริ่มเทรนบุคลากรไปแล้วกว่า 600 แล้ว จากเป้าหมายในปีนี้ทั้งหมดที่กว่า 1,000 คน ดังนั้น กระบวนการทำงานของอาลีบาบากับอีอีซีคือ ไม่ใช่ว่าเขาเอาสินค้าของตัวเองมาขายในประเทศไทย แต่คือการช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มการทำอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยมากกว่า”

 

อย่างไรก็ดี ดร.คณิศ แย้มเป็นนัยว่า ในอนาคต หากอาลีบาบาอยากจะเข้ามาทำธุรกิจในไทยจริงๆ ก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะห้ามไม่ให้ยักษ์ใหญ่จากจีนเดินกลยุทธ์เช่นนั้น และหากถึงช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ค้าในไทยและอาลีบาบาก็อาจจะต้องแข่งขันกัน

 

“ถ้าเขามาขอยื่นใบอนุญาตทำอีคอมเมิร์ซในไทย เราก็ต้องให้เขา ก็ต้องแข่งขันกันอยู่แล้ว เพียงแต่ในกรณีที่เราเปิดทางให้เขาเข้ามาครั้งนี้ เราขอให้เขาเพลาเรื่องการทำธุรกิจในประเทศไทย และให้ช่วยเน้นเรื่องการส่งออกและเทรนบุคลากรในไทยมากกว่า”

 

ขณะที่ประเด็นการอำนวยความสะดวกให้อาลีบาบาชำระภาษีศุลกากรเป็นทุก 14 วัน แทนที่จะเป็น ‘ทุกวัน’ เหมือนตามธรรมเนียมปฏิบัติ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่า เข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ให้กับยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจากจีนนั้น เลขาธิการอีอีซียืนยันว่า วิธีการดังกล่าวไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับอาลีบาบาแต่อย่างใด 

 

ตรงกันข้าม ถือเป็นวิธีการทดสอบกระบวนการต้นแบบการอำนวยความสะดวกทางศุลกากร และแก้ปัญหาให้กับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในบริบทของโลก ณ ปัจจุบัน ซึ่งหากวิธีการดังกล่าวมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จหรือราบรื่น ก็มีโอกาสที่กรมศุลกากรจะนำวิธีพิเศษนี้ไปเป็นต้นแบบประยุกต์ใช้กับเขตอื่นๆ เหมือนกัน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X