×

นักเศรษฐศาสตร์ห่วงปัญหา ‘หนี้สินคนไทย’ สร้างความเปราะบางต่อเศรษฐกิจ หลังผลสำรวจพบผู้คนเตรียมกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อชำระหนี้เก่า

01.04.2023
  • LOADING...
ปัญหา หนี้สิน คนไทย

นักเศรษฐศาสตร์ห่วงปัญหาหนี้สินคนไทยสร้างความเปราะบางต่อเศรษฐกิจ หลังผลสำรวจพบผู้คนเตรียมกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อชำระหนี้เก่า จี้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง พร้อมเผยความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยในยาว

 

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุในงาน Thailand’s Economic and Bank Outlook ซึ่งจัดโดย Fitch Ratings ประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 มีนาคมว่า เรื่องที่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจไทยขณะนี้คือระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงและมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น พร้อมชี้ว่าประเด็นปัญหานี้ต้องถูกแก้ไขอย่างจริงจัง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


“ผมคิดว่าประเด็นที่เราต้องห่วงมี 2 เรื่องคือ หนี้ครัวเรือนซึ่งอยู่ในระดับสูง แก้ไม่ง่าย​ และใช้เวลามากๆ ยังไม่เห็นประเทศไหนในโลกนี้แก้ได้ แต่ต้องแก้ มิเช่นนั้นประเทศก็จะมีความเปราะบาง โดยวิธีการแก้หนี้ไม่ใช่การลดหนี้อย่างเดียว แต่เป็นการเพิ่มรายได้เพิ่มขึ้นด้วย ต่อมาคือหนี้ภาครัฐ​ซึ่งวันนี้อยู่ในระดับต่ำ และผมมองว่าสามารถเพิ่มขึ้นได้​ ถ้าเราไม่มีการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี และการใช้เงินที่สามารถเพิ่มรายได้ในอนาคต” ดร.สมประวิณกล่าว

 

ดร.สมประวิณคาดการณ์อีกว่า ภายในสิ้นทศวรรษนี้ (ปี 2573) หนี้สาธารณะต่อ GDP ต่อหัวของไทยจะอยู่ที่ 66% เนื่องจากโครงสร้างทางภาษีที่เก็บได้น้อย และใช้จ่ายเยอะ

 

ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงให้เห็นว่าหนี้ครัวเรือนไทยขยายตัว 3.9% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นสัดส่วน 86.8% ต่อ GDP ในไตรมาส 3/65 ขณะที่ตามข้อมูลจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะระบุว่า หนี้สาธารณะคงค้างของประเทศไทย ณ เดือนกุมภาพันธ์ปี 2566 อยู่ที่ 61.13% ต่อ GDP 

 

ผู้คนเตรียมกู้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อชำระหนี้เก่า

ผลสำรวจ SCB EIC ชี้ว่าลูกหนี้หน้าใหม่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด และในอนาคตมีแนวโน้มกู้ยืมมากขึ้นเพื่อชำระหนี้เก่าเป็นหลัก

 

โดยผู้ที่ไม่มีภาระหนี้ในช่วงก่อนโควิดราว 40% ก่อหนี้นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด (หรือมีเป็นหนี้หน้าใหม่เพิ่มขึ้น 40%) และคนที่มีภาระหนี้อยู่ก่อนแล้วมีภาระหนี้เพิ่มขึ้น 61% นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด

 

นอกจากนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค (SCB EIC Consumer Survey) ระหว่างวันที่ 20 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ จากผู้ตอบแบบสารวจ 2,969 คน ยังพบว่าในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ผู้ตอบแบบสำรวจมีแนวโน้มกู้ยืมมากขึ้นเพื่อชำระหนี้เก่า โดยผู้ที่กู้ยืมจากแหล่งเงินกู้ในระบบ กู้นอกระบบ หรือกู้ทั้งสองแหล่งมีแนวโน้มจะกู้เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน

 

ความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า

ดร.สมประวิณเปิดเผยอีกว่ารู้สึกกังวลมากกับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างเยอะมาก ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ เช่น สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และนวัตกรรม (Innovation) โดยมองว่า 2 เรื่องที่ประเทศไทยต้องเร่งมือทำ ได้แก่ การความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ซึ่งกำลังกลายเป็นทิศทาง (Direction) สำคัญของโลก และการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานโลก

 

“ESG คือทิศทางสำคัญของโลก หากไทยไม่เร่งดำเนินการอาจทำให้สินค้าไทยขายออกไม่ได้ภายใน 10-20 ข้างหน้า SCB เราคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไรกับลูกค้าเรา เราต้องช่วยเขาทรานส์ฟอร์มด้วย เขาตาย เราก็ตาย นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก” ดร.สมประวิณกล่าว

 

พร้อมอธิบายต่อว่า “สมัยก่อนห่วงโซ่อุปทานโลกมีวงเดียวเท่านั้นคือ ห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chain) แต่ปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานเปลี่ยนไปเป็นห่วงโซ่มูลค่าภูมิภาค (Regional Value Chain) เนื่องจากผู้คนไม่ได้ซื้อของที่ถูกที่สุดอีกต่อไป แต่ซื้อของที่มีความเชื่อถือได้และทนทานมากที่สุด (Rely and Resilient) ดังนั้นประเทศไทยจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเรายังไม่เห็นนโยบายเศรษฐกิจต่างประเทศส่วนนี้เท่าไร” ดร.สมประวิณกล่าว

 

สุดท้าย ดร.สมประวิณยังแนะว่าไทยควรเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีความทั่วถึง (Inclusive) มากขึ้น เนื่องจากถ้าไปดูแผนพัฒนาในอดีตช่วง 30 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าไทยเลือกให้ความสำคัญกับ ‘เจ้าใหญ่’ ก่อน โดยหวังว่าเจ้าใหญ่จะช่วยกระจายห่วงโซ่อุปทานออกไป โดยไทยอาจแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้โดยการสร้างตลาดภูมิภาค (Regional Market) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่มีส่วนร่วมมากขึ้น

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising