×

THE STANDARD POP: ป๊อปคัลเจอร์ช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้อย่างไร

06.09.2018
  • LOADING...

หลักการทำงานที่เรายึดถือตลอดมาคือทำในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อคนอื่น ถึงวันนี้มันก็เป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่ท้าทายมากๆ ว่าป๊อปคัลเจอร์จะช่วยสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้อย่างไร

 

หัวใจหลักของ THE STANDARD คือการเป็นสำนักข่าวที่นำเสนอข้อมูลสร้างสรรค์ น่าเชื่อถือ ให้แรงบันดาลใจ และสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม สำหรับ THE STANDARD POP เรายังคงทำงานบนพื้นฐานความคิดเดียวกัน แต่เป็นการจัดหมวดหมู่การนำเสนอให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อผู้สนใจป๊อปคัลเจอร์โดยตรง และถ้าเปรียบเป็นคาแรกเตอร์ THE STANDARD อาจจะเป็นพี่ชายมาดเท่ นิ่ง THE STANDARD POP ก็เหมือนน้องคนเล็กที่ผ่อนคลายมากขึ้น สนุกสนานกับสิ่งรอบตัวได้มากขึ้น

 

นอกจากเนื้อหาที่เกี่ยวกับคัลเจอร์ หรือวัฒนธรรมที่เราเสพซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตทั้งในเรื่องของดนตรี ศิลปะ ภาพยนตร์ โทรทัศน์ แฟชั่น ความงาม ไลฟ์สไตล์ เรายังคัดสรรเรื่องราวที่ช่วยขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคม เช่นเดียวกับการได้เห็นศิลปินในแสงไฟประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนในการเคลื่อนไหวเพื่อสังคมที่ดีขึ้น

 

บียอนเซ่ ศิลปินที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดตลอดกาล นอกจากความสามารถรอบด้านทั้งร้อง เต้น เขียนเพลง บียอนเซ่ยังผลักดันเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของผู้หญิงและคนผิวสีผ่านผลงานอยู่เสมอ ตั้งแต่ปี 2014 ในงาน MTV VMAs ที่เธอเลือกร้องเพลงเพื่อสนับสนุนพลังผู้หญิงอย่าง Run the World (Girls), Single Ladies, Pretty Hurts จนมาถึงโชว์ในเทศกาล Coachella เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บียอนเซ่เลือกใช้คอนเซปต์ HBeyCU เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมของคนผิวสีในอเมริกาให้มีสิทธิ์เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยอย่างเท่าเทียม จนมาถึงผลงานล่าสุดกับมิวสิกวิดีโอเพลง Apeshit ที่บียอนเซ่ร่วมทำกับเจย์-ซีในชื่อ The Carters ยังคงสะท้อนเจตนารมณ์เพื่อความเท่าเทียมของผู้คนไม่ว่าสีผิวใดก็ตาม

 

แบรนด์แฟชั่นรักษ์สิ่งแวดล้อม Stella McCartney ที่ประกาศไม่ใช้ขนสัตว์จริงในทุกคอลเล็กชัน และนำวัสดุเหลือใช้มารีไซเคิลเป็นผ้าไนลอนคุณภาพดีเพื่อใช้ในแบรนด์ของตัวเอง, ริฮานนาที่เข้าใจผู้หญิงทุกความแตกต่าง กับแบรนด์เครื่องสำอางของเธอที่ทำรองพื้น 40 เฉดสีเพื่อผู้หญิงทุกเชื้อชาติศาสนาได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ยอดเยี่ยมประจำปี 2017 จากนิตยสาร Time, รายการเรียลิตี้เมกโอเวอร์ Queer Eyes ที่ช่วยเปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้น ทั้งการเข้าสังคม การแต่งตัว ปรับภาพลักษณ์เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ทุกตอนที่ดูมันช่วยให้เราอยากเปลี่ยนตัวเองให้ดีขึ้น ทั้งยังเปลี่ยนให้เรามองเห็นคุณค่าในผู้คนที่แม้จะไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงมาก่อน

 

มองย้อนกลับมาที่เมืองไทย ปลายปีที่แล้ว อาทิวราห์ คงมาลัย หรือตูน บอดี้สแลม เลือกหยุดการทำงานดนตรีเพื่อปลุกปั้นโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ เขาออกวิ่งเป็นระยะทาง 2,215 กิโลเมตร จนรวบรวมเงินบริจาคจากคนทั้งประเทศได้มากถึง 1,400 ล้านบาทเพื่อมอบให้กับ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยมีความตั้งใจเล็กๆ ในจุดเริ่มต้นที่อยากเห็นคนไทยหันมาออกกำลังกาย

 

การก่อตั้งองค์กร EEC โดย อเล็กซ์ เรนเดลล์ และเต้ย จรินทร์พร เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิชาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เชอรี่ เข็มอัปสร ที่เลือกทำงานเป็นนักอนุรักษ์เต็มตัวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งการปลูกป่า สร้างฝายกั้นน้ำ สร้างอาชีพ เพื่อลดวงจรการทำลายสิ่งแวดล้อม, หรือปรากฏการณ์ BNK48 เกิร์ลกรุ๊ปที่ทำให้เห็นพลังของเด็กสาววัยรุ่นผู้ไม่ยอมแพ้ต่อความฝัน และพลิกตัวเองจากเด็กผู้หญิงธรรมดาจนกลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ

 

จะเห็นได้ว่าจุดเริ่มต้นของศิลปินเหล่านี้อยู่ที่ความหวังในการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เริ่มได้จากตัวเราเอง ซึ่งจริงๆ แล้วพวกเขาไม่จำเป็นต้องทำสิ่งเหล่านี้ก็ได้ แต่ที่ลุกมาทำก็เพราะรู้ว่าพลังของคัลเจอร์ช่วยหล่อหลอมและเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นได้

 

เราอยู่ในสังคมแบบไหน คัลเจอร์ที่อยู่ในสังคมนั้นๆ จะเป็นสิ่งสะท้อน THE STANDARD POP จะเป็นเพื่อนคุณในแบบนั้น เนื้อหาที่ชวนคิด ชวนตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่ค่อยๆ ปรับรูปร่างคัลเจอร์ของเราให้ดีขึ้น น่าอยู่ น่าจดจำมากขึ้น

 

เจิมสิริ เหลืองศุภภรณ์
บรรณาธิการบริหาร
THE STANDARD POP

#WhatCultureMeans #TheStandardPop #TheStandardCo

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI

THE STANDARD POP: What culture means.

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising