หนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal รายงานความเห็นจากนักวิทยาศาสตร์หลายคน ซึ่งเชื่อว่าการที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเคยเผชิญกับการระบาดของไวรัสที่คล้ายกับโควิด-19 มาก่อน มีส่วนช่วยทำให้รับมือกับวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีกว่ายุโรปหรือสหรัฐฯ
โดยหากดูจากสัดส่วนผู้ติดเชื้อในประเทศแถบเอเชียตะวันออกอย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดอยู่ที่หลักพันต่อวัน ในขณะที่หลายชาติยุโรปมีผู้ติดเชื้อรายวันอยู่ที่หลักหมื่น ส่วนสหรัฐฯ นั้นมีผู้ติดเชื้อสูงกว่า 150,000 คนต่อวันแล้ว
ดร.ยาสุฮิโระ ซูซูกิ อดีตเจ้าหน้าที่แพทย์ระดับสูงในหน่วยแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น เปิดเผยต่อ The Wall Street Journal ถึงความเชื่อในทฤษฎีดังกล่าวว่ามีน้ำหนัก แม้จะยังไม่มีผลศึกษาวิจัยหรือหลักฐานใดๆ รองรับ
ซึ่งเขาเชื่อว่าประเทศในเอเชียตะวันออกมีการระบาดในวงกว้างของโรคไข้หวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสคล้ายกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) ที่เป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 มาก่อน และมีประชาชนจำนวนมากได้รับเชื้อดังกล่าว ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่คล้ายคลึงกัน
“ผลจากการมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่คล้ายคลึงกัน แม้ว่าจะไม่ใช่ภูมิคุ้มกันที่ป้องกันการติดเชื้อได้ แต่พวกเขาก็ไม่พัฒนาอาการหรือไม่ป่วยหนักหากติดเชื้อ” ดร.ซูซูกิ ระบุ
ขณะที่ ดร.ทัตสึฮิโกะ โคดามะ นักชีววิทยาผู้ทำการศึกษาเรื่องภูมิต้านทานไวรัส SARS-CoV-2 จากมหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวว่า ไวรัสที่คล้ายคลึงกันอาจเคยมีการแพร่ระบาดมาแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งเขามั่นใจว่ามันน่าจะเกี่ยวข้องกับการที่พบประชากรในภูมิภาคมีภูมิคุ้มกันโควิด-19
ด้านกลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันฟรานซิส คริก ในกรุงลอนดอน และหลายสถาบันวิจัยในสหราชอาณาจักร เปิดเผยผลตรวจสอบตัวอย่างเลือดที่เก็บไว้ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ทางวารสารวิทยาศาสตร์ พบว่า 1 ใน 20 ของตัวอย่างเลือดจากกลุ่มผู้ใหญ่มีสารภูมิต้านทานที่รับรู้ถึงไวรัส SARS-CoV-2 และเกือบครึ่งหนึ่งของตัวอย่างเลือดจากเด็กและวัยรุ่นมีสารภูมิต้านทานดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์บางคนไม่แน่ใจถึงความเป็นไปได้ของทฤษฎีดังกล่าวที่ชี้ว่าในอดีตเคยมีไวรัสคล้ายกับ SARS-CoV-2 ระบาดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกมาก่อน โดยศาสตราจารย์เท็ตสึยะ มิซูตานิ นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ให้สัมภาษณ์ The Wall Street Journal ชี้ว่า หากไวรัสในทฤษฎีดังกล่าวมีจริงก็คงจะระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วเหมือนกับไวรัส SARS-CoV-2 ในตอนนี้
เขายังอธิบายว่า การที่สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกไม่ร้ายแรงเท่ากับในสหรัฐฯ หรือประเทศในยุโรปนั้นเป็นเพราะประชาชนในเอเชียตะวันออกสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือเป็นประจำมากกว่าเท่านั้น
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- https://www.wsj.com/articles/scientists-investigate-whether-exposure-to-earlier-coronavirus-helped-asia-fight-covid-19-11607166230?mod=hp_lead_pos7&fbclid=IwAR3fVDr1oLsTTE4g9RnDiJBwWztVH30xbEhyqIGZJTSqV-x59W1odgl27fU
- https://www.msn.com/en-gb/news/world/some-experts-believe-previous-exposure-to-a-similar-virus-helped-east-asia-fight-covid-19-others-are-doubtful/ar-BB1bF0Gl