ตลาดกระทิงปี 2024 เป็นขาขึ้นที่น่าสงสัย
สหรัฐอเมริกาเริ่มปีด้วยดอกเบี้ยนโยบาย 5.50% สูงที่สุดในรอบ 24 ปี ตลาดเชื่อว่าเศรษฐกิจไม่น่าจะทนต้นทุนนี้ไหว Fed อาจต้องลดดอกเบี้ย 150-200 bps
ผ่านมาไม่ถึงครึ่งปี มุมมองเหล่านี้กลับสวนทางไปหมด ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาด ตลาดหุ้นก็ทำ All Time High แม้ Fed อาจไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้
มุมมองที่เปลี่ยนไปมา ทำให้ Position ของตลาดผิดเพี้ยน แม้ตลาดจะเป็นขาขึ้น แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ถือเงินสด ล่าสุด Bank of America รายงานว่า กลยุทธ์สุดโต่งในตลาดช่วงนี้คือ 70% ถือดอลลาร์ที่ผลตอบแทน 5% และที่เหลือเก็งกำไรกับ AI ทั้งหมด
ในมุมมองของผม มีหลายประเด็นที่น่าสงสัยและกลับไปมา แต่สำหรับการลงทุน เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้เร็วที่สุดคือ ‘ความสวนทาง’ ของแนวโน้มต่างๆ เพราะอาจทำให้เกิดความผันผวนรุนแรงได้ในครึ่งปีหลัง
1. เศรษฐกิจสวนทางระหว่างสหรัฐฯ กับทั่วโลก
ตลาดแรงงานกำลังชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ล่าสุดการว่างงานขยับขึ้นแตะ 4.0% จากจุดต่ำสุด 3.4% ช่วงกลางปี 2023 แม้จะไม่ถดถอย แต่ก็ไม่มีสัญญาณเร่งตัวขึ้น
สวนทางกับทั่วโลกที่ฝั่งยุโรปเริ่มเห็นการฟื้นตัวของอุตสาหกรรม เงินเฟ้อลดลง ส่วนฝั่งทางการจีนกลับมากระตุ้นการลงทุนเพื่อประคองเศรษฐกิจ
แนวโน้มเศรษฐกิจที่สวนทางนี้อาจนำไปสู่ความติดขัดด้านธุรกิจหรือปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ สงครามการค้าจะกลับมาเป็นประเด็นที่ต้องจับตาในช่วงที่เหลือของปี
2. นโยบายการเงินสวนทางระหว่าง Fed กับธนาคารกลางใหญ่ทั่วโลก
ย้อนไปก่อนหน้านี้ ตลาดมองไปทางเดียวกันว่าไม่น่าจะมีธนาคารกลางใหญ่ที่ไหนกล้าลดดอกเบี้ยก่อน Fed เพราะอาจสร้างความผันผวนสูง
แต่ล่าสุดสองธนาคารกลางใหญ่อย่าง Bank of Canada (BOC) และ European Central Bank (ECB) เริ่มลดดอกเบี้ยไปแล้ว และเงิน CAD และ EUR ก็ไม่ได้อ่อนค่ามากอย่างที่กังวล
เหตุผลหลักที่ตลาดกลับลำ ไม่มองว่าการผ่อนคลายสวน Fed เป็นข่าวร้าย ผมเชื่อว่ามาจากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ยิ่งถ้าการลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพิ่ม อาจพลิกเป็นข่าวดีสำหรับบางประเทศ
ระยะสั้นความสวนทางนี้อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ส่วนต่างของดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับทั่วโลกที่กว้างขึ้น จะเป็นตัวเร่งความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อไรที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวหรือตลาดทุนปรับฐาน
3. หุ้นและบอนด์สวนทาง
ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาตลาดการเงินซื้อ-ขายในโหมด Tightening (หุ้นและบอนด์ปรับตัวลง) เพียง 4 เดือน นอกนั้นจะ Easing (หุ้นและบอนด์ปรับตัวขึ้น) 5 เดือน และหุ้นขึ้นอีก 3 เดือน
ในภาพรวมเป็นสัญญาณว่าหุ้นปรับตัวขึ้นได้แม้ไม่มีนโยบายการเงินสนับสนุน แต่บอนด์กลับถูกกดดันด้วยนโยบายการเงิน เงินเฟ้อ และการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง
ความสวนทางของหุ้นและบอนด์ไม่ใช่ภาพปกติของตลาดการเงินในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่หุ้นขึ้นต่อ เป็นกลุ่ม AI หรือมีประเด็นในประเทศเข้ามาสนับสนุน มากกว่าแนวโน้มวัฏจักรรอบใหม่
ผมมองว่าหุ้นและบอนด์ที่เคลื่อนไหวสวนทางนี้ สุดท้ายจะมีเพียงหนึ่งตลาดที่ถูกต้อง และเราจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ในไม่ช้า
สำหรับนักลงทุนไทย การวางกลยุทธ์รับมือกับความสวนทางเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรคิดทันที
สำหรับระยะสั้น ความสวนทางไม่ใช่ข่าวร้ายกับตลาดไปทั้งหมด เป็นโอกาสของการลงทุนต่อเนื่อง
สำหรับผม แม้ดัชนีหุ้นหลายประเทศจะทำจุดสูงสุดใหม่สวนทางเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัว แต่เมื่อแนวโน้มการผ่อนคลายทางการเงินเริ่มจุดติด จะทำให้ Sentiment ไม่เป็นลบ ไม่ใช่จังหวะที่ต้องรีบลดความเสี่ยง
ใครมีหุ้นระดับเหมาะสมแล้ว สามารถถือต่อได้ แต่ถ้ากังวลก็สามารถหลบไปอยู่บนหุ้นขนาดใหญ่และหุ้น DM นอกสหรัฐฯ ไว้ก่อน
3-6 เดือนต่อจากนี้ควรจับตาไปที่การเมืองสหรัฐฯ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการควบคุมธุรกิจ AI
มีความเป็นไปได้สูงที่ความสวนทางข้างต้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายเศรษฐกิจหรือการเมือง ทางที่ดีคือ หาการลงทุนที่ตอบโจทย์ความเสี่ยงเหล่านี้ด้านบวกติดพอร์ตไว้
เช่น ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ นักลงทุนสามารถกระจายพอร์ตไปที่ทองคำหรือดอลลาร์ในสัดส่วนรวมกัน 10-20% ได้ ส่วนหุ้น AI อาจเปลี่ยนจากกลุ่ม Semiconductors ที่มีความเสี่ยงสูง ไปเป็นการลงทุนตามดัชนีไปก่อน
สำหรับนักลงทุนระยะยาว การเพิ่มสัดส่วนสินค้าโภคภัณฑ์และบอนด์สามารถลดความเสี่ยง Valuation ลงได้
ความสวนทางทั้งหมดทำให้การลงทุนกระจุกตัวผิดปกติทั้งในหุ้น AI และบอนด์ระยะสั้น แต่ในที่สุดผมมองว่านโยบายการเงินสหรัฐฯ จะต้องผ่อนคลาย และเศรษฐกิจจะเข้าสู่วัฏจักรรอบใหม่ที่ต้องใช้สินค้าโภคภัณฑ์เป็นพื้นฐานการเติบโต เมื่อเวลานั้นมาถึงดอกเบี้ยก็จะกลับสู่ปกติ และการเติบโตจะกระจายไปสู่ทุกกลุ่มไม่ใช่แค่ Tech หรือ AI
โดยสรุป ยิ่งความสวนทางเกิดขึ้นมากเท่าไร การกระจายการลงทุนระหว่างสินทรัพย์และธีมก็ยิ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญมากขึ้นเท่านั้นครับ
ผลตอบแทนหุ้นและบอนด์โลก 12 เดือนล่าสุด (สกุลเงิน: ดอลลาร์สหรัฐ)
อ้างอิง:
- Bloomberg and Finansia Syrus Securities