คิกออฟไปแล้วสำหรับมาตรการ ‘Easy e-Receipt’ มาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับปี 2567 และสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี สำหรับผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล) สามารถหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น
แน่นอนสำหรับผู้ที่เสียภาษีโดยเฉพาะผู้ที่เสียในฐานภาษีระดับสูง นี่คือหนึ่งในมาตรการที่รอคอย เพราะนอกจากสามารถใช้ช้อปสินค้าเพื่อเข้าบ้านแล้ว ยังได้ลดหย่อนภาษีไปในตัว ขณะที่ธุรกิจต่างๆ ก็รอคอยเพราะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่เข้ามากระตุ้นยอดขายท่ามกลางเศรษฐกิจ
ทว่าท่ามกลางธุรกิจที่ออกแคมเปญมาตอบรับกันอย่างคึกคัก ในอีกด้านหนึ่งลูกค้าหลายคนก็สงสัยว่า เหตุใด ‘ร้านค้ารายเล็ก-รายใหญ่’ บางแห่งถึงไม่เข้าร่วมมาตรการ
หนึ่งในร้านที่หลายคนตกใจคือ IKEA ซึ่งหากไปซื้อที่หน้าร้านจะไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการ ‘Easy e-Receipt’ ได้ ซึ่ง THE STANDARD WEALTH ได้สอบถามไปยัง IKEA ซึ่งได้รับคำตอบว่า ด้วยต้องเตรียมระบบหลังบ้านในหลายด้าน ทำให้ผู้ที่ซื้อหน้าร้านยังไม่สามารถรับ e-Tax Invoice ได้ ซึ่งหากจะเข้าร่วมต้องเป็นช่องทางออนไลน์เท่านั้น
แต่ถึงอย่างนั้น IKEA ก็ระบุว่า หากต้องการรับใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการสั่งซื้อในสโตร์จะต้องใช้บริการ Click & Collect และ/หรือบริการจัดส่งร่วมด้วยเท่านั้น ถึงจะเข้าร่วมมาตรการ
ในขณะที่ MUJI อีกหนึ่งแบรนด์ที่ไม่ได้เข้าร่วมให้เหตุผลแก่ THE STANDARD WEALTH ว่า สาเหตุหลักมาจากการเตรียมระบบหลังบ้านไม่ทัน
ในขณะที่รายเล็กที่ไม่เข้าร่วมกัน มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ดำเนินธุรกิจค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี กล่าวกับ ‘THE STANDARD WEALTH’ ว่า มาตรการ Easy e-Receipt ของรัฐบาล กระบวนการทุกอย่างค่อนข้างเร็วเกินไป ทั้งในแง่ของการปฏิบัติตามยังไม่ชัดเจน เหมือนร้านค้ารายเล็กๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัดต้องมาเริ่มต้นใหม่ มีส่วนทำให้ร้านค้าหลายร้านไม่เข้าร่วม
ในแง่ของกระบวนการปฏิบัติที่ผ่านมา ร้านค้าจะต้องซื้อเซิร์ฟเวอร์เพื่อเชื่อมต่อกับระบบสรรพากร โดยร้านค้าจะต้องใช้งบ 200,000 บาท แต่เมื่อรัฐบาลมาใช้มาตการ Easy e-Receipt กรมสรรพากรได้ใช้เอาต์ซอร์ส หรือบริษัทรับเหมาเข้ามาเป็นตัวกลางในการเชื่อมระหว่างร้านค้าระดับเล็กไปจนถึงกลางกับสรรพากร ก็จะมีการเก็บค่าบริการแตกต่างกันไป
สำหรับร้านค้าทุกร้านที่สมัคร e-Tax จะมีสัญญาว่าจ้าง INET ทั้งหมด 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ สัญญา e-Tax ที่ร้านค้าเลือกแพ็กเกจการใช้งานจะมีอายุ 1 ปี หมดสัญญาแล้วจะยกเลิกโดยอัตโนมัติ และ 2 คือ สัญญา CA หรือการอนุญาตให้ INET รับรองเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ของร้านค้า จะมีอายุ 2 ปี และไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดสัญญา
สิ่งที่เป็นปัญหาต่อไปคือ ร้านค้าในไทยส่วนใหญ่จะใช้โปรแกรม PS Data ในการขายสินค้า แต่โปรแกรมต่างๆ จากร้านค้าทั่วไปยังไม่ได้เชื่อมกับระบบของบริษัทเอาต์ซอร์สที่สรรพากรจัดตั้งมา ส่งผลให้กระบวนการทำงานเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง หลังจากคีย์ขายสินค้าแล้ว สเต็ปถัดไปจะต้องมาคีย์ใส่ระบบเพื่อส่งตรงข้อมูลภาษีไปยังสรรพากร ร้านค้าต้องมานั่งกังวลว่าเมื่อคีย์ข้อมูลเข้า e-Receipt อาจเกิดความผิดพลาดตามมาได้ นั่นหมายถึงร้านค้าต้องแบกรับความเสี่ยงตรงนี้ด้วย
นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมมีหลายร้านค้าไม่เข้าร่วม เพราะการเชื่อมต่อต้องมีเวลามากกว่านี้ ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ เกิดความไม่มั่นใจ จะไม่เหมือนกับรายใหญ่อย่างห้างสรรพสินค้าที่มีระบบพร้อมทุกอย่าง
สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องดังกล่าวสวนทางกับการให้ข่าวจากภาครัฐ ซึ่งก่อนหน้านี้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานแถลงข่าวว่า การเปลี่ยนรูปแบบโครงการลดหย่อนภาษีนี้มาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100% เชื่อว่าจะไม่ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการลดลง
พร้อมทั้งระบุว่า การหันมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ 100% เป็นความต้องการและความตั้งใจของกระทรวงการคลัง มิเช่นนั้น ประเทศไทยจะไม่สามารถพัฒนาระบบ หรือขยายฐานภาษีได้เลย
นอกจากนี้ จุลพันธ์ยังระบุว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่ร้านค้า, ทำให้ใบรับและใบกำกับภาษีมีความถูกต้องมากขึ้น, ลดภาระการจัดเก็บเอกสารและการแสดงรายการภาษีต่อกรมสรรพากร เพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบภาษี โดยเฉพาะระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บภาษีในระยะยาว
กระทรวงการคลังยังคาดการณ์ว่า มาตรการ Easy e-Receipt จะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 7 หมื่นล้านบาท และกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นประมาณ 0.18%
ซึ่งถือว่าเป็นความคาดหวังที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับมาตรการ ‘ช้อปดีมีคืน ปี 2566’ ซึ่งประเมินว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 5.6 หมื่นล้านบาท และ GDP เพิ่มขึ้น 0.16%