×

แผ่นดินไหวสะท้อนอะไร ‘ระบบราชการ’: ทำไมประสิทธิภาพของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงลดลง

08.04.2025
  • LOADING...
earthquake-bureaucracy-reflection

ท่ามกลางข่าวการปฏิรูประบบข้าราชการในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือเวียดนาม โดยมีเป้าประสงค์คือ ลดไขมันส่วนเกินออก เพราะปัญหาจำนวนข้าราชการล้นเกินงาน บทบาทหน้าที่ทับซ้อนกัน สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน

 

แต่ที่ประเทศไทยการปฏิรูประบบราชการ กลับนิ่งสนิทราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น

 

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนตามปีงบประมาณ 2566 พบว่า ประเทศไทยมีกำลังคนภาครัฐ 3,037,803 คน แบ่งเป็นข้าราชการ 58% และกำลังคนประเภทอื่นอีก 42% เช่น ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานจ้าง 

 

รายจ่ายบุคลากร ซึ่งรวมถึงรายจ่ายแฝงมีสัดส่วนสูงถึง 42% ของงบประมาณภาครัฐทั้งหมดในปี 2565 หมายความว่า งบประมาณแผ่นดินเกือบครึ่งหนึ่งเป็นเงินเดือนของข้าราชการและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และรายจ่ายด้านบุคลากรของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 19.4%

 

รัฐบาลที่ผ่านมาหลายสมัยไม่จริงจังกับการปฏิรูประบบราชการ การลดกำลังพลลง แม้ว่าจะมีการพูดหาเสียงกันมาก่อนเป็นรัฐบาล 

 

แต่พอเป็นรัฐบาลแล้วกลับเงียบสนิท ซ้ำร้ายรัฐบาลบางชุดกลับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการ สวนทางกับภาคเอกชนมีแต่รัดเข็มขัดหรือลดเงินเดือนพนักงาน

 

แต่ในขณะเดียวกันประสิทธิภาพของข้าราชการหลายแห่งกลับลดลง เชื่องช้า หรือต้องขับเคลื่อนด้วยการถูกวิพากษ์วิจารณ์ ดูได้จากตัวอย่าง การช่วยเหลือชาวบ้านอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จากกรณีดินถล่มอย่างรุนแรง กรณีอุบัติเหตุการก่อสร้างถนนพระราม2 ที่เกิดขึ้นบ่อยมาก การจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ปล่อยปละละเลยมานาน จนต้องถูกกระทุ้งจากฝ่ายค้านและรัฐบาลประเทศจีน มาจนถึงการประกาศเตือนภัยพิบัติแผ่นดินไหวผ่าน SMS อันแสนล่าช้า โยนความรับผิดชอบไปมาระหว่างสองหน่วยงานคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

 

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันข้าราชการหลายแห่งมีปัญหาจริงๆ กล่าวคือ

 

  1. เป็นเวลานานแล้วที่คนเก่ง มีความรู้ความสามารถในระบบราชการ มักจะลาออกจากราชการไปทำงานเอกชน เพราะไม่อาจอดทนต่อระบบที่ไม่เป็นธรรมได้

 

  1. ระบบราชการทุกวันนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้คนเก่ง มีความรู้ ความสามารถ คนซื่อสัตย์ มีคุณธรรมได้ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ เพื่อจะเป็นผู้นำที่มีคุณภาพในระดับกระทรวง กรม กอง

 

  1. ข้าราชการส่วนใหญ่ที่ได้ตำแหน่งสูงๆ ไม่ว่าจะเป็นปลัด อธิบดี ผู้อำนวยการ ส่วนใหญ่ต้องวิ่งเต้น หรือเป็นเด็กนาย เด็กนักการเมือง เด็กบ้านใหญ่ จนกล่าวกันว่า หากเป็นนายตำรวจ นายทหาร หากไม่วิ่งเต้นหรือเป็นเด็กเส้น อย่างเก่งก็ติดยศแค่พลตรีไปจนเกษียณ หรือเด็กหิ้วกระเป๋านาย ได้ดิบได้ดีมากกว่าคนที่มีความรู้ความสามารถจริงๆ ในกรมกอง

 

  1. ข้าราชการระดับสูงที่มีอำนาจ ส่วนใหญ่จึงเป็นคนที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ ไม่เก่ง ไม่มีความรู้ความสามารถสมกับตำแหน่ง แต่รับใช้นายได้ทุกเรื่อง เพราะได้ตำแหน่งมาเพราะนาย ไม่ใช่จากความรู้ความสามารถ 

 

  1. เมื่อระดับหัวแถว ทำงานไม่เก่ง ก็ไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาองค์กร เอาแค่งานในหน้าที่ก็ไม่ค่อยทำ นอกจากทำตามใบสั่งนาย งานที่นายอยากให้ทำ หรือคอยวิ่งเต้นดูแลผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ไปตรวจงานจังหวัดใด ก็ต้องไปก่อนให้เห็นหน้า เพราะกลัวตำแหน่งหลุด

 

  1. เมื่อเป็นคนไม่มีความสามารถ หรือความคิดริเริ่มใดๆ เวลาทำงานจึงมักยึดแต่กฎหมาย ระเบียบ เพราะกลัวทำผิดกฎ ไม่คิดจะปรับปรุงกฎระเบียบอันล้าหลัง ไม่เคยคิดจะสร้างสรรค์อะไรใหม่ กรม กองที่ดูแลก็ไม่พัฒนา

