×

ธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจสำคัญส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องสยบเงินเฟ้อตามรอย Fed

28.08.2022
  • LOADING...
ธนาคารกลาง

ผู้บริหารธนาคารกลางจากหลายประเทศเศรษฐกิจสำคัญได้ออกมาส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ว่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องจนกว่าปัญหาเงินเฟ้อจะถูกสยบลงได้

 

Isabel Schnabel สมาชิกคณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ให้ความเห็นระหว่างเข้าร่วมงานประชุมประจำปีของ Fed ที่ Jackson Hole ในรัฐไวโอมิงว่า ปัจจุบันยุโรปกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่ระดับ 10% ขณะที่ระดับเงินเฟ้อคาดการณ์ก็ยังอยู่ในจุดที่ไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งภายใต้สภาพแวดล้อมเช่นนี้ ธนาคารกลางจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้คนจะเริ่มสงสัยในเสถียรภาพระยะยาวของสกุลเงิน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


Schnabel กล่าวอีกว่า เธอทราบดีว่าการใช้นโยบายการเงินสกัดเงินเฟ้อจะมาพร้อมกับความเสี่ยงสูงขึ้นที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ถึงกระนั้น ธนาคารแต่ละแห่งก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของประธาน Fed อย่าง Jerome Powell ที่ระบุว่า การทำให้เงินเฟ้อลดลงอาจต้องแลกมาด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเป็นระยะเวลาหนึ่ง

 

ทั้งนี้ ECB จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในเดือนกันยายนนี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ระดับ 0.75% หลังจากที่ในการประชุมเมื่อเดือนกรกฎาคม ECB ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 0.50%

 

Francois Villeroy de Galhau สมาชิกสภาการกำกับดูแลของ ECB กล่าวบนเวทีเดียวกันว่า ธนาคารกลางซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายจะต้องจริงจังกับการจัดการเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะต้องมาปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างโหดร้ายโดยไม่จำเป็นในภายหลัง

 

ขณะที่ Thomas Jordan ประธานธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ ประเมินว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงในหลายประเทศทรงตัวอยู่ในระดับสูงไปอีกหลายปี

 

“มีสัญญาณบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังแพร่กระจายไปยังสินค้าและบริการในกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโควิดหรือสงครามในยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆ” Jordan กล่าวเตือน

 

ด้าน Agustin Carstens ผู้บริหารของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ระบุว่า ธนาคารกลางต่างๆ ไม่สามารถหวังให้การเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่นทั้งหมดได้โดยไม่มุ่งเน้นที่จะดูแลอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำและคงที่ก่อน โดยเขามองว่าการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบันจำเป็นต้องตอบสนองต่อความท้าทายเร่งด่วนคือเงินเฟ้อก่อน

 

Joachim Nagel ผู้ว่าการธนาคารกลางเยอรมนี กล่าวว่า ขณะนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป ดังนั้นสิ่งที่ธนาคารกลางต้องทำในสถานการณ์เช่นนี้คือการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารต้องสื่อสารอย่างชัดเจน เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับตลาด

 

“เมื่อถึงจุดที่ต้องหยุดขึ้นดอกเบี้ย เราก็ต้องหยุด แต่สถานการณ์ที่ซับซ้อนในปัจจุบันทำให้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะยุติลงเมื่อไร” Nagel กล่าว

 

ในฝั่งเอเชีย Rhee Chang Yong ผู้ว่าการธนาคารกลางเกาหลีใต้ ซึ่งกำลังต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้ออยู่เช่นกัน ประเมินว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เกาหลีใต้และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียจะกลับสู่ภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำเหมือนกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด

 

ด้าน Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีความแตกต่างจากที่ยุโรปและสหรัฐอเมริกาค่อนข้างมาก เนื่องจากเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังอยู่ที่ระดับ 2.4% และปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นคือราคาสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงาน และอาหารในตลาดโลก

 

“เงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะลดลงในปลายปีนี้หรือปีหน้า เราจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องจนกว่าค่าจ้างและเงินเฟ้อจะเข้าสู่จุดที่มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน” Kuroda กล่าว

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising