×

เมื่อ ‘นักเศรษฐศาสตร์’ ใจร้าย หั่น GDP กันอุตลุด

19.07.2021
  • LOADING...
economist and GDP

นักเศรษฐศาสตร์พาเหรดกันหั่นการคาดการณ์เศรษฐกิจให้ต่ำกว่า 2% โดยมองอีกว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวต่ำกว่า 1% หรือถึงขึ้นติดลบเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันได้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตารุนแรงและเลวร้ายมากขึ้น ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ที่อาจจะขอต่อเวลาจาก 14 วันออกไป หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูงและยังไม่มีท่าทีว่าจะลดลง ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รายได้คนที่หดหาย 

 

ประกอบกับความเชื่อมั่นทั้งนักลงทุนและผู้บริโภคที่ลดลง น่าจะมีผลให้เศรษฐกิจช่วงไตรมาสที่สามนี้หดตัวเทียบไตรมาสที่สอง (หลังปรับฤดูกาล) เรียกว่าหดตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาสเป็นระยะเวลาสองไตรมาสติดต่อกัน (ไตรมาสสองก็แย่ เทียบไตรมาสแรก) หรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าภาวะถดถอยทางเทคนิค ซึ่งรูปแบบการฟื้นตัวที่หดตัวลงมาเป็นรอบที่สองหลังการระบาดรอบแรก อาจมีลักษณะคล้ายตัว W แม้ขาหลังที่ลงจะไม่ลึกมากเท่ารอบแรก แต่ก็มีผลให้การฟื้นตัวสะดุดและเศรษฐกิจในปีต่อๆ ไปก็เสี่ยงโตช้าลง การบริโภคชะลอแรง การท่องเที่ยวยังอ่อนแอ มีเพียงภาคการส่งออกสินค้า การผลิตกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าส่งออก และการใช้จ่ายจากาครัฐยังพอเป็นแรงขับเคลื่อน 

 

แต่ถ้าสายพันธุ์เดลตาลามไปสหรัฐอเมริกาจนวัคซีน Pfizer รับมือได้น้อยลงแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจอ่อนแอลงจะกระทบภาคการส่งออกของไทยจนเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ได้

 

…อ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกหรือยังครับว่านักเศรษฐศาสตร์ใจร้ายแค่ไหน ชอบมองภาพลบทางเศรษฐกิจหรือปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย เพื่อให้ตัวเลขการคาดการณ์หรือสมมติฐานที่ใช้ไม่เป็นเพียงแค่ทางทฤษฎี ผมคงต้องสวมบทนักเศรษฐศาสตร์จอมซอกแซกไปสอบถามร้านค้าและผู้บริโภคดูว่า เศรษฐกิจมันกำลังจะแย่ขนาดนั้นเลยหรือ

 

พ่อค้า แม่ค้า ทำใจได้นานแค่ไหน

 

ผมเป็นห่วงการค้าปลีกว่าจะได้รับผลกระทบจากการระบาดและการล็อกดาวน์รอบนี้เพียงไร หากดูตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุตัวเลขการค้าปลีกในเดือนเมษายนในหมวดอาหารหดตัว 2.1% เครื่องดื่มหดตัว 11.0% และเสื้อผ้าหดตัว 20.1% จากเดือนมีนาคม จะเห็นว่า แม้รูปแบบการหดตัวเทียบเดือนต่อเดือน อาจไม่รุนแรงเท่าเดือนเมษายนปีก่อนซึ่งเป็นช่วงแรกเริ่มของการระบาด แต่พ่อค้าแม่ค้าในกลุ่มต่างๆ นี้จะทำใจกับยอดขายที่ตกและอาจมีแนวโน้มลดลงยาวได้นานแค่ไหน 

 

ผมลองซอกแซกสอบถามกลุ่มที่ทำร้านกาแฟก็ได้ความว่า ยอดขายแทบเป็นศูนย์ คือเรียกว่าขายไม่ได้เลย เพราะเมื่อไม่มีคนเดินทางมาทำงาน หรือเดินซื้อของตามห้างสรรพสินค้า ยอดขายก็ลดลง อีกทั้งเมื่อลูกค้าไม่สามารถมานั่งรับประทานในร้านได้ ลูกค้าก็ไม่อยากมาร้าน เพราะเขาอาจต้องการมาเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานหรือนั่งประชุมมากกว่าเพียงสั่งกาแฟ หากสถานการณ์การระบาดยังรุนแรง หรือมีคำสั่งจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง ร้านเขาอาจเลือกที่จะปิดตัว เลิกจ้างพนักงาน รวมทั้งงดจ่ายหนี้ที่ค้างกับผู้ส่งวัตถุดิบและค่าเช่าร้าน 

 

ส่วนมาตรการเยียวยาชดเชย เช่น ค่าแรงจากประกันสังคม หรือมาตรการชดเชยอื่นๆ จากภาครัฐ รวมทั้งสินเชื่อจาก ธปท. อาจต้องเร่งเบิกจ่ายให้รวดเร็วมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้นอาจมีอีกหลายธุรกิจต้องปิดตัวลง และการปิดรอบนี้อาจไม่ใช่การปิดชั่วคราว อาจไม่ใช่รอคลายล็อกดาวน์แล้วมาเปิดใหม่ แต่หากเบี้ยวหนี้ เลิกจ้างคนงาน ไม่จ่ายค่าเช่า อาจสร้างบาดแผลให้กลับมาลำบากขึ้น 

