สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก กำลังส่งผลให้ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) หลังเดือนมีนาคมมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น
การใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปจนเข้าใกล้ระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยตลาดกังวลถึงอุปทานน้ำมันที่จะหายไปจากตลาด เนื่องจากรัสเซียถือเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก
ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้ชาวอเมริกันจำนวนมากต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศของสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของ GDP ได้
มาร์ก ซานดี (Mark Zandi) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Moody’s Analytics วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมา 10-15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากวิกฤตดังกล่าวส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งล่าสุดเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ได้ทะยานขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 7.5% แล้ว
“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ Fed คุมเงินเฟ้อและกระตุ้นอัตราการจ้างงานให้กลับมาเต็มที่ได้ยากขึ้น” ซานดีระบุ
ปัจจุบันนักเศรษฐศาสตร์จากหลายสำนักกำลังมองว่า ราคาน้ำมันจะมีผลต่อการกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ในช่วงหลังจากเดือนมีนาคม เนื่องจากในมุมหนึ่งราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจะเป็นตัวเร่งให้เกิดเงินเฟ้อ แต่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่งก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและกลับเข้าสู่จุดสมดุลโดยอัติโนมัติ
บรูซ คาสแมน (Bruce Kasman) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ J.P. Morgan ประเมินว่า โอกาสที่ราคาน้ำมันจะฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าจะทำให้ Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเงินเฟ้อเพียง 0.25% ก่อนในเดือนมีนาคมนี้ จากที่ก่อนหน้านี้ตลาดต่างคาดการณ์กันว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.5% ทันที
“นี่ถือเป็นสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยากสำหรับธนาคารกลาง เพราะความกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวอาจทำให้พวกเขาตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในความเร็วที่ช้าลง แต่ในขณะเดียวกันก็กังวลว่าเงินเฟ้อจะยิ่งเร่งตัวสูงขึ้นจนเป็นปัญหาระยะยาว” คาสแมนกล่าว
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP