ย้อนกลับไปบนหน้าหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,292 วันที่ 31 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน 2560 มีการรายงานข่าวกรณี บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด บริษัทย่อยของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง และพันธมิตรอีก 22 ราย เร่งสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าภายใต้เครื่องหมายการค้า EA Anywhere พร้อมตั้งเป้าสูงสุดสร้าง 1,000 สถานี ภายในปี 2561
แม้ระยะเวลาจะผ่านมาเกือบ 5 เดือนหลังลง MOU ในครั้งนั้น พลังงานบริสุทธิ์ หรือ Energy Absolute ยังคงยึดมั่นเจตนารมณ์เช่นเดิมกับการเตรียมเปิดให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าครอบคลุม 1,000 แห่งภายในปีนี้
ที่พิเศษไปกว่าเดิมคือสถานีชาร์จทุกแห่งจะต้องครอบคลุมทุกๆ ระยะทาง 5 กิโลเมตรในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ขณะที่เป้าหมายระยะสั้นในเดือนมกราคมคือการเปิดสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครบ 100 แห่ง
ลงทุนสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า 1,000 แห่งทำไม?
‘ทำไมต้องสร้างสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าเยอะขนาดนั้น? ทั้งๆ ที่รถยนต์ไฟฟ้าในไทยก็ยังไม่แพร่หลาย’ นี่คือคำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยและเผลอขมวดคิ้วแบบไม่รู้ตัว
การลงทุนสร้างสถานีชาร์จอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) จำนวนมหาศาลก็เพื่อสร้างระบบนิเวศของตลาดรถยนต์พลังงานสะอาด-พลังงานทางเลือกที่สมบูรณ์ให้กับประเทศไทย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทพลังงานบริสุทธิ์เริ่มต้นดำเนินธุรกิจด้วยการเป็นบริษัทพลังงานทดแทน ส่วนตัวอยากทำสิ่งใหม่ๆ และเป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่มีใครปฏิเสธว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าคือเทรนด์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และด้วยศักยภาพของบริษัท ตนเชื่อว่าน่าจะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตแบบก้าวกระโดดได้
ด้านนายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด บอกว่า “ปัญหาของผู้บริโภคที่ทำให้กังวลใจไม่กล้าใช้รถยนต์ไฟฟ้าคือกลัวแบตเตอรี่รถจะหมดกลางทาง นี่คือ Key Concern ของผู้บริโภค ซึ่งชื่อ EA Anywhere ก็บอกอยู่แล้วว่าเราต้องการจะอยู่ในทุกอณูพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดังนั้นเราจึงวางกลยุทธ์ไว้ว่า ภายในรัศมี 5 กิโลเมตรจะต้องมีสถานีชาร์จไฟฟ้าของเราอย่างน้อย 1 จุด”
สำหรับเม็ดเงินที่ EA จะใช้ลงทุนติดตั้ง-สร้างสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้า 1,000 แห่งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลในทุกๆ 5 กิโลเมตรนั้นอาจจะมีมูลค่าสูงกว่า 800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 200 ล้านบาทจากงบประมาณที่กำหนดไว้เบื้องต้นในตอนแรก เนื่องด้วยสาเหตุของแนวโน้มธุรกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
ปัจจุบันสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าของ EA มีติดตั้งแล้วทั้งที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน, Siam Car Park, คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์, Max Valu สาขาคู้บอนและหลักสี่, วัฒนาออโต้เซลล์ แอนด์ เซอร์วิส ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และครัวคุณอ้อม รามอินทรา และเตรียมจะเปิดให้ครบ 100 แห่งภายในสิ้นเดือนนี้
ความร่วมมือของการไฟฟ้านครหลวง และเป้าหมายการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติไทย
การเปิดตัวโครงการ EA Anywhere นอกเหนือจากพาร์ตเนอร์อย่างห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และเจ้าของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ยังได้ลงนามความเข้าใจร่วมกับการไฟฟ้านครหลวงเป็นพาร์ตเนอร์เอกชนรายแรกที่จะได้รับการสนับสนุนด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า