 

  1. หากเป็นบอร์ดหรือผู้อำนวยการของรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรอิสระ ส่วนใหญ่มักเป็นโควตาของผู้มีอำนาจทางการเมืองส่งคนและพรรคพวกมานั่งดูแลผลประโยชน์ และคนเหล่านั้นส่วนใหญ่แทบจะไม่เชี่ยวชาญภารกิจของหน่วยงานเหล่านั้นเลย เช่นในช่วงรัฐประหาร บอร์ดรัฐวิสาหกิจและองค์กรอิสระส่วนใหญ่เป็นนายทหารและนายตำรวจมารับรายได้สูงๆ องค์กรเหล่านี้จึงไม่ค่อยก้าวหน้าเพราะขาดมืออาชีพนำพาองค์กร

 

  1. การหาผลประโยชน์ ก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับตำแหน่งสูงๆ ที่ได้มา ไม่แปลกใจที่เรื่องคอลเซ็นเตอร์จึงเน่าสนิท ที่ผ่านมาจึงไม่มีใครคิดจะปราบอย่างจริงจัง จนกระทั่งถูกกดดันจากรัฐบาลจีน หรือบริษัทก่อสร้างจีน บริษัทเดียวที่รับเหมาก่อสร้างตึก สตช. แต่ยังได้ประมูลงานก่อสร้างอาคารของราชการอีกหลายสิบแห่งอย่างน่าตกใจ

 

  1. ข้าราชการระดับสูงส่วนใหญ่จึงแทบจะไม่เคยเห็นหัวหรือใส่ใจดูแลประชาชนผู้เสียภาษีเป็นเงินเดือน เพราะประชาชนไม่มีผลต่อการเลื่อนขั้นเลื่อนยศหรือขึ้นเงินเดือน ต่างจากนายหรือผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ให้คุณให้โทษพวกเขา เป็นเจ้านายตัวจริง

 

ตัวอย่างล่าสุดจากกรณีแผ่นดินไหวสะท้อนอะไรกับระบบราชการ

 

อันที่จริงหน่วยราชการที่รับผิดชอบภัยพิบัติมีนับสิบหน่วยงาน แต่แทบจะไม่เคยทำงานประสานกัน ต่างคนต่างทำงาน หลายหน่วยงานก็มีภารกิจซ้ำซ้อนกัน และถ้าทำงานประสานเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ก็ต้องให้นายเป็นคนสั่งการ ถ้าขอความร่วมมือข้ามหน่วย ต้องทำหนังสือเป็นทางการ ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาที่เร่งด่วนเป็นวินาทีแบบแผ่นดินไหวได้เลย

 

ลองคิดเล่นๆ ว่าพนักงานระดับล่างคนหนึ่งที่คอยมอนิเตอร์อยู่หน้าจอ พบว่าเกิดแผ่นดินไหวที่พม่า เขาทำได้อย่างมากก็รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ซึ่งราชการไทยก็ต้องรายงานขึ้นไปตามลำดับชั้นจนถึงอธิบดี และถ้าจะส่งต่อให้หน่วยงานอื่นเตือนภัยก็ต้องทำหนังสือเป็นหลักฐานส่งไป คนรับสารก็ต้องเอาไปให้นายของเขารับทราบ กว่าจะแจ้งเตือนภัยส่ง SMS ให้ชาวบ้าน

 

กล่าวคือ กรมอุตุนิยมวิทยาจะเป็นหน่วยงานแรกที่รู้ว่าเกิดแผ่นดินไหว และส่งต่อข้อมูลให้กรมป้องกันภัย และส่งต่อ กสทช. ให้แจ้ง SMS แก่ประชาชน ซึ่งต้องทำหนังสือราชการไปยืนยันด้วย

 

หลักคิดของราชการส่วนใหญ่คือ ไม่อยากรับผิดชอบ ส่งต่อขึ้นไปเรื่อยๆ ให้ผู้มีอำนาจรับผิดชอบและตัดสินใจแทน 

 

แม้จะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของชีวิตผู้คน

 

ขณะที่เมืองนอก หากรู้ว่าเกิดแผ่นดินไหว เขากดปุ่ม SMS ทันที เพราะรู้ว่าความเป็นความตายมันเป็นวินาที

 

ระบบราชการไทยเป็นแบบนี้มานานแล้ว คนรู้ไม่มีอำนาจตัดสินใจ คนมีอำนาจก็มัวแต่ทำตามขั้นตอน เพราะระเบียบสำคัญกว่าชีวิตชาวบ้าน การแก้ปัญหาแบบเร่งด่วน ฉับพลันจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น

 

เพราะปัญหาของชาวบ้านไม่เคยอยู่ในความสำคัญอันดับแรกของพวกเขามานานแล้ว

 

อย่างไรก็ตามผู้เขียนเชื่อว่า ยังมีข้าราชการจำนวนมากที่มีความรู้ความสามารถ มีใจเป็นธรรม และอยากดูแลรับใช้ประชาชนอย่างจริงจัง แต่น่าเสียดายว่าคนเหล่านี้แทบจะไม่มีโอกาสได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ ได้เลย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising