×

นักเศรษฐศาสตร์ห่วงวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนลากยาว กดดันเงินเฟ้อปีนี้ทะลุ 4% กระทบไทยฟื้นตัว ชี้มาตรการกระตุ้นทางการคลังยังจำเป็น

28.02.2022
  • LOADING...
นักเศรษฐศาสตร์ห่วงวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนลากยาว กดดันเงินเฟ้อปีนี้ทะลุ 4% กระทบไทยฟื้นตัว ชี้มาตรการกระตุ้นทางการคลังยังจำเป็น

นักเศรษฐศาสตร์มองสงครามรัสเซีย-ยูเครนมีผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยน้อย แต่ห่วงผลกระทบทางอ้อมผ่านราคาน้ำมัน-สินค้าโภคภัณฑ์ กดดันเงินเฟ้อฉุดการฟื้นตัวหลังโควิด ชี้มาตรการกระตุ้นทางการคลังยังจำเป็น

 

สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจทางตรงจากปัญหาความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่จะมีต่อประเทศไทยจะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก เนื่องจากรัสเซียเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 37 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 0.3% ของการส่งออกในภาพรวม ขณะที่ยูเครนเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 79 ของไทย มีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่เพียง 0.04%

 

“สินค้าที่เราค้าขายกับสองประเทศนี้จะอยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ ยางพารา เครื่องจักร มูลค่าไม่ถือว่าสูงมากนัก ในช่วงที่ผ่านมานักท่องเที่ยวรัสเซียถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของไทย แต่ภายใต้สถานการณ์โควิดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มาอยู่แล้ว ทำให้ผลกระทบโดยตรงในภาพรวมไม่น่าจะมากนัก” สมประวิณกล่าว

 

อย่างไรก็ดี สมประวิณระบุว่า สิ่งที่ควรจับตามองมากกว่าในเวลานี้ คือผลกระทบในทางอ้อมจากปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยชะลอตัวลงในช่วงไตรมาสแรกของปี และอาจต้องเผชิญปัญหาในภาคการผลิต

 

“เรายังต้องรอดูว่าเหตุการณ์จะจบเร็วหรือไม่ ถ้าจบเร็วปัญหาซัพพลายดิสรัปชันคงไม่น่าจะเกิด การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะสะดุดแค่ชั่วคราว แต่ถ้ารบกันยาวยืดเยื้อผลกระทบก็จะรุนแรงขึ้น ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงานและสินแร่สำคัญรายใหญ่ของโลก ขณะที่ยูเครนก็เป็นผู้ผลิตธัญพืชและข้าวโพดที่สำคัญของยุโรป” สมประวิณกล่าว

 

สมประวิณกล่าวว่า ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เงินเฟ้อโลกปรับตัวขึ้นเร็วกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ช้าอย่าง เช่น ไทย มากกว่าประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีและพร้อมที่จะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเงินเฟ้อได้แล้ว

 

“ประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว เขาจะพร้อมขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่าคาด ส่วนของไทยเราเศรษฐกิจยังฟื้นได้ช้าและไม่เท่าเทียม เรายังมีคนกลุ่มล่างที่รายได้ยังไม่กลับมา ถ้าเงินเฟ้อเร่งขึ้นอีกก็จะเป็นแรงฉุดให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยิ่งเปราะบางมากขึ้น” สมประวิณกล่าว

 

สมประวิณกล่าวอีกว่า เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะเร่งตัวขึ้นในขณะที่ไทยยังไม่พร้อมขึ้นดอกเบี้ย ทำให้การใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังมีความจำเป็นอยู่ แต่ภาครัฐอาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของนโยบายให้เน้นไปที่การสร้างงานและส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น นอกจากการใช้งบประมาณเพื่อกระตุ้นการบริโภคอย่างเดียว

 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่จะมีต่อไทยจะเกิดขึ้นผ่านความผันผวนของตลาดการเงินโลก และผ่านราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นเป็นหลัก เนื่องจากไทยไม่ได้มีการค้าขายโดยตรงกับทั้งสองประเทศนี้มากนัก ส่วนภาคท่องเที่ยวก็คงไม่มีผลกระทบอะไรเพิ่มเติมภายใต้สถานการณ์โควิด

 

“ผลกระทบจากการรบกันที่เราเห็นแล้วคือตลาดหุ้นผันผวนทั่วโลก ของไทยก็ปรับลดลงมาแรงเช่นกัน ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็ทะลุ 100 ดอลลาร์ไปแล้ว เพราะรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถึง 10% ของตลาดโลก” กอบศักดิ์กล่าว

 

กอบศักดิ์ระบุว่า สิ่งที่นักลงทุนต้องจับตาดูกันในขณะนี้คือท่าทีของสหรัฐฯ, EU และกลุ่ม NATO ว่าจะทำอะไรต่อไป จะส่งกองกำลังทหารหรือไม่ และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าปัญหาจะลุกลามบานปลายมากน้อยเพียงใด และจะส่งผลต่อความผันผวนของตลาดการเงินโลกอย่างไร

 

“ในช่วงที่คนกังวลกันว่าสถานการณ์อาจไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในยูเครน จะเห็นว่าราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะไปถึง 1,980 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่พอ NATO ประกาศว่าจะไม่ส่งทหารเข้าไปในยูเครน ให้แค่ประจำการอยู่ในประเทศรอบๆ ก็ทำให้ราคาลดลงมาอยู่ที่ 1,900 ดอลลาร์ต่อออนซ์ทันที” กอบศักดิ์กล่าว

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) ประเมินว่า หากสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อและลากยาวออกไป อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบยืนสูงอยู่ที่ระดับสูงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยมีโอกาสที่ราคาน้ำมันอาจขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 110-115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้เงินเฟ้อไทยเร่งตัวแรงขึ้นไปอีกจนกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้

 

“ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเราประเมินว่าเงินเฟ้อไทยในช่วงปลายไตรมาสแรกถึงต้นไตรมาสสองจะขึ้นไปแตะระดับ 4% ขณะที่เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีน่าจะยังอยู่ที่ระดับ 2-2.5% แต่ถ้าราคาน้ำมันขึ้นไปค้างอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน เงินเฟ้อในช่วงแรกของปีอาจสูงกว่า 4% ขณะที่เฉลี่ยทั้งปีอาจขึ้นไปแถวๆ ระดับ 4% ได้” นริศกล่าว

 

นริศกล่าวอีกว่า นอกจากราคาน้ำมันและสินค้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อแล้ว ในกรณีที่สถานการณ์ลากยาวเศรษฐกิจไทยยังอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่ไทยมีการส่งออกในสัดส่วนสูง เนื่องจาก 1 ใน 3 ของก๊าซธรรมชาติที่ใช้อยู่ในยุโรปมาจากรัสเซีย ดังนั้นหากมีการคว่ำบาตรรัสเซีย ยุโรปจะเจอปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X