 

ในส่วนของร้านอาหารก็คล้ายกัน แต่น่าจะดีกว่าร้านกาแฟ แม้จะรับประทานอาหารในร้านไม่ได้ แต่ก็ซื้อกลับหรือขายผ่านกลุ่มแพลตฟอร์มส่งอาหาร แต่เท่าที่สอบถาม ยอดขายลดลงเหลือราว 20-30% ส่วนการส่งผ่านแพลตฟอร์มส่งอาหารก็ได้รายได้ลดลงหลังหักค่าส่วนแบ่ง และไม่ใช่อาหารทุกประเภทจะสามารถซื้อกลับไปทานที่บ้านได้ หรือบางอย่างก็มีรสชาติที่เปลี่ยนไป และยังไม่นับว่าลูกค้ากังวลเรื่องความสะอาดจากร้านค้า จากคนส่งอาหาร หรือจากรายได้ที่ลดลง เวลาที่มากขึ้น และอยากทำอาหารเองที่บ้าน 

 

สำหรับเสื้อผ้าหรือสินค้าอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น แล้วพ่อค้าแม่ค้าจะอดทนกันได้นานแค่ไหน วันนี้เรารับรู้ข่าวการล็อกดาวน์ 14 วัน แต่หากดูบทเรียนในต่างประเทศ หลายที่ล้วนขยายเวลาออกไปเพื่อให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงกว่านี้ แล้วเขาจะรอได้นานแค่ไหน 1 เดือน 2 เดือน หรือ 3 เดือน หรือจนกว่าคนไทยจะได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพกันไวรัสกลายพันธุ์ได้จนครบ เจ้าของร้านและแรงงานในภาคบริการคงได้รับผลกระทบอย่างมาก และหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเงินชดเชยหรือเงินกู้ฉุกเฉินหรือพักชำระหนี้แล้ว การปิดชั่วคราวอาจเป็นการปิดกิจการถาวร

 

อย่าคาดหวังจากวัคซีนมากเกินไป

 

ไม่แปลกที่คนจะให้ความหวังวัคซีนว่าจะเป็นตัวฟื้นเศรษฐกิจ มาตรการทางการคลังหรือมาตรการทางการเงินทำได้แค่ประคองให้เราผ่านช่วงเวลานี้ไปจนกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง ดังนั้น หากจะให้การล็อกดาวน์ที่กระทบเศรษฐกิจนี้ไม่เป็นการสูญเปล่า คือเจ็บแล้วจบจริง สามารถทำให้ไวรัสไม่กลับมาระบาดหนักจนต้องกลับไปปิดเมืองอีก เราคงต้องทำเหมือนในต่างประเทศ คือ ลดการออกนอกบ้าน และเร่งฉีดวัคซีนในช่วงนี้ การฉีดวัคซีนอาจทำในเชิงรุก คือ เข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาด พร้อมๆ กับการตรวจและคัดแยกผู้ติดเชื้อเพื่อให้เขาได้รับการรักษาและไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น 

 

แต่เราจะหวังจากวัคซีนได้จริงๆ หรือเราควรเผื่อใจ หาแผนสำรองไว้บ้างหากวัคซีนที่เรามีไม่สามารถป้องกันการระบาดได้ดี หรือกรณีเลวร้ายคือเราไม่มีวัคซีนที่มีจำนวนมากพอตามแผนที่วางไว้ เพราะแม้ในสหรัฐฯ หรือในหลายประเทศที่เร่งฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มได้เกือบ 60% ของประชากรวัย 18 ปีขึ้นไป ก็กำลังเผชิญความเสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนอย่าง Pfizer ลดลงเหลือเพียงต่ำกว่า 80% และกำลังศึกษาการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 กันแล้ว 

 

ขณะที่ไทยเรายังมีวัคซีนไม่เพียงพอจะครอบคลุมคนไทยได้เพียงพอในไตรมาสสามนี้ ในกรณีเลวร้ายนี้ ภาคบริการอาจเตรียมใจรับมือกับรายได้ที่หายยาว ถ้าจะสู้ต่ออีก 3 เดือนเป็นอย่างน้อย ก็น่าจะรีบหาทางตุนเงินสดเป็นค่าจ้างพนักงาน (หลังเจรจาลดครึ่งหนึ่ง) ค่าเช่าร้าน (ถ้ามีและต่อรองลดราคา) ขอยืดการคืนหนี้กับเจ้าหนี้หรือซัพพลายเออร์ที่ขายสินค้าให้ ลดรายจ่ายทุกชนิดที่ไม่จำเป็น แล้วลองดูว่าไหวและพร้อมเสี่ยงหรือไม่ เพราะหากยาวกว่าที่เรารับได้จนต้องปิดกิจการ เงินที่ทุ่มไปก็อาจเสียเปล่า 

 

แม้อนาคตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ผมก็ยังอยากให้ลองสู้ต่อไป เพราะเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญแม้ยังเลวร้าย แต่ก็ไม่น่าแย่เท่าที่เราเจอในปีก่อนที่เราอุตส่าห์สู้มาได้ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการ และเชิญชวนผู้ได้รับวัคซีนแล้วไปใช้บริการร้านเล็กๆ รอบๆ บ้านเรา เพื่อให้ชุมชนของเราจะได้อยู่ได้ครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X