×

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้มาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ อาจกดดันเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 1% แต่ไม่เผชิญภาวะถดถอยซ้ำซ้อน เหตุภาคส่งออกหนุน

08.07.2021
  • LOADING...
นักเศรษฐศาสตร์ ชี้มาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ อาจกดดันเศรษฐกิจไทยโตต่ำ 1% แต่ไม่เผชิญภาวะถดถอยซ้ำซ้อน เหตุภาคส่งออกหนุน

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า หากภาครัฐนำมาตรการล็อกดาวน์ที่มีความเข้มข้นใกล้เคียงกับปีก่อนมาใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตได้ต่ำกว่าระดับ 1% ตามการบริโภคที่จะชะลอตัวลง 

 

อย่างไรก็ดี ยังมองว่าผลกระทบจะไม่ถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจกลับไปติดลบ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีแรงหนุนจากภาคการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี และการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นของภาครัฐ

 

“หากย้อนไปดูช่วงเดือนเมษายนปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์จะพบว่าตัวเลขค้าปลีกลงแรงทุกตัว โดยกลุ่มเครื่องดื่มลงแรงกว่ากลุ่มอาหาร หากมีการนำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้แน่นอนว่าการบริโภคจะได้รับผลกระทบ แต่ถ้าถามว่าจะแรงเท่าปีที่ผ่านมาหรือไม่ คงต้องรอดูว่าความเข้มข้นและความยืดเยื้อของมาตรการที่กำลังจะออกมาก่อน แต่ยังเชื่อว่าในภาพรวมเศรษฐกิจจะไม่ติดลบเนื่องจากภาครัฐยังมีมาตรการทางการคลังที่จะช่วยกระตุ้นการบริโภค ขณะที่ส่งออกปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 15% ถ้าการระบาดของสายพันธุ์เดลตาไม่กระทบการฟื้นตัวของจีนและสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยพยุงเศรษฐกิจเราได้” อมรเทพกล่าว

 

สำหรับความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิคหรือเติบโตติดลบสองไตรมาสติดต่อกัน อมรเทพระบุว่า มีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ แต่ยังเชื่อว่าหากสามปัจจัยสำคัญคือ มาตรการการเงิน มาตรการการคลัง และมาตรการสาธารณสุขมีการบริหารที่ดีเศรษฐกิจไทยจะไม่เข้าสู่ภาวะดังกล่าว และจะเริ่มฟื้นตัวได้ในเดือนสิงหาคม

 

“การปล่อยซอฟต์โลนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่กำลังอยู่ในภาวะเปราะบางซึ่งยังดูล่าช้าอยู่ในตอนนี้ อาจจะต้องทำให้เร็วขึ้น ไม่เช่นนั้นการหยุดของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนหนึ่งในช่วงล็อกดาวน์อาจจะไม่ใช่การหยุดเพียงชั่วคราว แต่อาจจะต้องปิดตัวไปเลย” อมรเทพกล่าว

 

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ศูนย์วิจัยเชื่อว่าหากมาตรการล็อกดาวน์ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งจะทำให้การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเผชิญกับกำลังซื้อที่เปราะบางอยู่แล้วชะลอตัวลงอีก อย่างไรก็ดี ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะยังขยายตัวได้ที่ระดับ 1-1.5%

 

“เราประเมินผลว่าจีดีพีไตรมาสสองเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกน่าจะติดลบ 4% แต่ยังเชื่อว่าไตรมาสสามและสี่จะไม่ติดลบ ทำให้ไทยไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค โดยยังเชื่อว่าไทยจะควบคุมสถานการณ์ และทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลงมาต่ำกว่าวันละ 500 คนได้ภายในเดือนตุลาคม” ณัฐพรกล่าว

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X