×

ถกกรรมการเฉพาะกิจแก้วิกฤตเศรษฐกิจครั้งแรกหลังนายกฯ ตั้ง เตรียมร่วมทุนตั้งโรงงานปุ๋ยโพแทส แก้นำเข้าจากต่างประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
11.08.2022
  • LOADING...
ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วันนี้ (11 สิงหาคม) ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, ปลัดกระทรวง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เห็นชอบแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-Up Urgent Policy) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจพิจารณากำหนดรายละเอียดมาตรการ และเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป สรุปสาระสำคัญดังนี้

 

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า การประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการเฉพาะกิจฯ ในวันนี้ถือเป็นการประชุมที่มีความสำคัญอย่างมาก เพื่อให้คณะกรรมการได้ร่วมพิจารณาวางแผนแนวทางการปฏิบัติ ในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ให้สอดคล้องกับการทำงานของคณะกรรมการชุดอื่นๆ รวมถึงคณะรัฐมนตรีและรัฐบาล โดยคณะกรรมการจะมีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เตรียมแผนปฏิบัติการล่วงหน้า เพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น ทั้งนี้ จากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รัฐบาลกำลังดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดูแลในทุกมิติแล้ว  

 

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงมาตรการระยะเร่งด่วนว่า ขอให้แต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้เน้นว่าจะทำอะไรได้มากกว่าเดิมบ้าง ให้พิจารณาดำเนินการไปตามห้วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งมาตรการบางอย่างอาจดำเนินการต่อไป บางอย่างอาจต้องลดหรือเพิ่ม ต้องพิจารณาเตรียมการอย่างรอบคอบให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ และต้องเตรียมสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้ชัดเจนว่าแต่ละเรื่องจะเดินหน้าไปด้วยงบประมาณส่วนใด โดยขอให้นำข้อมูลแนวปฏิบัติทั้งหมดให้คณะอนุกรรมการ คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ ได้ใช้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้การทำงานเกิดการประสานสอดคล้องกัน 

 

พล.อ. ประยุทธ์ ย้ำว่า ในการทำงานบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีประเด็นหลายอย่างที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับหลายด้าน วันนี้รัฐบาลกำลังบริหารสถานการณ์วิกฤตที่มีความเสี่ยงสูง โดยมีการติดตาม ประเมินสถานการณ์ และมีวิธีการทำงานแก้ไขสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยรัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด 

 

ที่ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์อื่นๆ การประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจและข้อเสนอแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยสรุปได้ดังนี้  

 

1. จากการติดตามเครื่องบ่งชี้ที่อาจก่อให้วิกฤตล่าสุด 4 ด้าน ได้แก่ 

  1. วิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 
  2. วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร
  3. วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs 
  4. วิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน 

 

โดยพบว่า ปริมาณน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า และสินค้าที่จำเป็น ยังไม่ขาดแคลน แต่มีราคาสูงขึ้น และรัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือ ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่อง 

 

นอกจากนี้วัตถุดิบด้านการเกษตร เช่น ปุ๋ย และอาหารสัตว์ ก็ไม่ขาดแคลน แต่มีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าเกษตรบางรายการมีราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุน สำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs พบว่า หนี้ครัวเรือนเริ่มลดลงตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ แต่รายจ่ายครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมวดค่าโดยสาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วน SMEs ในภาพรวมค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ในบางสาขายังไม่กลับสู่ระดับปกติ นอกจากนี้ผู้ประกอบการ SMEs ยังมีความกังวลเรื่องต้นทุนและกำไร ในส่วนของโครงสร้างเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการรองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต ที่ประชุมเห็นว่ายังควรเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง 

 

2. ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ได้แก่ 

 

  1. มาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล, การตรึงราคาก๊าซ NGV, การตรึงราคาน้ำมันดีเซล ตลอดจนการออกมาตรการรักษากำลังซื้อให้แก่ประชาชนต่างๆ รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

 

  1. มาตรการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร เช่น โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ระยะที่ 2 และมาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 

 

  1. มาตรการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs เช่น จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้, โครงการพักทรัพย์ พักหนี้, มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) ภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2565 (พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ)

 

  1. มาตรการเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น เร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับคู่ค้าที่มีศักยภาพ, การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, การลงทุนในโครงสร้างภายในประเทศ โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล, โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่เชื่อมแนวเหนือ ใต้ ตะวันตก และตะวันออก เป็นต้น

 

3. สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการต่อไป ประกอบด้วย 

 

  1. มาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) ได้แก่ กลุ่มมาตรการประหยัดพลังงาน มาตรการระยะเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร เช่น โครงการบริหารจัดการปุ๋ย, โครงการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์, มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs, มาตรการบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรในหลายมิติ และมาตรการทางการเงินเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ฯลฯ 

 

  1. มาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-Up Urgent Policy) ได้แก่ มาตรการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์, มาตรการประหยัดพลังงาน เช่น ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ลดต้นทุนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง โดยมุ่งเน้นการขนส่งทางราง 

 

มาตรการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร เช่น ศึกษาความคุ้มค่าในการลงทุน หรือร่วมทุน ในการจัดตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยโพแทส เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ 

 

มาตรการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs เช่น การพัฒนาทักษะทางการเงินในทุกช่วงวัย, การดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และมาตรการต่อเนื่องเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising