×

ประธาน กกต. เผย มีคำร้องซื้อเสียงเลือกตั้ง อบจ. 30 เรื่อง แนะผู้สมัครเลี่ยงการแจกแต๊ะเอีย เสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง

โดย THE STANDARD TEAM
10.01.2025
  • LOADING...
เลือกตั้ง อบจ.

วันนี้ (10 มกราคม) อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ขณะนี้จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างให้ไปรษณีย์ไทยส่งบัตรเลือกตั้งไปแต่ละจังหวัด โดยมีมาตรการความปลอดภัย ระบบติดตาม GPS ตั้งแต่การรับบัตรเลือกตั้งที่โรงพิมพ์ไปส่งแต่ละจังหวัด และมีการเก็บรักษาโดยมีกล้องวงจรปิดติดตามจนถึงวันเลือกตั้ง 1 กุมภาพันธ์นี้

 

ขณะเดียวกันมีการจัดอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการเลือกตั้ง เช่น พนักงานสืบสวนไต่สวนของ กกต. รวมถึงการตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วในการลงพื้นที่ป้องกันปราบปรามการซื้อเสียง และขั้นตอนสุดท้าย การอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการปฏิบัติหน้าที่ โดยในปี 2562 มีคำร้องเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ กปน. 100 เรื่อง ส่วนปี 2566 พบว่ามีคำร้องเรียนเหลือเพียง 17 เรื่อง สะท้อนว่าการทำงานของ กปน. ดีขึ้น

 

อิทธิพรยังเปิดเผยถึงคำร้องเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง อบจ. ถึงขณะนี้มีจำนวน 30 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเกี่ยวกับการซื้อเสียง พร้อมเตือนประชาชนที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ให้แจ้งเหตุอันไม่อาจไปใช้สิทธิได้ เพื่อไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิบางประการตามที่กฎหมายกำหนดไว้

 

อิทธิพรกล่าวย้ำเตือนต่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง อบจ. ในการหาเสียงว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนได้รับการอบรมเกี่ยวกับสิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำในการหาเสียงเลือกตั้งอย่างชัดเจนแล้ว โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เช่น (1) การให้ จัดให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้กับผู้ใดผู้หนึ่ง หรือ (2) การให้ชุมชน หรือการให้สิ่งใดแก่องค์กรสถาบัน (3) การจัดมหรสพ (4) การจัดเลี้ยง (5) การหลอกลวงใส่ร้าย ซึ่งเป็นกติกาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามมาตรา 65 ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562

 

“เพราะฉะนั้นผู้สมัครย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่ามีอะไรที่ตัวเองทำได้หรือทำไม่ได้บ้าง เรื่องที่ว่าต้องแจ้งชื่อผู้ช่วยหาเสียงก่อนการหาเสียงต้องแจ้งให้กับ ผอ. จังหวัดทราบ ในกรณีที่มีผู้มาช่วยหาเสียงโดยยังไม่แจ้งก็ต้องรีบแจ้งให้ กกต. จังหวัดรับทราบโดยเร็ว รวมถึงการคำนวณค่าใช้จ่ายในการหาเสียง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีคำร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้น เมื่อบันทึกค่าใช้จ่ายการหาเสียงไว้หลังจากพ้นวันเลือกตั้งแล้ว 90 วัน ก็ต้องแจ้ง กกต. รับทราบว่าใช้เงินหาเสียงเท่าไร หากแจ้งไม่ครบก็จะมีความผิดตามกฎหมาย” อิทธิพรกล่าว

 

ประธาน กกต. กล่าวย้ำว่า วิธีการปฏิบัติมีแจ้งให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทราบในการประชุมเชิงสมานฉันท์อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีคู่มือสำหรับผู้สมัคร ซึ่งจะมีรายละเอียดแจ้งไว้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำในการหาเสียงรับเลือกตั้ง ซึ่งจะทำให้ผู้สมัครเกิดความเข้าใจในการหาเสียงอย่างกระจ่างแจ้ง หรือหากสงสัยให้ทำหนังสือสอบถามมายัง กกต. โดยตรง

 

เมื่อถามถึงการแจกแต๊ะเอียในเทศกาลตรุษจีน อิทธิพรกล่าวว่า แต๊ะเอียก็คือแต๊ะเอีย ประเพณีบางอย่างเป็นประเพณีที่สำคัญ แต่ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง หากผู้สมัครหลีกเลี่ยงได้ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยง เพราะเสี่ยงต่อการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย และถูกมองว่าเป็นการให้เงินหรือไม่ ขอผู้สมัครอย่าปฏิบัติเช่นนั้น เพราะเป็นช่วงที่มีการเลือกตั้ง

 

เมื่อถามว่าหากกรณีเป็นญาติกันจะสามารถช่วยเหลืองานประเพณีได้มากน้อยแค่ไหน ประธาน กกต. กล่าวว่า ถ้าเป็นญาติก็อาจจะถูกมองว่าเป็นการซื้อเสียงยาก เมื่อเป็นประเพณีปฏิบัติก็มีข้อยกเว้นได้ ส่วนที่อาจจะเป็นสีเทา หรือสิ่งที่ควรเลี่ยงได้ก็ควรที่จะเลี่ยง หากข้อเท็จจริงมาถึง กกต. เป็นสำนวนคดีคำร้อง กกต. ก็ต้องดูจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏและชี้ว่าเจตนาตั้งใจหรือเป็นประเพณี แนะนำว่าหากหลีกเลี่ยงได้ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยง และกล่าวย้ำว่าอย่าบอกเบอร์ผู้สมัครหรือหาเสียงเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นจะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายโดยแท้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X