นายชัยยงค์ พัวพงศกร ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง เปิดเผยถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า ทาง กฟน. จะเข้ามาสนับสนุนด้านการวางแผนจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับ EA เพื่อให้บริษัทตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ทั่วถึง และยังให้ความมั่นใจอีกด้วยว่ามีความพร้อมเต็มที่ 100% กับการร่วมมือในครั้งนี้
“หลายคนอาจจะสงสัยว่าการไฟฟ้านครหลวงมาเกี่ยวข้องกับ EA ได้อย่างไร? จากข้อมูลที่ EA แจ้งว่าจะสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ครบ 100 แห่งภายในเดือนมกราคม ส่วนอีก 900 แห่งจะตามมาภายในปีนี้ แต่ละแห่งห่างกัน 5 กิโลเมตรและใช้ระยะเวลาในการชาร์จเพียง 7 นาที นั่นหมายความว่ามันกำลังจะเกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมหาศาลในกรุงเทพฯ ดังนั้นหน้าที่ของเราคือการให้ความช่วยเหลือด้านพลังงานไฟฟ้ากับผู้ที่ต้องการใช้ได้ทุกราย
“ในเมื่อ EA ตัดสินใจจะลงทุนทำสถานีชาร์จเป็นจำนวนมากขนาดนี้ เราจึงไม่สามารถจะอำนวยความสะดวกในการจัดหาไฟฟ้าให้ทันได้หากไม่มีข้อมูลของ EA ในเรื่องตำแหน่งที่ตั้ง, วันและเวลาที่ต้องการจะเปิดใช้งาน, หรือข้อมูลที่ระบุว่าแต่ละแห่งมีหัวจ่าย Quick และ Super Charge กี่จุด ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ การไฟฟ้านครหลวงจะสามารถนำมาวางแผนเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการจ่ายไฟฟ้าให้เพียงพอได้”
สำหรับสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าแบบ Super Charge หรือการชาร์จแบบเร็วของ EA นั้น นายธนพัชร์ สุขสุธรรมวงศ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท พลังงานมหานคร จำกัด หรือ Energy Mahanakorn ให้ข้อมูลไว้ว่า จะใช้ระยะเวลาในการชาร์จแค่ 7 นาทีเท่านั้น “ลองคิดดูว่าในทุกๆ 5 กิโลเมตรเราจะมีสถานีชาร์จไฟฟ้าอย่างน้อย 1 จุด นั่นแสดงว่าต่อไปในอนาคต คนใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถอุ่นใจได้เลย นี่คือสิ่งที่เราพยายามขับเคลื่อนและสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้”
ส่วนการใช้งานสถานีชาร์จไฟฟ้าก็ทำได้ง่าย สามารถจองเพื่อขอรับบริการล่วงหน้าและเช็กตำแหน่งที่ตั้งได้ผ่านแอปพลิเคชัน ‘EA Anywhere’ บนโทรศัพท์มือถือ โดยในอนาคตจะเพิ่มฟีเจอร์ Voice Command สั่งการด้วยเสียงเพื่อป้องกันการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างขับรถ แบ่งอัตราค่าใช้บริการออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 50 บาท / 60 นาที, 80 บาท / 120 นาที และ 110 บาท / 180 นาที
พร้อมกันนี้ สมโภชน์ยังได้แย้มข้อมูลสำคัญที่เปิดเผยว่า บริษัทกำลังพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าสัญาชาติไทยที่ผลิตขึ้นเองจากคนไทยแบบ 100% โดยจะเปิดเผยรายละเอียดแบบเต็มๆ ในงานมอเตอร์โชว์ที่จะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม 2561 ที่จะถึงนี้
“ปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นเทรนด์ใหม่ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้และ EA ก็น่าจะทำอะไรเพื่อร่วมพัฒนาให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้
“เรากำลังจะบอกว่าบริษัทได้มีการร่วมพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าสัญชาติไทย เริ่มการออกแบบจากศูนย์ด้วยคนไทย ฉะนั้นรถคันนี้จึงเกิดขึ้นโดยคนไทยอย่างแท้จริง ส่วนรายละเอียดคงต้องตามไปดูภายในงานมอเตอร์โชว์ที่จะถึงนี้ (เดือนมีนาคม 2561) อย่างน้อยเราก็มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเติบโต และหวังว่าจะมีการลงทุนและความเชื่อมั่นจากค่ายรถยนต์ต่างประเทศมาที่ไทยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ไทยคงความสามารถด้านการแข่งขันในระดับโลกได้”
ผู้บริหารเผย “ทำเพื่อมองผลตอบแทนระยะยาว” ด้านนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเชื่อ EA มาถูกทางเพราะทำครบวงจร
เป็นที่ทราบกันว่าปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากราคาวางจำหน่ายที่สูงลิ่ว รวมถึงความกังวลใจเรื่องสถานีชาร์จไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอซึ่งเป็นสองในหลายๆ อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ EV ในบ้านเรายังไม่บูมเสียที
นายอมรเห็นด้วยในประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังไม่แพร่หลายในไทย ดังนั้นการที่บริษัทเดินเข้ามาในส่วนนี้คือการมองเห็นโอกาสของอนาคต แม้ภาพรวมอาจจะยังไม่ชัด แต่การอยู่ในธุรกิจพลังงานมาก่อนและมีความพร้อมด้านบุคลากร สามารถพัฒนาต้นทุนที่ต่ำกว่าคู่แข่งก็ทำให้ EA ต้องการเดินเข้ามาเป็นผู้เล่นรายแรกที่เซตมาตรฐานให้กับธุรกิจนี้
“เรื่องผลตอบแทนเบื้องต้นในระยะสั้น บริษัทคงไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนมากมาย แต่ในระยะยาวเราเชื่อว่าผลตอบแทนน่าจะดี เหนือสิ่งอื่นใด บริษัทพลังงานบริสุทธิ์เติบโตขึ้นมาด้วยการได้โอกาสจากสังคม ฉะนั้นวันนี้เราจึงอยากตอบแทนสังคม ด้วยการลงทุนทำสถานีชาร์จไฟฟ้าเพื่อจุดประกายให้ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราตื่นตัวได้เร็วขึ้น วันหนึ่งข้างหน้าอาจจะมีคนไทยกล้าคิดกล้าพัฒนาและต่อยอดธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า นี่คือส่ิงที่ประเทศไทยของเราจะได้รับประโยชน์ร่วมด้วย”
ฝั่ง ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยมองไม่ต่างกันว่า EA น่าจะไปได้ไกลในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากเป็นผู้เล่นที่มีความพร้อมรอบด้าน แต่ก็เชื่อลึกๆ ว่าในอนาคตการแข่งขันของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจะสูงแน่นอน
“กระแสโลกปัจจุบันเริ่มสนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เห็นได้จากหลายๆ ประเทศที่เริ่มตั้งเป้าไว้ว่าปี 2030 จะแบนเลิกใช้รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบเดิม นี่คือการส่งสัญญาณบอกค่ายผู้ผลิตรถยนต์หลายๆ ค่ายว่าต้องเตรียมพร้อมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
“ถ้าเรามาดูในประเทศไทย ผมได้ยินว่าคุณสมโภชจะทำรถยนต์ไฟฟ้า นี่คือการสร้างแรงจูงใจและทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันคือเทคโนโลยีที่พัฒนาได้ ถ้ามองมุมมองเทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องที่ยากในการพัฒนา ยิ่งทราบมาว่าทาง EA มีโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นของตัวเองหมายความว่าบริษัทมีการมองแบบครบวงจรไว้แล้ว
“ทั้งนี้ก็ขอให้บริษัทประสบความสำเร็จ เพราะต้องมีการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นจำนวนมากหลายบริษัท แต่ผมคิดว่ารถยนต์ในประเทศไทยจะเริ่มเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้นนะ เพราะตอนนี้ตัวเลขของ PHEV ในไทยก็มีเกือบ 10,000 คันแล้ว ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างเยอะและมีแนวโน้มจะเติบโตได้อีก ขณะที่หลายๆ ค่ายก็กำลังเตรียมตัวที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอยู่”
ครั้งหนึ่งรัฐบาลไทยเคยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2579 ประเทศไทยจะต้องมีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าวิ่งบนท้องถนนให้ได้มากกว่า 1.2 ล้านคัน
อีก 18 ปีข้างหน้า ไม่ว่าไทยจะไปถึงเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้หรือไม่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าการที่ภาคเอกชนตื่นตัวและให้ความสำคัญกับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเช่นนี้คือการปลุกความคึกให้ผู้เล่นรายอื่นๆ ได้เห็นถึงโอกาสและทิศทางความเป็นไปได้การเข้ามาช่วยพัฒนาให้ระบบนิเวศรถยนต์ไฟฟ้าประเทศไทยเติบโตได้เร็วและพัฒนาได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่