×

ปัญหาสุขภาพคนไทยสร้างความเสียหายปีละ 1 หมื่นล้าน เจาะเทรนด์สุขภาพ สังคมสูงวัย และเศรษฐกิจไทยในอนาคต

โดย THE STANDARD TEAM
14.11.2024
  • LOADING...

สังคมสูงวัยกำลังกลายเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มต้องเจอกับปัญหา ‘แก่ก่อนรวย’ โดยในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ หัวข้อ Boosting Thailand’s Health and Economy: Tackling the Silent Threat of Aging Population เศรษฐกิจสุขภาพประเทศไทย เดินหน้าต่ออย่างไรในยุคสังคมผู้สูงอายุ

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร, รศ. นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ เอ็นริโก้ คานัล บรูแลนด์ รองประธานกรรมการและผู้จัดการทั่วไป บริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมถกถึงปัญหาสังคมสูงวัยในมุมมองของเศรษฐกิจ การแพทย์ และผู้สร้างนวัตกรรม รวมไปถึงทางออกในการสร้างสังคมสุขภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

เทรนด์สุขภาพ สังคมสูงวัย และเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

ดร.พิพัฒน์ ฉายภาพไว้ว่าในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ภาวะสังคมสูงวัยนั้นไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยเพียงเท่านั้น แต่เป็นการที่ ‘ประชากรวัยทำงาน’ ของสังคมมีจำนวนลดลง และสำหรับประเทศไทยนั้นผ่านช่วงเวลาที่มีประชากรวัยทำงานในจุดพีคไปแล้วและกำลังอยู่ในสภาวะที่ลดลงในทุกๆ ปี นั่นหมายความว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่สามารถเร่งตัวขึ้นได้หากไม่มีการลงทุนในการสร้าง Productivity ของเครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่

 

อีกทั้งสำหรับประเทศไทยระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านยังมีอัตราเร่งในระดับสูงเช่นกัน หากเปรียบเทียบกับประเทศฝรั่งเศสที่ใช้เวลา 100 ปีในการเปลี่ยนจากสังคมกำลังจะสูงวัย (Aging Society) เข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged Society) แต่สำหรับประเทศไทยใช้เวลาเพียงแค่ 17 ปีเพียงเท่านั้น

 

การที่ประชากรวัยทำงานลดลง ประชากรวัยเกษียณเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงประชากรที่ทำงานเสียภาษีมีจำนวนลดลง ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ลดลงด้วยเช่นกัน

 

นอกเหนือไปจากการเก็บรายได้ที่น้อยลงของประเทศ ยังมีประเด็นของรายจ่ายที่มากขึ้นของประชาชนและรัฐบาล จากการที่ 74% ของสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรไทยนั้นมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) ซึ่งด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่พัฒนาทำให้ประชากรมีอายุขัยยาวนานขึ้น แต่ไม่สามารถที่จะมีผลิตภาพในการทำงาน (Productivity) ในการทำงานได้เท่าคนสุขภาพทั่วไป

 

ดังนั้นโจทย์ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกในปัจจุบันคือการทำให้ประชากรที่สูงอายุสามารถยืดระยะเวลาที่อยู่ในตลาดแรงงานและทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จากการมีสุขภาพที่ดี

 

‘โรคอ้วน’ รากเหง้าของปัญหาสุขภาพที่สร้างความเสียหายกว่า 1.2 % ของ GDP

 

รศ. นพ.ดิลก เจาะลึกไปถึงปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังไว้ว่า นอกเหนือจากประชากรวัยทำงานลดลง อีกหนึ่งประเด็นที่ทางการแพทย์คำนึงถึงคือ ‘ต้นทุนในการรักษา’ เนื่องจากประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นตามมาด้วยจำนวนโรคที่ต้องรักษา

 

โดยปัจจุบันในทางการแพทย์​ ความอ้วนถูกกำหนดให้เป็นโรคเป็นที่เรียบร้อย จากการที่เป็นจุดเริ่มต้นของโรคอื่นๆ ที่จะตามมาอย่างเบาหวาน โรคหัวใจ ความดัน หรือแม้กระทั่งโรคไต ซึ่งสร้างภาระทางด้านค่าใช้จ่ายทางการแพทย์มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

นอกจากนี้ยังได้เสริมประเด็นผลกระทบของโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจกว่า 1 แสนล้านในแต่ละปี เนื่องจากการทำได้ไม่เต็มผลิตภาพทั้งในแง่ของ การขาดงาน (Absenteeism) และ การทำงานแต่ไม่เต็มประสิทธิภาพ (Presenteeism) ในบางรายอาจมีการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Premature Retirement) จากปัญหาสุขภาพ

 

ประเทศไทยต้องสร้างนวัตกรรมและการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ ประชาชน และเอกชน

 

ทางออกของปัญหาทั้งในทางเศรษฐศาสตร์และทางการแพทย์มองหาคือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และผู้ที่มีบทบาทสำคัญคือ ‘ภาคเอกชน’

 

เอ็นริโก้จากบริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทยาสัญชาติเดนมาร์กที่มีประวัติยาวนานมากกว่า 100 ปี ที่มีจุดเริ่มต้นจากการผลิตอินซูลิน ปัจจุบันโนโว นอร์ดิสค์ เล็งเห็นถึงปัญหาของโรคอ้วนซึ่งเป็นหนึ่งในต้นตอของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ โดยได้ลงทุนการวิจัยระดับคลินิก (Clinical Trials) สำหรับการพัฒนายานวัตกรรมในการรักษาโรคอ้วนและโรคเบาหวานในประเทศไทย เป็นเม็ดเงินสูงถึง 150 ล้านบาท

 

และด้วยจุดเด่นทางด้านการแพทย์ ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะกลายเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนายานวัตกรรมในระดับเอเชียและระดับโลกได้

 

ซึ่งทางโนโว นอร์ดิสค์ ไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาการลุกลามของโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จึงได้จัดทำความร่วมมือกับทางภาครัฐ (Public-Private Partnerships: PPPs) เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาเหล่านี้ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เนื่องจากปัญหาสุขภาพ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน

 

ทั้งสามท่านเล็งเห็นว่ากุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพของสังคมไทยจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การสนับสนุนความรู้และการศึกษา การสร้างแรงจูงใจ (Incentive) จากทางภาครัฐ อีกทั้งภาคเอกชนควรมีบทบาทในการลงทุนและสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงการสนับสนุนความร่วมมือกับทางภาครัฐ และภาคประชาชนก็ควรให้ความร่วมมือในการตอบรับนโยบายเพื่อให้แก้ไขปัญหาระบบสุขภาพได้อย่างยั่งยืน

 

สุดท้ายแล้วโรคอ้วนจึงควรถูกบรรจุให้กลายเป็นวิกฤตของประเทศและวาระแห่งชาติ ที่ต้องมุ่งเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาและจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทั้ง 3 ภาคส่วนที่ได้กล่าวไปข้างต้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising