×

เตรียมรับมือ! นักเศรษฐศาสตร์ชี้ โคโรนาสายพันธ์ุใหม่ทำเศรษฐกิจโลกเสียหายมากกว่าซาร์ส 4 เท่า

31.01.2020
  • LOADING...

สำนักข่าว Bloomberg รายงานการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่ประเมินว่า ผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อมากกว่า 9,776 รายแล้ว (นับจนถึงช่วง 11.30 น. ของวันศุกร์ที่ 31 มกราคม) อาจจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจโลกมากถึงประมาณ 3-4 เท่า

 

เมื่อเทียบกับไวรัสซาร์สที่เคยระบาดหนักในจีนเมื่อปี 2003 ที่มีมูลค่าความเสียหายประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท เท่ากับว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2020 นี้อาจจะได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึงราว 120,000-160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.7-5 ล้านล้านบาท

 

วอร์ริค แมคคิบบิน (Warwick McKibbin) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่า การเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดของเศรษฐกิจจีนตลอดระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ในขณะนี้มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโลกแบบมหาศาล

 

“เมื่อจีนเติบโตจนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ มูลค่าความเสียหายย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย มันคือหลักคิดทางคณิตศาสตร์” แมคคิบบินกล่าว

 

ย้อนกลับไปในปี 2003 ที่ไวรัสซาร์สแพร่ระบาด ในเวลานั้น Bloomberg ระบุว่า เศรษฐกิจจีนคิดเป็นแค่สัดส่วน 4% ของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันยักษ์ใหญ่จากแดนมังกรมีขนาดเศรษฐกิจเทียบเท่า 17% ของเศรษฐกิจโลก 

 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ Nomura International คาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโคโรนาสายพันธ์ุใหม่นี้จะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนมากกว่าช่วงที่ไวรัสซาร์สแพร่ระบาดแน่นอน โดยมีความเป็นไปได้ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้จะ ‘ลดลงเป็นอย่างมาก’ และอาจจะลดมากกว่า 2% จากที่เคยเติบโตเมื่อ 6% ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2019

 

ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมินเอาไว้ว่า หากวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธ์ุใหม่ส่อเค้ายืดเยื้อส่งผลกระทบระยะยาวอีก 3 เดือนต่อจากนี้ โอกาสที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2563 จะลงต่ำกว่า 5% ก็จะเพิ่มขึ้นสูงตามไปด้วย (เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 5.5-5.9%)

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising