วานนี้ (20 มิถุนายน) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า การที่ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนไหลทะลักเข้ามาในสหภาพยุโรปนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในยูโรโซน โดยผู้ลี้ภัยหลายคนตั้งใจที่จะลงหลักปักฐานในระยะยาว
ตัวเลขการว่างงานของกลุ่มประเทศยูโรโซนปรับตัวลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครน กดดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องเร่งออกนโยบายมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่ง ECB มองว่า EU อาจได้ประโยชน์จากการเปิดรับผู้ลี้ภัย ซึ่งจะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาตลาดแรงงานที่กำลังตึงตัว
ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประชาชนชาวยูเครนราว 7 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กก็ได้ลี้ภัยสงครามออกจากประเทศ ซึ่งหลายคนหวังจะเข้ามาหางานที่มั่นคงในยูโรโซนด้วย
แรกเริ่มนั้นชาวยูเครนได้เลือกลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางได้สะดวก ก่อนที่จะค่อยๆ ย้ายไปลงหลักปักฐานในประเทศที่มีความมั่นคงและพร้อมอ้าแขนรับผู้อพยพมากกว่า โดยปัจจุบัน 75% ของผู้อพยพชาวยูเครนอาศัยอยู่ในยูโรโซน นำโดยอิตาลีที่ระดับ 30% เยอรมนี 18% และสเปน 13%
อย่างไรก็ตาม การรับผู้อพยพเข้าทำงานก็มิใช่ว่าจะสามารถทำได้ในทันที เนื่องจากการรับชาวต่างชาติเข้าทำงานจะต้องผ่านกระบวนการที่มีความซับซ้อนหลายขั้นตอน ทั้งการขอสถานะผู้ลี้ภัย การขอใบอนุญาตทำงาน การเรียนรู้ทักษะทางภาษา และการรับรองคุณสมบัติวิชาชีพเฉพาะทาง ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนั้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากภาครัฐในการให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่ผู้ลี้ภัยชาวยูเครน และให้สิทธิพวกเขาในการเข้าถึงตลาดแรงงานได้
แฟ้มภาพ: Pavlo Gonchar / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: